โบรกเกอร์หนุนเข้าซื้อ บมจ.อมตะ คอร์ปอเรชัน (AMATA) จากความได้เปรียบของทำเลที่ตั้งที่อยู่ภาคตะวันออกซึ่งไม่ถูกน้ำท่วมใหญ่ในครั้งนี้ ทำให้ได้รับความสนใจจากนักลงทุนมากขึ้นที่จะเข้าซื้อที่ดินในนิคมฯ ทำให้บริษัทตั้งเป้ายอดขายที่ดินในปี 55 สูงถึง 2,000 ไร่ โดยมีลูกค้าที่อยู่ระหว่างเจรจาพอสมควรแล้ว ขณะที่ปี 54 คาดว่าบริษัทจะมียอดขายที่ดิน 1,500 ไร่
มองธุรกิจยังเติบโตได้ดีต่อเนื่องจากรายได้การขายที่ดิน และค่าบริการสาธารณูปโภค แต่คงต้องติดตามยอดการขายที่ดินจริงจะเป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่ ประกอบกับการร่วมมือกับภาครัฐที่สร้างระบบป้องกันน้ำท่วมในอนาคตที่จะเป็นต้นทุนค่าใช้จ่ายของบริษัท ต้องติดตามรูปแบบการดำเนินการต่อไป
โบรกเกอร์ คำแนะนำ ราคาเป้าหมาย(บาท) บล.กรุงศรีฯ ซื้อเก็งกำไร 15.50 บล.เกียรตินาคิน ซื้อ 16.40 บล.ทรีนิตี้ ซื้อ 13.90 บล.เคจีไอ ซื้อ 12.60 บล.ดีบีเอสฯ ซื้อ 16.00 บล.กิมเอ็ง ซื้อ 13.00 บล.ไอร่า ซื้อ 22.50
นายชาตรี ศรีสมัยเจริญ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า AMATA จะเป็นนิคมอุตสาหกรรมที่มีความได้เปรียบมากขึ้นที่ได้รับความสนใจมากขึ้นจากนักลงทุนหลังเกิดน้ำท่วมใหญ่ในปีนี้ เนื่องจากอยู่ในเขตภาคตะวันออกที่ไม่ถูกน้ำท่วม แต่คงต้องระวังปัญหาภัยแล้ง ซึ่งเคยเกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา
ส่วนปี 54 บริษัทได้ตั้งเป้ายอดขาย 1,500 ไร่ แต่ทาง บล.กรุงศรีฯ ประเมินว่าน่าจะมียอดขายที่ดินทั้งปีที่ 1,350 ไร่ ตั้งแต่ต้นปี-ปัจจุบันบริษัทมียอดขาย 954 ไร่ ขณะที่รายได้จากการขายนิคมทั้งปีอยู่ที่ 1,820 ล้านบาท
“รายได้จากการขายที่ดินในปีนี้ค่อนข้างน้อย มีแต่งานเซ็นสัญญา แต่ยังไม่โอน โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลังที่มีการเซ็นสัญญาไม่ได้ เพราะบริษัทอยู่ระหว่างการพัฒนาที่ดิน ดังนั้นปีนี้บริษัทจะรับรู้รายได้จากของเก่ามากกว่า"นายชาตรี กล่าว
ส่วนปี 55 คาดการณ์ว่าบริษัทจะมียอดขายที่ดิน 1,500 ไร่และทำกำไรเติบโต 28% หรืออยู่ที่ 956 ล้านบาท แม้ทางบริษัทจะตั้งเป้ามียอดขายที่ดิน 2,000 ไร่ก็ตาม แต่มองว่าในหลายๆ ปีที่ผ่านมาบริษัทมีโอกาสพลาดเป้าได้มาก โดยเฉพาะในปีหน้าที่มีปัจจัยเสี่ยงทั้งเรื่องเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศยูโรโซน รวมถึงภาพรวมการลงทุนในไทยหลังเกิดน้ำท่วม ในขณะที่ประเทศเกิดใหม่ เช่น กัมพูชา พม่า อาจจะมีแรงดึงดูดการลงทุนในระยะยาวที่จะเป็นคู่แข่งสำคัญของไทยในระยะ 3-5 ปีข้างหน้า
อย่างไรก็ตาม หลังเกิดน้ำท่วมใหญ่ทำให้นิคมอุตสาหกรรมต้องวางระบบป้องกันน้ำท่วม ซึ่งในส่วนของ AMATA ประกาศว่าจะมีการร่วมมือกับทางการในการวางระบบป้องกันน้ำท่วม โดยภาครัฐจะออกค่าใช้จ่าย 70% ส่วนบริษัท 30% แต่ยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับรูปแบบการป้องกันและการจัดการกับภาระต้นทุนดังกล่าวที่เกิดขึ้น
“ตอนนี้เจ้าของนิคมฯที่ถูกน้ำท่วมคงไม่รอรัฐบาล แต่คงต้องช่วยตัวเองวางแผนป้องกันน้ำ เพราะหากไม่ทำก็จะกลายเป็นจุดด้อย...ต่อไปนิคมฯก็จะมีต้นทุนในการป้องกันน้ำเชื่อว่าคงจะต้องมีการผลักภาระค่าใช้จ่ายให้ลูกค้า ส่วนจะเป็นรูปแบบไหนก็ต้องดูว่าแต่ละแห่งจะออก Model กัน ตอนนี้ยังไม่เห็นภาพ"นายชาตรี กล่าว
นางสาววิชชุดา ปลั่งมณี รองผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บล.เกียรตินาคิน ออกบทวิเคราะห์ว่า เริ่มเห็นสัญญาณการขายที่ดินที่มีโอกาสเติบโตของ AMATA ที่มีลูกค้าในมือที่อยู่ระหว่างการเจรจาพอควร ทำให้บริษัทมั่นใจในการปรับเป้ายอดขายที่ดินจากเดิม 1,800 ไร่ เป็น 2,000 ไร่ ในปี 55 โดยไม่รวมยอดขายจากประเทศจีนที่มีแผนลงทุนร่วมกัน Holly ที่ใช้ที่ดินประมาณ 600-1,000 ไร่ อย่างไรก็ตาม ยังคงประมาณการอนุรักษ์นิยมยอดขายที่ดินในปี 55 ของ AMATA ไว้ตามเดิมที่ 1,400 ไร่
ประเด็นบวกที่สร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนพอควร คือ AMATA ไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม และความสนใจที่ยังคงอยู่ของนักลงทุนต่างชาติในกลุ่มยานยนต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศญี่ปุ่น กำจัดความกังวลบางส่วนในเรื่องการย้ายฐานการผลิตยานยนต์ แต่ยังคงต้องติดตามยอดขายที่เกิดเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน
ราคาที่เหมาะสมปี 55 ที่ 16.40 บาท ยังคงแนะนำ“ซื้อ"มองผลประกอบการปี 55 ยังมีโอกาสเติบโตจากรายได้ขายที่ดิน โดยมี Backlog รอรับรู้รายได้ 3,000 ล้านบาท รายได้สาธารณูปโภคน้ำและไฟฟ้าตามจำนวนกลุ่มลูกค้าในนิคมฯ และรายได้ค่าเช่าเพิ่มขึ้น โดยประมาณการรายได้ทั้งปีไว้ที่ 4,700 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,100 ล้านบาท และคาดจ่ายปันผลได้ 34 สตางค์ต่อหุ้น ให้ผลตอบแทน 3% ราคาที่เหมาะสม