ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยประจำสัปดาห์: มีมูลค่าการซื้อขายรวม 338,566 ลบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday December 6, 2011 09:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) สรุปภาวะตลาดตราสารหนี้ประจำสัปดาห์ (28 พฤศจิกายน — 2 ธันวาคม 2554) ปริมาณการซื้อขายตราสารหนี้มีมูลค่ารวม 338,566 ล้านบาท หรือเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณวันละ 67,713 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้านี้ประมาณ 8% ทั้งนี้เมื่อแยกตามประเภทของตราสารแล้วจะพบว่ากว่า 89% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมด หรือประมาณ 300,193 ล้านบาท เป็นการซื้อขายในตราสารหนี้ที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (State Agency Bond) ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นตราสารที่มีอายุคงเหลือค่อนข้างน้อย (ไม่เกิน 6 เดือน) ในขณะที่พันธบัตรรัฐบาลที่ออกโดยกระทรวงการคลัง (Government Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 32,533 ล้านบาท และหุ้นกู้ที่ออกโดยภาคเอกชน (Corporate Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 3,232 ล้านบาท หรือคิดเป็น 10% และ 1% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมดที่เกิดขึ้น ตามลำดับ

สำหรับพันธบัตรรัฐบาล รุ่นที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรกคือ รุ่น LB176A (อายุ 5.5 ปี), LB15DA (อายุ 4.0 ปี) และ LB17OA (อายุ 5.9 ปี) มีมูลค่าการซื้อขายในแต่ละรุ่นเท่ากับ 5,869 ล้านบาท 4,297 ล้านบาท และ 4,181 ล้านบาท ตามลำดับ ส่วนพันธบัตรที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย รุ่นที่มีปริมาณการซื้อขายสูงสุด 3 อันดับแรก คือรุ่น CB11D19A (อายุ 14 วัน), CB11D20A (อายุ 14 วัน) และ CB12301B (อายุ 90 วัน) มูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 75,684 ล้านบาท 69,817 ล้านบาท และ 16,624 ล้านบาท ตามลำดับ

ทางด้านหุ้นกู้ภาคเอกชน ที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรกนั้น ได้แก่หุ้นกู้ของบริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) (MINT17DA (A)) มูลค่าการซื้อขาย 347 ล้านบาท, หุ้นกู้ของบริษัท เหมราชพัฒนาที่ดิน จำกัด (มหาชน) (HEMRAJ16OA (A-)) มูลค่าการซื้อขาย 205 ล้านบาท และหุ้นกู้ของบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) (BJC157A (A+)) มูลค่าการซื้อขาย 203 ล้านบาท ตามลำดับ

เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Yield Curve) ปรับตัวลดลงตลอดทั้งเส้น โดยเฉพาะในช่วงตราสารที่มีอายุคงเหลือน้อยกว่า 10 ปี อัตราผลตอบแทนปรับตัวลดลงประมาณ 10 Basis Point ในขณะที่ตราสารที่มีอายุคงเหลือมากกว่า 10 ปี อัตราผลตอบแทนปรับตัวลดลงประมาณ 2 Basis Point (100 Basis point มีค่าเท่ากับ 1%) ทั้งนี้ภาพรวมของการซื้อขายตราสารหนี้ไทยในสัปดาห์ที่ผ่านมา เริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้งหนึ่งโดยมีสาเหตุทั้งจากปัจจัยภายในประเทศและปัจจัยภายนอกประเทศ เริ่มจากสถานการณ์น้ำท่วมในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครที่เริ่มคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (R/P 1 วัน) ลงอีก 0.25% ไปอยู่ที่ระดับ 3.25% มีผลทำให้นักลงทุนเริ่มกลับมามีความมั่นใจในการลงทุนมากขึ้น และคาดการณ์ว่าในอนาคตน่าจะมีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีกอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นแล้วจะมีผลทำให้ราคาตราสารหนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีแรงซื้อเข้าสู่ตลาดตราสารหนี้ในช่วงนี้อย่างหนาแน่น ในขณะที่วิกฤติหนี้สาธารณะในกลุ่มประเทศยุโรปก็เริ่มส่งสัญญาณว่ากำลังคลายตัวไปทิศทางที่ดีขึ้นเช่นกัน หลังจากที่ธนาคารกลางของประเทศต่างๆ จำนวน 6 แห่ง (สหรัฐอเมริกา, อังกฤษ, สหภาพยุโรป, ญี่ปุ่น, แคนาดา และสวิตเซอร์แลนด์) ร่วมมือกันลดดอกเบี้ยสำหรับการทำ Dollar SWAP ลง 50 basis point เพื่อเสริมสภาพคล่องในตลาดเงินให้กับประเทศในสหภาพยุโรป และเป็นการช่วยเหลือประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปทางอ้อม สำหรับวิกฤติหนี้สาธารณะที่กำลังเกิดขึ้น ส่งผลทำให้บรรยากาศการลงทุนในประเทศต่างๆทั่วโลกรวมถึงในประเทศไทยกลับมาปรับตัวดีขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

แต่ทั้งนี้ ในสัปดาห์ที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติกลับมียอดขายสุทธิ 5,816 ล้านบาทในตลาดตราสารหนี้ ซึ่งอย่างไรก็ตามมูลค่าการซื้อขายส่วนใหญ่ของนักลงทุนกลุ่มนี้ยังคงเน้นไปในตราสารระยะสั้น (มีอายุคงเหลือน้อยกว่า 1 ปี) เป็นหลัก จึงไม่ได้มีผลและแรงกดดันต่อการซื้อขายโดยรวมของตลาดแต่อย่างใด และสำหรับนักลงทุนรายย่อย ที่ถึงแม้จะมีสัดส่วนของการซื้อขายตราสารหนี้ในตลาดค่อนข้างน้อย แต่ในสัปดาห์ที่ผ่านมายังคงมียอดซื้อสุทธิอย่างต่อเนื่องประมาณ 2,785 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ