บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศผลอันดับเครดิตให้แก่หุ้นกู้มีการค้ำประกันในวงเงินไม่เกิน 1,000 ล้านบาทของ บมจ.สยามแก๊ส แอนด์ ปิโตรเคมีคัลส์(SGP) ที่ระดับ “A+" พร้อมทั้งคงอันดับเครดิตองค์กรของบริษัทที่ระดับ “BBB+" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่"
ทั้งนี้ หุ้นกู้ของบริษัทค้ำประกันโดยธนาคารกสิกรไทย ซึ่งได้รับการจัดอันดับเครดิตโดย Standard & Poor’s (S&P’s) ที่ระดับ “BBB+" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่" (International Scale) และธนาคารธนชาต ซึ่งได้รับการจัดอันดับเครดิตโดยทริสเรทติ้งที่ระดับ “A+" ด้วยแนวโน้ม “Positive" หรือ “บวก" (National Scale)
ธนาคารทั้ง 2 แห่งต่างมีภาระในการค้ำประกันหุ้นกู้ดังกล่าวในสัดส่วน 50% (รวมภาระการค้ำประกันของทั้ง 2 ธนาคารเท่ากับ 100%) ของมูลค่าหุ้นกู้รวมดอกเบี้ยและดอกเบี้ยผิดนัด โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ไปใช้ชำระหนี้เดิมที่มีอยู่
อันดับเครดิตองค์กร SGP ที่ระดับ “BBB+" สะท้อนถึงสถานะของบริษัทในการเป็นผู้ค้าก๊าซปิโตรเลียมเหลว(LPG) ที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ในประเทศไทย รวมถึงการมีเครือข่ายกระจายสินค้าที่แข็งแกร่ง และฐานลูกค้าที่กระจายทั่วประเทศ ในขณะที่อันดับเครดิตหุ้นกู้มีการค้ำประกันที่ระดับ “A+" สะท้อนถึงการได้รับการค้ำประกันจากธนาคารกสิกรไทยและธนาคารธนชาตด้วย
อย่างไรก็ตาม การพิจารณาอันดับเครดิตดังกล่าวยังคำนึงถึงความไม่แน่นอนของกฎระเบียบและความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจที่เพิ่มขึ้นจากการที่บริษัทมีสัดส่วนการค้าก๊าซ LPG ระหว่างประเทศที่สูงขึ้นด้วย
ขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable"หรือ“คงที่" สะท้อนถึงความคาดหมายว่าบริษัทจะยังคงสามารถรักษาสถานะในการเป็นผู้ค้าก๊าซ LPG รายใหญ่อันดับ 2 ในประเทศไทยเอาไว้ได้ นอกจากนี้ ยังคาดว่าบริษัทจะสามารถรักษาสถานะทางการเงินและสภาพคล่องให้เพียงพอสำหรับรองรับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากการดำเนินธุรกิจค้าก๊าซ LPG ในต่างประเทศ
SGP ก่อตั้งเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2544 โดยกลุ่มตระกูลวีรบวรพงศ์ และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2551 โดย ณ เดือนสิงหาคม 2554 กลุ่มตระกูลวีรบวรพงศ์ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของบริษัทในสัดส่วน 66.7%
บริษัทเป็นผู้ค้าก๊าซ LPG รายใหญ่อันดับ 2 ในประเทศไทย โดยการดำเนินธุรกิจในประเทศของบริษัทประกอบด้วยการค้าก๊าซ LPG ภายใต้ตราสัญลักษณ์ “สยามแก๊ส" และ “ยูนิคแก๊ส" ซึ่งมีส่วนแบ่งทางการตลาดในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2554 ที่ระดับ 27.6% รองจาก บมจ.ปตท.(PTT) (39.5%)
นอกจากนี้ บริษัทยังประกอบธุรกิจค้าก๊าซแอมโมเนียและสินค้าปิโตรเคมีอื่น ๆ ด้วย บริษัทมีโครงข่ายการกระจายสินค้าทั่วประเทศที่แข็งแกร่ง โดย ณ เดือนมิถุนายน 2554 มีคลังเก็บก๊าซ LPG จำนวน 7 แห่ง โรงบรรจุก๊าซ LPG จำนวน 176 แห่ง และสถานีบริการก๊าซ LPG สำหรับยานยนต์จำนวน 422 สถานี นอกจากนี้ บริษัทยังมีระบบขนส่งก๊าซที่หลากหลาย รวมทั้งให้บริการขนส่งสินค้าทางทะเลเพื่อสนับสนุนธุรกิจค้าก๊าซ LPG ของบริษัทด้วย
ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา บริษัทมีปริมาณการค้าก๊าซ LPG โดยเฉลี่ย 1 ล้านตันต่อปีในประเทศไทย โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2554 การค้าก๊าซ LPG สำหรับกลุ่มครัวเรือนคิดเป็น 66.3% ของปริมาณขายในประเทศของบริษัท สำหรับกลุ่มยานยนต์คิดเป็น 24.1% และสำหรับกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมคิดเป็น 9.5%
ตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา บริษัทได้ขยายธุรกิจค้าก๊าซ LPG ไปยังหลายประเทศ ได้แก่ ประเทศจีน เวียดนาม และสิงคโปร์ โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2554 สัดส่วนการค้าก๊าซ LPG ในต่างประเทศคิดเป็น 32.7% ของปริมาณการค้าก๊าซ LPG ทั้งหมดของบริษัท โดยบริษัทตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนการค้าก๊าซ LPG ในต่างประเทศให้อยู่ในระดับ 50% ของยอดขายรวมภายในปี 2557 โดยภายหลังจากการซื้อหุ้น 100% ใน BP Zhuhai LPG Co., Ltd. ในเดือนธันวาคม 2553 และ 100% ใน Chevron Ocean Gas & Energy Ltd. ในเดือนมิถุนายน 2554 แล้ว บริษัทจะใช้คลังเก็บก๊าซ LPG ในประเทศจีนเป็นฐานสำหรับการค้าก๊าซทั้งในประเทศจีนและประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้ว่าการซื้อกิจการในต่างประเทศจะเป็นการเปิดโอกาสทางธุรกิจ แต่ก็เป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้แก่บริษัทมากขึ้นจากสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจที่ไม่คุ้นเคยในประเทศเหล่านั้นและความผันผวนของราคาก๊าซ LPG ในตลาดโลก
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า SGP มีผลดำเนินงานที่น่าพอใจ อย่างไรก็ตาม สถานะทางการเงินของบริษัทอ่อนแอลงเนื่องจากการขยายการลงทุนอย่างรวดเร็วในช่วงปี 2553-2554 ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2554 บริษัทมีปริมาณการขายก๊าซ LPG เพิ่มขึ้น 48.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีรายได้รวมเพิ่มขึ้น 74.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งเป็นผลมาจากการค้าก๊าซ LPG ในต่างประเทศเป็นหลัก
อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ลดลงเป็น 4.6% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2554 จาก 9.5% ในปี 2553 เนื่องจากการขาดทุนจากสินค้าคงเหลือและการมีค่าใช้จ่ายสำหรับกิจการในต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการแข่งขันการค้าก๊าซ LPG สำหรับกลุ่มยานยนต์ที่ทวีความรุนแรง การซื้อกิจการในช่วงปี 2553-2554 และการเพิ่มระดับสินค้าคงคลังสำหรับธุรกิจในต่างประเทศส่งผลให้บริษัทมีเงินกู้รวมเพิ่มเป็น 10,004 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2554 และอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนเพิ่มขึ้นเป็น 59.5% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2554 ทั้งนี้ คาดว่าอัตราส่วนดังกล่าวจะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นหลังจากการลงทุนในโครงการต่างประเทศสร้างผลตอบแทนให้แก่บริษัทอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย