นายชัยพร น้อมพิทักษ์เจริญ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.บัวหลวง (BLS) เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ว่า บริษัทตั้งเป้าหมายดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยในปี 55 ไว้ที่ 1,240 จุด เพิ่มขึ้นจากเป้าหมายของปีนี้ที่ 1,020 จุด โดยประเมินว่าผลกำไรของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จะมีการเติบโต 12% ซึ่งเป็นการคำนวณรวมถึงปัจจัยการปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลลงเหลือ 23% จากเดิม 30% แล้ว รวมถึงการปรับขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำ 300 บาท/วันด้วยเช่นกัน
สำหรับปี 54 คาดว่าผลกำไรของบริษัทจดทะเบียนจะมีการเติบโตราว 15-16% ซึ่งได้ปรับลดลงจากเดิมที่คาดว่าจะเติบโต 22% ทั้งนี้เป็นผลจากภาวะน้ำท่วมที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ดีคงจะต้องรอดูว่าภาคการผลิตจะสามารถกลับมาผลิตสินค้าได้เหมือนเดิมเร็วแค่ไหน แต่ทั้งนี้ก็ได้ตั้งสมมติฐานไว้ว่าน่าจะกลับมาผลิตได้ในช่วงกลางไตรมาส 1 ปีหน้า(2555)
นายชัยพร มองว่า ตลาดหุ้นไทยในปีหน้าจะเล่นยาก เพราะปัญหาหนี้สินในยุโรปคงจะยังไม่จบภายในสิ้นปีนี้ และถ้าหากมีการประชุมผู้นำในยุโรปเสร็จแล้ว กว่าจะเดินหน้าทำอะไรได้ก็คงจะเป็นไตรมาส 2/55 ดังนั้น ตลาดฯคงจะเป็นลักษณะของการเทรดในกรอบไปจนกว่าจะมีความชัดเจน
ดังนั้น หุ้นที่พอจะเลือกลงทุนได้เป็นหุ้นในกลุ่ม ICT, กลุ่ม Commerce รวมถึงหุ้น Defensive อย่างกลุ่มอาหาร เป็นต้น ส่วนหุ้นในกลุ่มแบงก์, กลุ่มพลังงาน และปิโตรเคมี ก็คงจะเป็นลักษณะของการเล่นเทรดดิ้งมากกว่า
"นอกจากนี้ยังต้องดูทิศทางอัตราดอกเบี้ยด้วยว่าจะปรับตัวลงเยอะไหม เศรษฐกิจไทยถ้าไม่รับ Impact จากนอกประเทศมาก การลดดอกเบี้ยก็น่าจะเป็นไปได้แค่ 1 ครั้ง แต่ถ้า อียู มีปัญหามากจะลดดอกเบี้ยได้ราว 3 ครั้ง ดังนั้นปี 2555 จึงเป็นลักษณะของ Timing มากกว่า จึงควรเน้น value มากกว่า และควรจะมี Growth ด้วย อย่าง SC เป็นต้น พื้นฐานดี หนี้น้อย และมี Cash Flow ดีด้วย"ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ฯ BLS กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"
นายชัยพร กล่าวต่อว่า สำหรับตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP)ของไทยในปี 55 คาดว่าจะเติบโต 4.3% สูงกว่าปีนี้ที่คาดว่า GDP จะเติบโต 2.6% ลดลงจากเดิมที่คาดโต 4.5% รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วม โดยเศรษฐกิจในปีหน้าเติบโตได้ดีจากแรงหนุนการฟื้นฟูประเทศภายหลังน้ำลด
ขณะที่การส่งออกปีหน้าคงจะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจภายนอกประเทศ และภายหลังจากน้ำท่วมแล้ว ออเดอร์คงจะไม่กลับมาเหมือนเดิม ส่วนอัตราเงินเฟ้อในปี 55 คาดว่าจะอยู่ในระดับปกติราว 3% ซึ่งไม่น่าเป็นห่วง เพราะอัตราเงินเฟ้อจะน่าเป็นห่วงก็ต่อเมื่อปรับตัวขึ้นไปมากกว่า 4.5%