นายอัยยณัฐ ถินอภัย ผู้ว่าการ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า หลังจากยกเว้นการจัดเก็บค่าผ่านทางพิเศษเมื่อวันที่ 9 พ.ย.ที่ผ่านมา พบว่าปริมาณรถยนต์ที่ใช้ทางพิเศษเฉลิมมหานคร หรือระบบทางด่วนขั้นที่ 1 ทางพิเศษศรีรัช หรือระบบทางด่วนขั้นที่ 2 และทางพิเศษอุดรรัถยา (บางปะอิน-ปากเกร็ด) เพิ่มขึ้น 16% จากช่วงก่อนหน้าที่ไม่ได้ยกเว้นค่าผ่านทาง
อย่างไรก็ตาม ในการยกเว้นค่าผ่านทางนี้ กทพ.จะต้องชดเชยรายได้ให้กับเอกชนซึ่งเป็นเจ้าของสัญญาสัมปทาน คือ บมจ.ทางด่วนกรุงเทพ (BECL) และบริษัท ทางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด (NECL) ซึ่งกำหนดรูปแบบการชดเชยตามความจริงของปริมาณรถยนต์ที่ใช้บริการ รถยนต์ใช้มากจ่ายมาก รถยนต์ใช้น้อยจากน้อย ซึ่งเบื้องต้นกทพ.ประเมินว่าจะใช้งบประมาณ 184 ล้านบาท ซึ่งเป็นการคำนวณพบนพื้นฐานอัตราค่าเฉลี่ยของปริมาณผู้ใช้ทางพิเศษของเดือนต.ค.-พ.ย.54
ด้านนายมณเฑียร กุลธำรง รองผู้ว่าการ กทพ. กล่าวว่า ปริมาณผู้ใช้ทางพิเศษรวม 6 สายทาง เพิ่มขึ้นประมาณ 11% จากช่วงก่อนหน้าที่ไม่ได้ยกเว้นค่าผ่านทาง โดยสายทางที่เพิ่มขึ้นมาก คือ ทางพิเศษศรีรัช เพิ่มขึ้น 20% รองลงมาเป็นทางพิเศษเฉลิมมหานคร เพิ่มขึ้น 9% และทางพิเศษอุดรรัถยา เพิ่มขึ้น 6%