(เพิ่มเติม) KBANK เตรียมเงิน 1.5 หมื่นลบ.“ลด ยืด เพิ่ม"ช่วยลูกค้า SMEs น้ำท่วม

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday November 15, 2011 14:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายปกรณ์ พรรธนะแพทย์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เปิดเผยว่า จากภาวะน้ำท่วมในหลายพื้นที่ของไทย ทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมใน 32 จังหวัด มีถึง 2.4 แสนราย เป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ทำธุรกิจอยู่ในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจสำคัญประมาณ 20% ของจำนวนเอสเอ็มอีทั้งหมดของประเทศ ส่วนลูกค้าเอสเอ็มอีของธนาคารกสิกรไทยที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยครั้งนี้มีทั้งสิ้น 14,118 ราย คิดเป็นวงเงินสินเชื่อรวมทั้งสิ้น 37,173 ล้านบาท หรือคิดเป็น 8.6% ของสินเชื่อเอสเอ็มอีของธนาคาร

ปัจจุบันมีลูกค้าธุรกิจเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยแจ้งขอรับความช่วยเหลือจากธนาคารแล้ว 1,644 ราย คิดเป็นวงเงินสินเชื่อรวม 14,293 ล้านบาท และภายหลังน้ำลดธนาคารได้จัดเตรียมวงเงินสินเชื่อเพื่อการฟื้นฟูธุรกิจแล้วจำนวน 15,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ ธนาคารคาดว่าความต้องการสินเชื่อของธุรกิจเอสเอ็มอีทั้งระบบหลังน้ำลดจะสูงถึง 65,000 -140,000 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่จะเป็นสินเชื่อเพื่อหมุนเวียนมากกว่าสินเชื่อเพื่อการฟื้นฟูกิจการ เนื่องจากเอสเอ็มอีส่วนใหญ่ทำธุรกิจประเภทซื้อมาขายไปจึงไม่มีการลงทุนในการสร้างสินทรัพย์ถาวร ดังนั้น หากสถาบันการการเงินเร่งให้ความช่วยเหลือธุรกิจก็จะกลับมาขยายตัวปกติและไม่ก่อให้เกิดปัญหาหนี้เสีย(NPL)

สำหรับลูกค้าภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ได้แก่ ภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ เช่น ธุรกิจจำหน่ายอุปกรณ์ก่อสร้าง โครงการหมู่บ้านจัดสรรต่าง ๆ ภาคอุตสาหกรรมฮาร์ตแวร์ อาทิ เครื่องจักร และวัสดุอุปกรณ์สำหรับโรงงานอุตสาหกรรม ภาคการเกษตร จากพื้นที่การเกษตรในหลายจังหวัดได้รับความเสียหาย ภาคอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ โดยเฉพาะผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นแหล่งผลิตชิ้นส่วนสำคัญของประเทศได้รับความเสียหายจำนวนมาก ภาคอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมนิคมอุตสาหกรรม โดยเฉพาะนิคมอุตสาหกรรมไฮเทคที่ จ.อยุธยา และนิคมบางกระดี จ.ปทุมธานี

ธนาคารประเมินความเสียหายของลูกค้าที่ได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัยในครั้งนี้ และพบว่าลูกค้าผู้ประกอบธุรกิจเอสเอ็มอีได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง จึงออกมาตรการช่วยเหลือทั้งด้านการเงินและด้านอื่น ๆ โดยในส่วนของมาตรการด้านการเงิน ได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่มีวงเงินสินเชื่อกับธนาคารด้วยการขยายระยะเวลาปลอดชำระเงินต้นให้แก่ลูกค้าที่ใช้วงเงินสินเชื่อกับธนาคาร เป็นเวลา 6 เดือน และต่อเพิ่มได้อีก 6 เดือนหากสถานการณ์ยังไม่กลับสู่สภาพปกติ สำหรับลูกค้าที่ใช้วงเงินสินเชื่อเพื่อการนำเข้า (T/R) หรือวงเงินตั๋วสัญญาใช้เงิน (P/N) สามารถต่อตั๋วออกไปได้อีก 6 เดือน โดยไม่ต้องมีเอกสารการสั่งซื้อรองรับการต่ออายุตั๋วสัญญา

นอกจากนี้ เพื่อให้ลูกค้าสามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้เร็วขึ้นหลังน้ำท่วม ธนาคารจะให้การช่วยเหลือลูกค้าด้วยวงเงินสินเชื่อเพื่อการฟื้นฟูธุรกิจซึ่งเป็นวงเงินที่พัฒนาออกมาเพื่อช่วยลูกค้าธุรกิจเอสเอ็มอีอย่างแท้จริง ประกอบด้วยวงเงินสินเชื่อเพื่อการปรับปรุงและซ่อมแซมสถานประกอบการ ด้วยการลดดอกเบี้ยพิเศษ คิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ 4 % 3 ปีแรก และโครงการความร่วมมือกับภาครัฐ ด้วยการค้ำประกันสินเชื่อโดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) คิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ 3 % 3 ปีแรก ยืดระยะเวลาผ่อนชำระยาวสูงสุดถึง 10 ปี และการเพิ่มสภาพคล่องให้กับธุรกิจ ด้วยการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยสูงสุดไม่เกิน 6 เดือน

สำหรับลูกค้าที่เครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตเสียหายจนไม่สามารถใช้การได้ ธนาคารได้จัดวงเงินสินเชื่อเพื่อซื้อเครื่องจักรใหม่ โดยคิดอัตราดอกเบี้ยพิเศษแบบลดต้นลดดอก 4% ใน 3 ปีแรก ยืดระยะเวลาผ่อนชำระยาวสูงสุดถึง 7 ปี และเพิ่มสภาพคล่องให้กับธุรกิจด้วยการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยสูงสุดไม่เกิน6 เดือน พร้อมให้วงเงินสินเชื่อสูงสุด 100% ของมูลค่าเครื่องจักรด้วย

นอกเหนือจากการสนับสนุนด้านการเงินแล้ว ธนาคารยังมีมาตรการการช่วยเหลือด้านอื่นๆ เพื่อช่วยให้ธุรกิจของลูกค้าเอสเอ็มอีสามารถฟื้นฟูและดำเนินต่อไปได้ ด้วยการจัดตั้ง K SME ศูนย์ช่วยเหลือและฟื้นฟูธุรกิจเอสเอ็มอีแบบครบวงจร ณ K SME Care Knowledge Center ชั้น 2 อาคารจามจุรีสแควร์

แนวทางการช่วยเหลือ 3 ด้าน คือ สินค้าและบริการราคาพิเศษจากลูกค้าเอสเอ็มอีของธนาคาร และสมาชิก K SME Care Network Club ซึ่งมีทั้งสินค้า วัตถุดิบ และบริการปรับปรุงซ่อมแซมต่าง ๆ ในราคาพิเศษ การประสานงานกับหน่วยงานพันธมิตรของธนาคาร เพื่อเป็นศูนย์กลางในการประสานงานให้การช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบและเป็นศูนย์ให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการ ทั้งความช่วยเหลือจากธนาคารและหน่วยงานพันธมิตร เช่น สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เป็นต้น อีกทั้งยังมีการจัดงานสัมมนาให้ความรู้ เกี่ยวกับมาตรการและข้อมูลต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ในการฟื้นฟูกิจการหลังน้ำลด เช่น การสื่อสารภายในองค์กรในช่วงวิกฤติ การฟื้นฟูเครื่องจักร และการลงบัญชี เป็นต้น

นายปกรณ์ กล่าวว่า สินเชื่อเอสเอ็มอีเพื่อการลงทุนและการค้าในไตรมาส 4/54 จะถูกกระทบจากปัญหาน้ำท่วมแน่ แต่สินเชื่อเบิกเงินเกินบัญชีอาจจะสูงขึ้น จึงทำให้โดยรวมแล้วสินเชื่ออาจไม่โต ตลาดสินเชื่อปีนี้นี้โต 7% แต่ในไตรมาส 1/55 อาจจะขยายตัวติดลบเพราะภาคอุตสาหกรรมอยู่ในช่วงฟื้นฟูและมีปัญหาว่างงาน ก่อนที่สินเชื่อจะกลับมาขยายตัวดีขึ้นในไตรมาส 2/54 จากความต้องการที่เร่งตัวขึ้น

อย่างไรก็ตาม ธนาคารไม่กังวลต่อการขยายตัวลดลงของสินเชื่อเอสเอ็มอีในไตรมาส 4/54 เนื่องจากมีการเติบโตแล้ว 10% ในช่วง 10 เดือนแรกของปี จากเป้าหมายทั้งปีที่ 8-10% ซึ่งสามารถขยายส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มจาก 29% เป็น 30% ของตลาด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ