ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์กดาวโจนส์ร่วง 131.46 จุดหลังบอนด์ยีลด์อิตาลีพุ่ง

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday December 15, 2011 06:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (14 ธ.ค.) เนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับการลุกลามของวิกฤตหนี้ยุโรป หลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรของอิตาลีพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และจากรายงานที่ว่านายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคลของเยอรมนี ยังคงเดินหน้าคัดค้านข้อเสนอการปรับเพิ่มเพดานการปล่อยเงินกู้ของกองทุนกลไกรักษาเสถียรภาพยุโรป (ESM)

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ร่วงลง 131.46 จุด หรือ 1.10% ปิดที่ 11,823.48 จุด ดัชนี S&P 500 ลดลง 13.91 จุด หรือ 1.13% ปิดที่ 1,211.82 จุด และดัชนี Nasdaq ร่วงลง 39.96 จุด หรือ 1.55% ปิดที่ 2,539.31 จุด

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า นอกเหนือจากความผิดหวังต่อผลการประชุมล่าสุดของผู้นำสหภาพยุโรป (อียู) แล้ว นักลงทุนยังวิตกกังวลว่า วิกฤตหนี้ยุโรปอาจจะลุกลามไปไกลกว่าที่คิด หลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 5 ปีของอิตาลีพุ่งขึ้นแตะระดับ 6.47% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ค.2540 หรือในรอบ 14 ปี หรือก่อนที่จะเริ่มมีการใช้เงินยูโรในปี 2542 ในการประชุมพันธบัตรครั้งล่าสุดเมื่อวานนี้

ต้นทุนการกู้ยืมของอิตาลีปรับตัวสูงขึ้นมากในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับหนี้สินจำนวนมหาศาลของรัฐบาลอิตาลี ที่ราว 1.9 ล้านล้านยูโร หรือประมาณ 120% ของจีดีพี ซึ่งทำให้อิตาลีถูกมองว่ามีขนาดใหญ่เกินกว่าที่ประเทศสมาชิกในยูโรโซนจะสามารถให้ความช่วยเหลือได้ด้วยกองทุนกู้วิกฤต

ตลาดได้รับแรงกดดันมากขึ้นเมื่อมีรายงานว่า นายกรัฐมนตรีแมร์เคลของเยอรมนียังคงเดินหน้าคัดค้านการปรับเพิ่มเพดานการปล่อยเงินกู้ของกองทุน ESM และนายเจนส์ ไวด์แมน ประธานธนาคารกลางเยอรมนียังได้ออกมาคัดค้านแผนการเพิ่มทุนให้กับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) แม้ที่ประชุมอียูเมื่อสัปดาห์ที่แล้วมีมติให้อัดฉีดเงิน 2 แสนล้านยูโรให้กับไอเอ็มเอฟก็ตาม

นอกจากนี้ ภาวะการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กยังเป็นไปอย่างซบเซา เมื่อสถาบัน Ifo คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจเยอรมนีจะขยายตัวเพียง 0.4% ในปี 2555 อันเป็นผลมาจากวิกฤตหนี้ยุโรปและเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา ซึ่งตัวเลขดังกล่าวต่ำกว่าที่รัฐบาลคาดการณ์ไว้ว่าจะขยายตัว 0.9%

กระแสความวิตกกังวลเกี่ยวกับการลุกลามของวิกฤตหนี้ยุโรปได้ฉุดหุ้นกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ และกลุ่มอุตสาหกรรมร่วงลงอย่างหนัก โดยหุ้นแคทเตอร์พิลลาร์ อิงค์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์สำหรับงานก่อสร้างและเหมืองแร่ ดิ่งลง 4.4% ซึ่งเป็นการร่วงลงหนักสุดในบรรดาหุ้นบลูชิพที่คำนวณในดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์

ขณะที่หุ้นกลุ่มพลังงานร่วงลงตามราคาน้ำมันดิบ NYMEX หลังจากกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ประกาศกำหนดเพดานการผลิตไว้ที่ 30 ล้านบาร์เรล/วัน โดยหุ้นอาปาเช ดิ่งลง 5% และหุ้นเชฟรอน คอร์ป ร่วงลง 2.9%

หุ้นเอวอน ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องสำอางค์ ร่วงลง 5% หลังจากมีข่าวว่านายอังเดร จุง ซีอีโอของเอวอนจะประกาศลาออกจากตำแหน่ง

หุ้นเฟิร์สท์ โซลาร์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตระบบพลังงานแสงอาทิตย์ ดิ่งลง 21% ซึ่งเป็นการปรับตัวลงหนักสุดในบรรดาหุ้นที่คำนวณในดัชนี S&P 500 หลังจากบริษัทปรับลดคาดการณ์ผลประกอบการในปีนี้ เนื่องจากอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก และรัฐบาลสหรัฐลดงบประมาณสนับสนุนโครงการพลังงานทดแทน

นักลงทุนจับตาดูข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้ โดยวันพฤหัสบดี กระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนพ.ย. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐเปิดเผยข้อมูลการผลิตในภาคอุตสาหกรรม ส่วนวันศุกร์ กระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนพ.ย.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ