TICON คาดปี 54 รายได้ต่ำกว่าปีก่อนราว 33% จากเลื่อนขยายกองทุน-น้ำท่วม

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday November 9, 2011 13:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวีรพันธ์ พูลเกษม กรรมการผู้จัดการ บมจ.ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น(TICON)คาดว่ารายได้ในปี 54 จะลดลง 33%จากปีก่อนที่มีรายได้ 3.3 พันล้านบาท มาอยู่ที่ประมาณ 2.2 พันล้านบาท ส่วนกำไรสุทธิก็คาดว่าน่าจะต่ำกว่าปีที่แล้วที่มีกำไรสุทธิ 821 ล้านบาท

"รายได้และกำไรต่ำกว่าปีก่อนหน้า ถือว่าปีนี้เป็นปีแรก เนื่องจากเป็นผลจากภาวะน้ำท่วมในโรงงานให้เช่าของบริษัท และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ไทคอนกว่า 180 โรงงาน"นายวีรพันธ์ กล่าว

ทั้งนี้ บริษัทคาดว่าไตรมาส 4/54 รายได้จากค่าเช่าโรงงานหายไป 40% จากไตรมาส 3/54 เนื่องจากโรงงานจมน้ำ และไม่สามารถขายโรงงานเข้ากองทุน TFUND ตามแผนภายในไตรมาส 4/54 ที่มีมูลค่าที่เคยประเมินไว้ 1.5 พันล้านบาท เพราะหลังจากเกิดน้ำท่วมโรงงานเหล่านี้มูลค่าลดลลง ซึ่งประเมินใหม่เหลือมูลค่า 700 ล้านบาท คาดว่าจะนำไปขายในไตรมาส 1/55

"ไตรมาส 4 ปีนี้รายได้หายไปค่อนข้างแยอะเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปีก่อน ซึ่งมีขายโรงงานให้กองทุนไป 1,500 ล้านบาท และปีนี้ก็โดนน้ำท่วม รายได้ค่าเช่าก็หายไปเกือบครึ่ง"นายวีรพันธ์ กล่าว

บริษัทคาดว่ารายได้ในช่วง 4 เดือนตั้งแต่เกิดน้ำท่วมจนถึงฟื้นฟู (ต.ค.54-ม.ค.55) รายได้ค่าเช่าหายไปประมาณ 360 ล้านบาท ขณะเดียวกัน บริษัทมีงบซ่อมแซมฟื้นฟูโรงงานและคลังสินค้าที่ถูกน้ำท่วม จำนวนกว่า 200 ล้านบาท โดยคาดว่าเดือนก.พ. 55 จะสามารถส่งมอบโรงงานที่ซ่อมแซมเสร็จให้ลูกค้าได้

และบริษัทได้ทำประกันภัยครอบคลุมทุกโรงงานที่ถูกน้ำท่วม โดยในสัปดาห์หน้าทางบริษัทประกันภัยจะเข้าดูความเสียหายของแต่ละโรงงาน

กรรมการผู้จัดการ TICON คาดว่า ในปี 55 รายได้จะโตก้าวกระโดดมาก เพราะจะมีการขายสินทรัพย์เข้ากองทุน TFUND จำนวนรวม 2,700 ล้านบาท โดยในไตรมาส 1/55 ขายสินทรัพย์ 700 ล้านบาท และไตรมาส 3/55 จะขายสินทรัพยให้อีก 1.5-2.0 พันล้านบาท นอกจากนี้จะขายสินทรัพย์เข้ากองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ทีพาร์คโลจิสติคส์ (TLOGIS) จำนวน 1.5-2.0 พันล้านบาทในไตรมาส 2/55

นอกจากนี้รายได้จากค่าเช่าโรงงานยังเติบโต โดยในปี 55 บริษัทจะมีพื้นที่คลังสินค้าให้เช่า 1.5 แสนตร.ม. และโรงงานให้เช่า 8-9 หมื่นตร.ม. เพิ่มจากปี 54 ที่มีพื้นที่คลังสินค้าให้เช่า 1.3 แสนตร.ม. และโรงงานให้เช่า 6-8 หมื่นตร.ม.

ขณะที่บริษัทตั้งงบลงทุนปี 55 เพิ่มเป็น 3.5 พันล้านบาท แบ่งเป็นก่อสร้างคลังสินค้า 2.5 พันล้านบาท และซื้อที่ดิน 1 พันล้าน จากปี 54 มีงบลงทุนที่ 3 พันล้านบาท

นายวีรพันธ์ กล่าวว่า นอกจากปัจจัยน้ำท่วมในประเทศที่เป็นปัจจัยเสี่ยงแล้ว ยังกังวลปัญหาหนี้ในยุโรป เพราะลูกค้าส่วนใหญ่ของบริษัทเป็นต่างประเทศ แม้ว่าธุรกิจจะไม่มีปัญหา แต่ลูกค้าใช้แหล่งเงินกู้เป็นแบงก์ต่างประเทศก็เกรงว่าจะมีปัญหาสภาพคล่อง หรือเงินหมุนเวียน

สำหรับโรงงานที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม ได้แก่ โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ 37 แห่ง คิดเป็น 17%ของพอร์ต, โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมไฮเทค 20 แห่ง คิดเป็น 9% , โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน 2 แห่ง คิดเป็น 1%,โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมนวนคร 11 แห่ง คิดเป็น 4% , ศูนย์กลางกระจายสินค้า คลังสินค้า TPARK คิดเป็น 3%

นอกจากนี้ ยังมีในนิคมลาดกระบังอีก 1 โรง และนิคมอุตสาหกรรมบางปู 10 แห่งที่ต้องเฝ้าระวัง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ