สภาธุรกิจตลาดทุนฯร่างโรดแมพฟื้นฟู-สร้างความเชื่อมั่นหลังอุทกภัยเสนอรัฐบาล

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday November 16, 2011 17:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สภาธุรกิจตลาดทุนไทย เร่งรัฐบาลประเมินผลกระทบจากวิกฤตน้ำท่วม ที่กระทบภาวะเศรษฐกิจ ฐานะการคลัง และตัวเลขความเสียหาย รวมทั้งสรุปแนวทางป้องกันน้ำท่วม พร้อมเสนอโรดแมพ 3 ระยะ ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เพื่อวางแนวทางเร่งฟื้นฟูภาคธุรกิจ รวมไปถึงสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุน ภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม และตลาดทุนไทยด้วย รวมทั้งการระดมทุนเสนอให้ผ่านตลาดทุนที่มีต้นทุนต่ำ เตรียมเข้าพบและเสนอต่อนายกรัฐมนตรี

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยหลังการหารือสมาชิกทั้ง 7 สมาคมในตลาดทุนถึงแนวทางการฟื้นฟูความเชื่อมั่นนักลงทุนและแนวทางการช่วยเหลือภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตน้ำท่วว่า สภาฯ มีความเป็นห่วงอย่างยิ่งต่อผลกระทบจากวิกฤตน้ำท่วมที่จะเกิดขึ้นต่อผู้ประกอบการและเศรษฐกิจไทยในระยะยาว รัฐบาลควรเร่งประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจมหภาค ฐานะการคลังของประเทศ และสรุปตัวเลขที่ชัดเจนเพื่อประชาสัมพันธ์ให้กับนักลงทุนอย่างทั่วถึง รวมทั้ง เร่งสรุปแนวทางป้องกันน้ำท่วมในอนาคตที่เป็นรูปธรรมภายใน 3 เดือน เพื่อเป็นข้อมูลให้กับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมในการตัดสินใจลงทุนและวางแผนการดำเนินงานต่อไป

สภาฯ จึงขอนำเสนอ Roadmap 3 ระยะ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลไทย เพื่อช่วยเร่งสร้างภูมิคุ้มกัน และเป็นแนวทางในการส่งเสริมให้ตลาดทุนและเศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตได้มีเสถียรภาพ โดยจะนำคณะกรรมการและผู้แทนองค์กรที่เกี่ยวข้องในตลาดทุนเข้าพบนายกรัฐมนตรีเพื่อหารือมาตรการต่างๆ ในรายละเอียดต่อไป

ข้อเสนอแบ่งเป็นมาตรการระยะสั้น เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคธุรกิจ นักลงทุน และสนับสนุนให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถกลับเข้าสู่กระบวนการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยเร็ว โดยเสนอให้รัฐบาลพิจารณาเร่งดำเนินการ คงมาตรการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 30% ให้เหลือ 20% ไว้ตามเดิม แต่ขอให้ชะลอเวลาการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และให้ธนาคารแห่งประเทศไทยลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงทันที 0.5% เพื่อแบ่งเบาภาระภาคธุรกิจ กระตุ้นการบริโภคและการลงทุน

พร้อมทั้งออกมาตรการภาษีเพื่อการฟื้นฟูภาคธุรกิจ เช่น การยกเว้นภาษีการนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่นำมาทดแทนของเดิม สำหรับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตน้ำท่วม รวมทั้ง การยกเว้นการนำส่งเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ทั้งในส่วนของนายจ้างและลูกจ้าง เพื่อบรรเทาปัญหาทางการเงินให้กับธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ

อีกทั้งสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) หรือสนับสนุนทางการเงินให้กับบริษัทจดทะเบียน อุตสาหกรรม หรือ SME ที่ได้รับผลกระทบเพื่อให้มีทุนหมุนเวียนและสามารถฟื้นตัวได้โดยเร็วยิ่งขึ้น

และชะลอหรือเลื่อนกำหนดเวลาการส่งมอบงานให้กับภาครัฐ กรณีอุตสาหกรรมและธุรกิจที่ได้รับผลกระทบและไม่สามารถส่งมอบงานได้ตามสัญญา โดยร่วมกับภาคเอกชนในการพิจารณาระยะเวลาการส่งมอบงานตามความเหมาะสม

รวมถึงเร่งออกมาตรการช่วยเหลือลูกจ้างที่ตกงาน เช่น การรักษาสภาพการจ้างงานโดยรัฐบาลอาจจะช่วยจ่ายค่าแรงบางส่วนแทนนายจ้าง รวมทั้ง จัดการฝึกอบรมและจัดหาอาชีพเสริมให้ลูกจ้างที่ต้องหยุดงาน เป็นต้น

สำหรับมาตรการระยะกลาง การฟื้นฟูประเทศจากวิกฤตครั้งนี้ ควรให้ตลาดทุนเป็นกลไกสำคัญในการระดมทุนเพื่อการฟื้นฟู เพราะการระดมทุนในตลาดทุนมีต้นทุนที่ต่ำ ด้วยการระดมทุนผ่านรูปแบบต่างๆ เช่น การระดมทุนผ่านตราสารหนี้ภาครัฐและเอกชน การระดมทุนผ่านกองทุนรวม ตามมาตรการต่อไปนี้

1.เร่งจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) เพื่อระดมทุนจากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศเพื่อการพัฒนากิจการสาธารณูปโภคที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เช่น ไฟฟ้า ประปา โทรคมนาคม ทางพิเศษ ท่าอากาศยาน ท่าเรือน้ำลึก ระบบขนส่งทางราง เป็นต้น นอกจากนี้ รัฐบาลควรส่งเสริมการจัดตั้งกองทุนรวมร่วมทุน หรือ Venture Capital Fund เพื่อเป็นแหล่งระดมทุนอีกทางหนึ่งให้กับภาคธุรกิจ

2.สภาฯ เสนอให้จัดตั้งทีมเจรจาทางการค้าและที่ปรึกษาเพื่อการฟื้นฟู เนื่องจากในระหว่างที่ภาคอุตสาหกรรมต้องหยุดการดำเนินงานอาจทำให้คู่ค้ายกเลิกการสั่งซื้อสินค้า รวมทั้ง การตั้งทีมที่ปรึกษาพิเศษขึ้นเพื่อให้ปรึกษาผู้ประกอบการในเรื่องฟื้นฟูกิจการ และการวางแผนฟื้นฟูด้านการเงิน เป็นต้น

3.สภาฯ ขอเสนอให้รัฐบาลใช้กลยุทธ์การสื่อสารเชิงรุก เพื่อสร้างภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ โดยสื่อสารผ่านกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ หอการค้าต่างประเทศ รวมทั้งการสื่อสารกับผู้จัดการกองทุนในต่างประเทศโดยตรง ผ่านการจัด Road show ต่างประเทศ จัดทำภาพยนต์โฆษณาหรือสัมภาษณ์ผู้นำหรือผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ต่างประเทศที่มีศักยภาพ

สำหรับมาตรการระยะยาวนั้น รัฐบาลควรมีแผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและภัยพิบัติที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม โดยเสนอให้รัฐบาลน้อมนำแนวพระราชดำรัสเรื่องการจัดการน้ำของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาปฏิบัติ และศึกษาข้อผิดพลาดจากเหตุการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ เพื่อเตรียมแนวทางในการแก้ไขต่อไป เนื่องจากภาคธุรกิจและนักลงทุนต่างประเทศต้องการความมั่นใจว่าเหตุการณ์แบบเดียวกันนี้จะไม่เกิดขึ้นอีกในอนาคต

และเสนอให้รัฐบาลเร่งรัดการดำเนินนโยบายการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การสร้างถนน ปรับปรุงระบบขนส่งสินค้าทางรถไฟ การสร้างเขื่อนและคันกั้นน้ำถาวร การขุดคลองระบายน้ำขนาดใหญ่ เป็นต้น รวมทั้งวางแผนการจัดทำ Zoning นิคมอุตสาหรรมใหม่โดยให้มีการกระจายไปอยู่ในภูมิภาคต่างๆ ที่ไม่มีความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาอุทกภัย เพื่อลดความเสี่ยงกรณีเกิดภัยพิบัติในบางพื้นที่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ