ทริสฯเพิ่มเครดิตองค์กร-หุ้นกู้ไม่มีประกัน BGH ที่ "A+"แนวโน้ม"Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday November 10, 2011 09:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศปรับเพิ่มอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันของ บมจ. กรุงเทพดุสิตเวชการ (BGH) เป็นระดับ “A+" จาก “A" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่" ซึ่งอันดับเครดิตที่เพิ่มขึ้นสะท้อนถึงความสามารถที่เพิ่มขึ้นในการรองรับและให้บริการผู้ป่วย ตลอดจนเครือข่ายของบริษัทที่ขยายยิ่งขึ้นหลังการควบรวมกับกลุ่มโรงพยาบาลพญาไทและกลุ่มโรงพยาบาลเปาโลซึ่งแล้วเสร็จในไตรมาสที่ 2 ของปี 2554

อันดับเครดิตดังกล่าวยังสะท้อนถึงความเป็นผู้นำธุรกิจของบริษัทในฐานะผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนรายใหญ่ที่สุดในประเทศ ตลอดจนคณะผู้บริหาร รวมถึงบุคลากรและผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ที่มีความสามารถและมากประสบการณ์ รวมทั้งบริการที่มีคุณภาพในระดับสูง และเครื่องมืออุปกรณ์ที่มีมาตรฐาน อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากการแข่งขันที่ค่อนข้างรุนแรงจากผู้ประกอบการทั้งในประเทศและต่างประเทศ และการลงทุนในอนาคตของบริษัทที่อาจจะใช้เงินทุนจากการกู้ยืม

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถคงความเป็นผู้นำในธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ อีกทั้งตราสัญลักษณ์โรงพยาบาลที่แข็งแกร่งของบริษัทจะสามารถดึงดูดผู้ป่วยให้มาใช้บริการเพิ่มขึ้นและคงผลประกอบการที่เข้มแข็งเอาไว้ได้ นอกจากนี้ ยังคาดว่าบริษัทจะรักษาระดับสภาพคล่องให้เพียงพอ โดยการลงทุนหรือการซื้อกิจการใดใดในอนาคตควรมีการพิจารณาอย่างรอบคอบเพื่อคงความแข็งแกร่งทางการเงินเอาไว้

ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทกรุงเทพดุสิตเวชการก่อตั้งในปี 2512 เพื่อดำเนินธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนภายใต้ชื่อโรงพยาบาลกรุงเทพ บริษัทเป็นผู้นำธุรกิจในฐานะผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนรายใหญ่ที่สุดในประเทศและอาเซียน ด้วยจำนวนเตียงผู้ป่วยทั้งสิ้น 3,929 เตียง บริษัทมีเครือข่ายที่แข็งแกร่งภายใต้ชื่อกลุ่มโรงพยาบาลต่าง ๆ ปัจจุบันบริษัทมีโรงพยาบาลในเครือทั้งหมด 28 แห่งภายใต้ตราสัญลักษณ์โรงพยาบาลในประเทศที่เป็นที่รู้จักและยอมรับอย่างแพร่หลาย 5 ตราสัญลักษณ์ และภายใต้ตราสัญลักษณ์โรงพยาบาลต่างประเทศอีก 1 ตราสัญลักษณ์

โดยมีโรงพยาบาลที่ประกอบกิจการภายใต้ชื่อโรงพยาบาลกรุงเทพ 14 แห่ง ภายใต้ชื่อโรงพยาบาลสมิติเวช 3 แห่ง ภายใต้ชื่อโรงพยาบาลบีเอ็นเอช 1 แห่ง และอีก 2 แห่งภายใต้ชื่อ Royal International Hospital ตราสัญลักษณ์โรงพยาบาลอีก 2 ตราคือ โรงพยาบาลพญาไทและโรงพยาบาลเปาโลเข้ามารวมในกลุ่มบริษัทเมื่อเดือนเมษายน 2554 เครือข่ายที่แข็งแกร่งนี้เป็นปัจจัยที่ช่วยขยายแหล่งรายได้ของบริษัทตลอดจนฐานลูกค้าจนครอบคลุมกลุ่มคนไข้ระดับกลางถึงระดับบนในหลากหลายทำเลมากยิ่งขึ้น ส่วนในด้านคุณภาพนั้น โรงพยาบาลในเครือของบริษัทจำนวน 7 แห่งได้รับการรับรองมาตรฐานจาก Joint Commission International (JCI) ได้แก่ โรงพยาบาลกรุงเทพ (ซึ่งรวมโรงพยาบาลกรุงเทพ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ และโรงพยาบาลวัฒโนสถ) โรงพยาบาลสมิติเวชสุขุมวิท โรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์ โรงพยาบาลสมิติเวชศรีราชา โรงพยาบาลบีเอ็นเอช โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต และโรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา

ความได้เปรียบทางการแข่งขันของบริษัทกรุงเทพดุสิตเวชการมาจากความหลากหลายทั้งในด้านบริการ ฐานลูกค้า และทำเลที่ตั้ง บริษัทเป็นศูนย์รวมของบุคลากรซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ พยาบาล พนักงานคลังยาและเวชภัณฑ์ที่ใหญ่ที่สุด อีกทั้งยังมีเครือข่ายระบบส่งต่อผู้ป่วยที่แข็งแกร่งที่สุด โรงพยาบาลหลายแห่งในกลุ่ม เช่น โรงพยาบาลกรุงเทพ โรงพยาบาลสมิติเวชสุขุมวิท โรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์ โรงพยาบาลบีเอ็นเอช โรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา โรงพยาบาลพญาไท และโรงพยาบาลเปาโลมีตราสัญลักษณ์โรงพยาบาลที่แข็งแกร่งและสร้างรายได้เพิ่มขึ้นอย่างเข้มแข็งตลอดช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

ในด้านการบริหารต้นทุนนั้น บริษัทคาดว่าจะได้รับประโยชน์จากการประหยัดจากขนาดซึ่งเป็นผลจากการจัดซื้อยา เวชภัณฑ์ และเครื่องมือทางการแพทย์หลักร่วมกัน โรงพยาบาลในกลุ่มเน้นรักษาและให้บริการระดับตติยภูมิซึ่งจะช่วยปรับเพิ่มรายได้และการใช้เครื่องมืออุปกรณ์และบริการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ นอกจากนี้ การนำระบบบริหารเงินโดยการทำ Cash Pooling มาใช้กับโรงพยาบาลในกลุ่มยังช่วยลดระดับความต้องการเงินกู้ระยะสั้นในแต่ละโรงพยาบาลและลดต้นทุนทางการเงินของกลุ่มโดยรวมลงด้วย

สถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งส่งผลให้การดำเนินงานของบริษัทเข้มแข็งยิ่งขึ้น บริษัทมีรายได้จากธุรกิจโรงพยาบาลในปี 2553 อยู่ที่ 23,513 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสมที่ 11% ในช่วงปี 2549-2553 รายได้สำหรับช่วง 6 เดือนแรกของปี 2554 อยู่ที่ 15,607 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 39% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากการเติบโตของรายได้จากผู้ป่วยและการรวมรายได้จากกลุ่มโรงพยาบาลพญาไทและเปาโลในไตรมาสที่ 2 ของปี 2554 เข้ามา รายได้จากผู้ป่วยประมาณ 53%-55% มาจากผู้ป่วยใน และที่เหลือมาจากผู้ป่วยนอก ส่วนรายได้จากกลุ่มผู้ป่วยที่ชำระเงินเองมีมากกว่า 70% ของรายได้รวม

กระแสเงินสดของบริษัทยังคงแข็งแกร่งและเติบโตเรื่อยมา อัตรากำไรจากการดำเนินงานค่อนข้างเสถียรอยู่ที่ระดับ 20%-22% ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา คาดว่าการทำกำไรของบริษัทในอนาคตจะขึ้นอยู่กับความสามารถในการควบคุมต้นทุนและการเพิ่มการใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์และบริการที่ใช้ร่วมกันภายในกลุ่ม การประหยัดต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการรวมกลุ่มโรงพยาบาลพญาไทและเปาโลอาจต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่งจึงจะปรากฏผล ภาระหนี้ของบริษัท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2554 อยู่ที่ 17,470 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 10,751 ล้านบาท ณ ปลายปี 2553 เนื่องจากบริษัทได้รับเอาภาระหนี้ของกลุ่มโรงพยาบาลพญาไทและเปาโลเข้ามาหลังการควบรวม อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนลดลงจาก 39.8% ในปี 2553 มาอยู่ที่ 36.7% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2554 เนื่องจากบริษัทมีฐานทุนที่ใหญ่ขึ้นจากการออกหุ้นใหม่จำนวน 299.4 ล้านหุ้นเพื่อแลกหุ้นกับกลุ่มโรงพยาบาลพญาไทและเปาโล นอกจากนี้ ภาระหนี้ส่วนใหญ่ของบริษัทก็เป็นเงินในสกุลบาทที่มีอัตราดอกเบี้ยคงที่ ดังนั้น บริษัทจึงไม่มีความเสี่ยงในด้านอัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยน

แผนการลงทุนในอนาคตของบริษัทเน้นการลงทุนในธุรกิจที่ไม่ใช่โรงพยาบาล เช่น บริษัทยาและบริษัทเวชภัณฑ์ บริษัทชะลอแผนลงทุนในการก่อสร้างโรงพยาบาลในกรุงพนมเปญเพราะมีปัจจัยที่ไม่เอื้ออำนวยหลายประการ บริษัทคาดว่าจะใช้เงินลงทุนในช่วง 3 ปีข้างหน้าประมาณปีละ 4,200-4,800 ล้านบาทเพื่อใช้จัดซื้ออุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ รวมทั้งเพื่อใช้ปรับปรุงอาคารเป็นหลัก แม้การมีฐานสินทรัพย์ขนาดใหญ่ทำให้อัตราส่วนผลตอบแทนต่อเงินทุนถาวรค่อนข้างต่ำกว่าคู่แข่ง แต่รายได้และกำไรของแต่ละโรงพยาบาลในกลุ่มที่ปรับเพิ่มขึ้นจะช่วยสนับสนุนการเติบโตและทำให้รายได้ของบริษัทมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้นในอนาคต

สำหรับอุทกภัยครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่เดือนกันยายน 2554 โดยคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของโรงพยาบาลในเครือของบริษัทกรุงเทพดุสิตเวชการน้อยมาก จำนวนผู้ป่วยนอกที่คาดว่าจะลดลงในไตรมาสสุดท้ายของปี 2554 จะได้รับการชดเชยด้วยจำนวนผู้ป่วยในที่เพิ่มขึ้นจากการส่งต่อผู้ป่วยจากโรงพยาบาลอื่นที่ถูกน้ำท่วม และคาดว่าผลกระทบจากอุทกภัยจะมีเพียงชั่วคราว อุปสงค์จะปรับตัวดีขึ้นหลังจากความเสียหายจากอุทกภัยได้รับการแก้ไข นอกจากนี้ บริษัทยังได้ทำประกันคุ้มครองสำหรับทุกโรงพยาบาลในกลุ่มซึ่งครอบคลุมทั้งการสูญเสียหรือความเสียหายที่เกิดกับทรัพย์สินรวมถึงประกันภัยกรณีธุรกิจหยุดชะงักด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ