ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์ก:ดาวโจนส์ปิดบวก25.43จุดหลังศก.สหรัฐส่งสัญญาณดีขึ้น แต่ยังวิตกหนี้ยูโร

ข่าวหุ้น-การเงิน Saturday November 19, 2011 07:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดดีดตัวขึ้นเมื่อคืนนี้ (18 พ.ย.) จากสัญญาณที่เป็นบวกของเศรษฐกิจสหรัฐ หลังดัชนีชี้นำเศรษฐกิจเดือนต.ค.ของคอนเฟอเรนซ์ บอร์ด ปรับตัวสูงเกินคาด อย่างไรก็ตาม ดัชนี S&P 500 และ Nasdaq อ่อนตัวลง เนื่องจากนักลงทุนยังคงไม่แน่ใจเกี่ยวกับสถานการณ์หนี้ยุโรป รวมถึงความวิตกกังวลระลอกใหม่เกี่ยวกับการอภิปรายเรื่องหนี้สาธารณะของสหรัฐ

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปรับตัวขึ้น 25.43 จุด หรือ 0.22% ปิดที่ 11,796.16 จุด ขณะที่ ดัชนี S&P 500 ขยับลง 0.48 จุด หรือ 0.04% ปิดที่ 1,215.65 จุด และดัชนี Nasdaq ลดลง 15.49 จุด หรือ 0.60% ปิดที่ 2,572.50 จุด

นักวิเคราะห์กล่าวว่า ดัชนีดาวโจนส์เคลื่อนไหวในแดนบวกเป็นส่วนใหญ่ โดยได้รับปัจจัยหนุนจากข้อมูลที่บ่งชี้ว่า เศรษฐกิจสหรัฐอาจกระเตื้องขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ เมื่อคอนเฟอเรนซ์ บอร์ด เปิดเผยว่า ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจสหรัฐปรับตัวขึ้น 0.9% ในเดือนต.ค. ซึ่งดีกว่าการคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์

อย่างไรก็ตาม ความวิตกกังวลที่ยังคงมีอยู่เกี่ยวกับแนวโน้มปัญหาหนี้ยุโรป ได้ส่งผลกดดันบรรยากาศการซื้อขายโดยรวม นอกจากนี้ นักลงทุนยังคงจับตาการอภิปรายหนี้สหรัฐรอบใหม่ของคณะกรรมการร่วมระหว่างสองพรรคการเมือง หรือ Super Committee ว่าคณะกรรมการจะสามารถตกลงกันได้หรือไม่เกี่ยวกับแผนการลดงบประมาณรายจ่ายและเพิ่มภาษีเพื่อให้สภาคองเกรสพิจารณาลงมติในสัปดาห์หน้า

วานนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลยุโรปปรับตัวลดลงจากระดับสูงในช่วงก่อนหน้านี้ ซึ่งนักลงทุนบางส่วนเชื่อว่าเป็นเพราะธนาคารกลางยุโรปได้เข้าซื้อพันธบัตรเพื่อช่วยประเทศที่ประสบภาวะหนี้สิน

โดยในระยะนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรของประเทศในยูโรโซนพุ่งสูงขึ้นมาก โดยเมื่อวันพฤหัสบดี รัฐบาลสเปนขายพันธบัตรอายุ 10 ปีได้ 3.56 พันล้านยูโร (4.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายสูงสุดที่กระทรวงการคลังสเปนกำหนดไว้ที่ 4 พันล้านยูโร ขณะที่อัตราผลตอบแทนอยู่ที่ 6.97% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2540 และสูงกว่าระดับ 5.43% ในการประมูลเมื่อวันที่ 20 ต.ค.

ขณะที่ผลการประมูลพันธบัตรของรัฐบาลอิตาลีเมื่อวันจันทร์ระบุว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 5 ปีพุ่งขึ้นสู่ระดับ 6.29% ซึ่งสูงกว่าระดับ 5.32% ในการประมูลเมื่อเดือนที่แล้ว และถือเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่อิตาลีเข้าร่วมก่อตั้งกลุ่มยูโรโซน ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีพุ่งขึ้นสู่ระดับ 6.76%

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่ระดับสูงของสเปนและอิตาลีถูกมองว่าเป็นอันตราย เนื่องจากทั้งกรีซและโปรตุเกสได้ถูกบีบให้ต้องขอรับความช่วยเหลือทางการเงินจากต่างประเทศ หลังจากที่บอนด์ยิลด์พุ่งแตะระดับที่ใกล้เคียงกันนี้

ขณะเดียวกัน การแก้ไขปัญหาหนี้ยุโรปก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะได้ข้อยุติ เนื่องจากบรรดาผู้นำในภูมิภาคยังมีความเห็นแยกกันไปคนละทิศคนละทางเกี่ยวกับวิธีดำเนินการ โดยเยอรมนีและฝรั่งเศส ซึ่งเป็นสองหัวเรือใหญ่ในยูโรโซน เห็นไม่ตรงกันเรื่องบทบาทหน้าที่ของอีซีบี ขณะที่อังกฤษก็มีมุมมองที่แตกต่างออกไป

นางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ปฏิเสธข้อเรียกร้องของฝรั่งเศสที่ให้อีซีบีทำหน้าที่เป็นที่พึ่งสุดท้ายสำหรับวิกฤตหนี้ โดยระบุว่าข้อเสนอที่ต้องการให้อีซีบีมาเป็นผู้ปล่อยกู้ รวมถึงการออกพันธบัตรสกุลเงินยูโรนั้น จะไม่ช่วยคลี่คลายปัญหา

นางแมร์เคิล และ นายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอน ของอังกฤษ ได้ประชุมร่วมกันที่กรุงเบอร์ลินเมื่อวานนี้ โดยถึงแม้ว่าผู้นำทั้งสองจะเน้นย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของยุโรปเพื่อฝ่าฟันวิกฤตหนี้ครั้งเลวร้ายนี้ไปให้ได้ แต่ทั้งนางแมร์เคิลและนายคาเมรอนก็ไม่ได้สร้างความคืบหน้าใดๆจากการพบปะพูดคุยกันในครั้งนี้ แถมยังไม่สามารถลบความเห็นต่างเกี่ยวกับวิธีการแก้ปัญหา โดยนายคาเมรอนเรียกร้องให้มีการดำเนินการอย่างเด็ดขาด ขณะที่นางแมร์เคิลเห็นว่าควรจะใช้แนวทางแก้ปัญหาไปทีละขั้นมากกว่า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ