นายวิน วิริยประไพกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม และ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. สหวิริยาสตีลอินดัสตรี (SSI) กล่าวว่า ปริมาณการใช้เหล็กอ่อนตัวลงไปมากเนื่องจากปัญหาอุทกภัยครั้งใหญ่และกระทบกับยอดขายของบริษัทฯในระยะสั้น แต่เมื่อพิจารณาโอกาสระยะยาว คาดว่ากิจกรรมภาคเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมจะทยอยฟื้นตัวหลังจากน้ำลด และจะเพิ่มขึ้นอย่างมากจากผลของงบประมาณรัฐบาลในการซ่อมแซมสาธารณูปโภคและฟื้นฟูอุตสาหกรรม คาดว่าผลิตภัณฑ์เหล็กของบริษัทฯ จะมีความต้องการอย่างมากในระยะกลางและระยะยาว
สำหรับภาวะอุตสาหกรรมเหล็กโลกและภายในประเทศนั้น แนวโน้มราคาแร่เหล็กและราคาเหล็กในไตรมาส 4/54 มีสัญญาณที่ดีขึ้นหลังจากผ่านจุดต่ำสุดในเดือนตุลาคม เนื่องจากนโยบายการควบคุมเงินเฟ้อและฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ในประเทศจีนและปัญหาเศรษฐกิจในสหภาพยุโรป
นายวิน กล่าวว่า ผลประกอบการไตรมาส 3/54 ว่า บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีรายได้จากการขายและบริการรวม 13,439 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 16 จากงวดเดียวกันของปีก่อน และมีผลขาดทุนสุทธิ จำนวน 2,965 ล้านบาท สำหรับงวด 9 เดือน บริษัทฯ มีรายได้จากการขายและบริการรวม 34,967 ล้านบาท คิดเป็นลดลงร้อยละ 6 จากงวดเดียวกันของปีก่อน และมีผลกำไรสุทธิ จำนวน 1,395 ล้านบาท
รายได้ที่เพิ่มขึ้นนี้มาจากธุรกิจเหล็กแผ่นรีดร้อน ซึ่งเป็นรายได้จากการขายเหล็กแผ่นรีดร้อนและเศษเหล็กรวม 10,373 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 34 จากไตรมาส 2/2554 โดยมีปริมาณขายรวม 414 พันตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 26 ราคาขายเฉลี่ย 24,504 บาท/ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6 ในขณะที่ต้นทุนขายเพิ่มเพียงร้อยละ 4 จากไตรมาส 2/54 โดยมีสัดส่วนผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มกับลูกค้า (Premium Value Product) ประมาณร้อยละ 41 เป็นผลจากภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ที่เริ่มกลับสู่สภาวะปกติหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวญี่ปุ่น และมาตรการฉุกเฉินป้องกันการทุ่มตลาดของภาครัฐ รวมทั้งราคาขายเฉลี่ยที่ปรับสูงขึ้นตามตลาดโลก
นอกเหนือจากนี้เป็นรายได้จากธุรกิจโรงถลุงเหล็ก ซึ่งมีเพียงรายได้ในส่วนของธุรกิจโค้ก มียอดขายจำนวน 220 พันตันและผลิตภัณฑ์พลอยได้และรายได้อื่นๆ รวมจำนวน 2,994 ล้านบาท ธุรกิจท่าเรือน้ำลึก มีรายได้จากการให้บริการรวม 28 ล้านบาท ธุรกิจวิศวกรรมและซ่อมบำรุง มีรายได้จากการให้บริการรวม 45 ล้านบาท
ในขณะเดียวกันบริษัทฯมีบันทึกกำไรจากการซื้อธุรกิจซึ่งเกิดขึ้นจากการเข้าซื้อกิจการโรงถลุงเหล็กที่ประเทศอังกฤษจำนวนประมาณ 5,271 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม สำหรับธุรกิจเหล็กแผ่นรีดร้อน บริษัทฯมีการตั้งสำรองจากภาระผูกพันตามสัญญาซื้อวัตถุดิบจำนวน 129 ล้านบาทเพื่อสะท้อนราคาเหล็กที่ปรับตัวลดลงในปัจจุบัน และธุรกิจโรงถลุงเหล็ก ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการโครงการปรับปรุงและยังไม่ได้มีการผลิตเหล็ก บริษัทฯจึงมีต้นทุนพิเศษในส่วนที่ไม่เกี่ยวกับการผลิต ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร ดอกเบี้ยจ่าย รวมกันเป็นเงิน 2,316 ล้านบาท ซึ่งต้นทุนส่วนนี้จะกลายเป็นต้นทุนปกติหลังจากที่บริษัทเริ่มทำการผลิตเหล็กแท่ง