AOT มั่นใจน้ำไม่ท่วมสุวรรณภูมิ ส่วนดอนเมือง-สนญ.ใช้งบฟื้นฟูพันลบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday November 25, 2011 13:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ว่าที่เรืออากาศโทอนิรุทธิ์ ถนอมกุลบุตร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย(AOT) หรือ ทอท. กล่าวว่า ตามที่ได้เกิดอุทกภัยในพื้นที่ต่างๆ ของ กทม.และปริมณฑล สิ่งที่ ทอท.ได้รับผลกระทบ คือ ท่าอากาศยานดอนเมือง(ทดม.) และสำนักงานใหญ่มีน้ำท่วมเต็มพื้นที่จนไม่สามารถเปิดให้บริการได้ และสายการบินที่ ทดม.รวมทั้งพนักงานต้องย้ายมาให้บริการและทำงานที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ(ทสภ.)

สำหรับการป้องกันน้ำท่วม ทสภ.นั้นมั่นใจว่า จะไม่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยครั้งนี้อย่างแน่นอน เนื่องจาก ทสภ.ได้มีการออกแบบระบบป้องกันน้ำท่วมไว้อย่างดี ประกอบด้วย เขื่อนดินที่มีฐานเขื่อนกว้าง 37 เมตร ความสูง 3.5 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลางความยาวล้อมรอบพื้นที่ท่าอากาศยาน 23.5 กิโลเมตร ภายในพื้นที่ท่าอากาศยานมีระบบระบายน้ำและอ่างเก็บน้ำที่สามารถรองรับน้ำฝนได้ 4 ล้านลูกบาศก์เมตร และมีสถานีระบายน้ำอยู่ด้านทิศใต้จำนวน 2 สถานี ซึ่งมีศักยภาพในการระบายน้ำได้ 1 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน เขื่อนดินได้มีการออกแบบและก่อสร้างตามหลักวิศวกรรมมาตั้งแต่ปี 2538 แล้วเสร็จในปี 2542 ซึ่งเขื่อนดินมีความแข็งแรงและมั่นคงในการป้องกันน้ำหลากได้เป็นอย่างดีตามมาตรฐานที่ออกแบบไว้ และขณะนี้ ทสภ.เปิดให้บริการตามปกติ

ส่วน ทดม.ซึ่งได้รับผลกระทบจากอุทกภัยครั้งนี้โดยตรง และมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ที่รับผิดชอบประมาณ 3,000 ไร่ ทำให้ทางวิ่ง ทางขับ ลานจอดอากาศยาน ระบบไฟฟ้าสนามบิน ระบบไฟฟ้าแรงสูงที่จ่ายไฟให้แก่ระบบไฟฟ้าสนามบิน เครื่องช่วยการเดินอากาศ ทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก รวมถึงอาคารผู้โดยสาร อาคารสำนักงานท่าอากาศยานดอนเมือง และอาคารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการการบิน ระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการชำรุดเสียหาย ไม่สามารถให้บริการได้นั้น ทอท.ได้จัดทำแผนฟื้นฟู ทดม.เป็นการเร่งด่วน

โดยแบ่งการทำงานเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ใช้งบประมาณ 1,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 2 ขั้นคือ ขั้นที่ 1 เป็นการฟื้นฟูทางวิ่ง ทางขับ ระบบไฟฟ้าสนามบิน ระบบไฟฟ้ากำลังที่จ่ายให้กับระบบไฟฟ้าสนามบินและเครื่องช่วยการเดินอากาศของฝั่งตะวันออก(ด้านกองทัพอากาศ) ให้สามารถใช้งานได้อย่างเร่งด่วน เพื่อให้อากาศยานของส่วนราชการ ทางการทหารตลอดจนสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจของรัฐบาลเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล อีกทั้งสามารถรองรับภารกิจช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่จำเป็นต้องใช้อากาศยานในการอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงาน ซึ่งภายใต้แผนงานนี้มีการดำเนินงาน 5 ขั้นตอน ได้แก่ การล้างทำความสะอาดคราบต่างๆ การซ่อมแซมรันเวย์และทางขับด้านตะวันออก การฟื้นฟูไฟทางวิ่งทางขับ การฟื้นฟูระบบไฟฟ้ากำลังหรือพาวเวอร์ ซัพพลาย และการซ่อมแซมเครื่องสูบน้ำ รวมทั้งการตรวจสอบก่อนเปิดใช้สนามบิน

กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ AOT กล่าวว่า การดำเนินการดังกล่าวใช้งบประมาณ 489.2 ล้านบาท โดยได้รับอนุมัติจาก ครม.แล้ว ซึ่งการฟื้นฟูทางวิ่งฝั่งตะวันออกจะแล้วเสร็จและคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในสิ้นเดือนมกราคม 2555 โดยเป็นการเปิดให้อากาศยานของหน่วยราชการก่อน อย่างไรก็ตามต้องได้รับการรับรองมาตรฐานความปลอดภัยจากกรมการบินพลเรือนก่อนเปิดใช้งาน

ส่วนการฟื้นฟูระยะที่ 1 ขั้นที่ 2 ทอท.ต้องจัดสรรงบประมาณ 445 ล้านบาท เป็นการฟื้นฟูอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ อาคาร 1 เพื่อให้สามารถเปิดใช้บริการเชิงพาณิชย์ได้และสำนักงานใหญ่ ทอท. ส่วนแผนการฟื้นฟูระยะที่ 2 เป็นการฟื้นฟูในส่วนของทางวิ่งฝั่งตะวันตกและอาคารอื่นๆ เช่น อาคารผู้โดยสารภายในประเทศ อาคารคลังสินค้า เพื่อรองรับการเปิดให้เอกชนเข้ามาประกอบการใน 5 โครงการที่ ทอท.วางไว้เดิม อาทิ ศูนย์แสดงสินค้า การซ่อมเครื่องบินลำตัวแคบ เป็นต้น ซึ่งต้องขอความชัดเจนจากรัฐบาลอีกครั้ง นอกจากนี้ ทอท.จะหารือกับผู้ประกอบการต่างๆ เพื่อหามาตรการในการช่วยเหลือต่อไป

สำหรับการเปิดให้บริการ ทดม.อย่างเต็มรูปแบบจะต้องรอให้น้ำลดลงได้ทั้งหมด ขณะนี้มีการระบายน้ำออกผ่านทางคูคลองรอบสนามบินราว 3 แสนลูกบาศก์เมตรต่อวัน หาก กทม.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการบริหารจัดการน้ำทางด้านเหนือเข้าสู่ระบบคูคลองได้เพิ่มขึ้น ทอท.อาจพิจารณาการสูบน้ำออกในจุดที่ท่วมขังเพื่อให้สนามบินกลับมาใช้บริการได้เร็วที่สุด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ