บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง(RATCH) คาดว่าในปี 55 บริษัทจะสามารถสรุปโครงการลงทุนในต่างประเทศได้อย่างน้อย 2 โครงการ จากที่มีการพิจารณาอยู่ 3 โครงการ โดยบริษัทตั้งงบลงทุนในปีหน้าไว้ราว 1.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะใช้สำหรับการลงทุนในโครงการเดิมที่มีอยู่และใช้เพื่อซื้อกิจการ ทั้งนี้ บริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาแนวทางการออกหุ้นกู้และกู้เงินจากสถาบันการเงินเพื่อนำมาใช้ในการลงทุน ขณะที่มีกระแสเงินสดในมือแล้วประมาณ 7-8 พันล้านบาท และบริษัทยืนยันที่จะควบคุมอัตราหนี้สินต่อทุน(D/E)ไม่ให้เกิน 1 เท่า จากปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 0.5 เท่า
อนึ่ง ในช่วงบ่ายวันนี้ RATCH จะมีการลงนามในบันทึกข้อตกลงเบื้องต้น(MOU)โครงการร่วมลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าในนิคมอุตสาหกรรมทวายในประเทศพม่า
นายนพพล มิลินทรางกูร กรรมการผู้จัดการใหญ่ RATCH กล่าวว่า บริษัทมีแผนจะเข้าซื้อกิจการหรือร่วมลงทุนโรงฟฟฟ้าในต่างประเทศเพิ่มเติม โดยขณะนี้พิจารณาอยู่ 3 แห่ง ซึ่งบ่ายวันนี้จะเซ็น MOU การลงทุนโรงไฟฟ้าและกิจการอื่น ๆ ที่น่าสนใจในนิคมอุตสาหกรรมทวาย ซึ่งในปีหน้าบริษัทตั้งงบลงทุนรวมไว้ 1.2 หมื่นล้านบาททั้งเดินหน้าโครงการเก่าและใหม่
ขณะนี้บริษัทยังมีวงเงินที่ได้รับอนุมัติให้ออกหุ้นกู้ได้อีก 7.5 พันล้านบาท และสามารถกู้เงินจากสถาบันการเงินได้อีก เพราะปัจจุบันบริษัท D/E ยังอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งจะนำมาสมทบกับกระแสเงินสดที่มีในมือได้
"โครงการที่บริษัทเจรจาอยู่ 3 โครงการคาดว่าจะสรุปได้ 2 โครงการเป็นอย่างน้อย ไม่รวมโครงการที่ทวายที่จะเซ็นสัญญาในบ่ายวันนี้ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่มาก ต้องใช้เงินลงทุนมากและต้องใช้เวลาอย่างต่ำ 5 ปี แต่เชื่อว่าจะส่งผลดีต่อบริษัท"นายนพพล กล่าว
ในปีนี้บริษัทจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 5.1 พันเมกะวัตต์ และมีแผนเพิ่มเป็น 6.6 พันเมกะวัตต์ในปี 59 ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่ากำลังการผลิตไฟฟ้าของบริษัทอาจเพิ่มสูงมากกว่าเป้าหมายที่วางไว้ เพราะการลงทุนในโครงการพลังงานทดแทนตามแผนเดิมในปี 59 จะมีกำลังผลิต 100 เมกะวัตต์ แต่ขณะนี้บริษัทได้วางแผนสร้างโครงการพลังงานทดแทนครบ 100 เมกะวัตต์แล้ว หากมีโอกาสลงทุนหรือนโยบายภาครัฐที่จะสนับสนุนด้านพลังงานทดแทน บริษัทก็พร้อมที่จะเพิ่มการลงทุนอีก
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้โครงการโซลาร์ฟาร์มที่บริษัทร่วมทุนกับทางโซลาร์ต้า 8 โครงการนั้น กำลังการผลิต 34.25 เมกะวัตต์ จะต้องเลื่อนการเปิดโครงการถึง 7 แห่งไปต้นปี 55 จากแผนเดิมในต้นปีนี้ผลจากผลกระทบน้ำท่วม แต่ก็จะเดินหน้าโครงการตามแผนงานแน่นอน
ส่วนโครงการพลังงานลมที่ จ.นครราชสีมา ขนาด 103.5 เมกะวัตต์ บริษัทถือหุ้น 20% ขณะนี้ลงนามสัญญาเงินกู้ไปแล้ว คาดว่าจะเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในปี 56 ด้านโครงการสงขลาไบโอแมสที่บริษัทถือหุ้นอยู่ 40% กำลังการผลิต 9.9 เมกะวัตต์ คาดว่าจะผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในปี 57
นายนพพล กล่าวว่า บริษัทเชื่อว่ากำไรและรายได้ในปีนี้จะสูงกว่าปีก่อน แม้ว่าจะมีความกังวลว่าไตรมาส 4/54 อาจได้รับผลกระทบจากความต้องการใช้ไฟฟ้าลดลงทั้งจากสถานการณ์น้ำท่วมหนักและเป็นไปตามฤดูกาล