NNCL น้ำท่วมทำลูกค้าเลื่อนซื้อที่110-120ไร่ไปปี55,ลุ้นญี่ปุ่นซื้อเพิ่ม

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday December 21, 2011 14:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายนิพิฐ อรุณวงษ์ ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการ บมจ.นวนคร(NNCL)เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ว่า เหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อนิคมอุตสาหกรรมนวนครใน จ.ปทุมธานี ทำให้ลูกค้าหลายรายของบริษัทได้เลื่อนการเซ็นสัญญาซื้อขายที่ดินในนิคมฯ ดังกล่าวออกไปจากปีนี้ รวมประมาณ 110-120 ไร่ โดยคาดว่าจะเซ็นสัญญาได้ในเดือน ม.ค.-ก.พ.55

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าไตรมาส 4/54 บริษัทคาดว่าจะขายที่ดินเข้ามาได้ประมาณ 50 ไร่ ราคาไร่ละ 5 ล้านบาท โดยจะเซ็นสัญญาได้ภายในสัปดาห์นี้ แต่ก็ทำให้รายได้ในไตรมาสนี้พลาดเป้าหมายไปมาก ซึ่งบริษัทกำลังรอผลการเจรจาขายที่ดินให้กับลูกค้ารายใหญ่ที่เป็นผู้ประกอบการจากญี่ปุ่น 2 ราย รายแรกวงเงิน 300 ล้านบาท อีกราย 400 ล้านบาท หากตกลงและเซ็นสัญญาซื้อขายที่ดินได้ก็จะช่วยให้ผลประกอบการปีนี้พลิกมีกำไรได้

"ลูกค้าที่อยู่ระหว่างอยู่เจรจา 5-6 รายใหญ่ ซึ่งทุกคนยืนยันว่า โอเค แต่ขอทำแผนชัดเจน ที่ปทุมธานีรวมๆแล้ว 160-170 ไร่ ซึ่งเป็นรายใหม่ทุกรายส่วนใหญ่เป็นญี่ปุ่นและนักลงทุนไทย ที่อยู่ในอุตสาหกรรมอาหาร ยา อิเล็กทรอนิกส์...อาทิตย์นี้จะเซ็นโอนที่ดิน มี 2 ราย ประมาณ 50 ไร่ เป็นญี่ปุ่น"นายนิพิฐ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ลูกค้าทุกรายต้องการแผนระยะยาวในการจัดการระบบน้ำและป้องกันปัญหาอุทกภัยของภาครัฐ ซึ่งเห็นว่าจะประกาศปลายเดือนธ.ค.นี้

นายนิพิฐ กล่าวว่า เหตุการณ์น้ำท่วมส่งผลกระทบต่อการรับรู้รายได้ เพราะหากไม่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวลูกค้าหลายรายคงจะโอนไปแล้ว จากที่คาดว่าไตรมาส 4/54 จะรับรู้รายได้จำนวนมาก ก็จะเปลี่ยนไปรอรับรู้รายได้ในช่วงต้นปี 55 น่าจะไม่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่งของที่ประเมินไป โดยขณะนี้เชื่อว่าจะโอนที่ดินให้กับลูกค้า 2 รายนี้ประมาณ 50 ไร่ ทีเหลือจะเป็นม.ค.-ก.พ. 55

"ปีนี้ 9 เดือน ขาดทุน 90 ล้านบาท ซึ่งใช้วิธีลงบันทึกบัญชีแบบใหม่เมื่อโอนถึงจะรับรู้รายได้ แต่ถ้าคิดแบบบัญชีเดิม จะมีกระแสเงินสด 140 ล้านบาท แต่พอคิดบัญชีแบบใหม่ ดูไม่ดี แต่หากมีการโอน 2 รายในสัปดาห์นี้จะพลิกกับมาเป็นบวกได้ ส่วนในปี 53 ยังบันทึกแบบเดิมที่ขายได้สามารรถบันทึกเป็นรายได้ โดยมีกำไรกว่า 70 ล้านบาท"นายนิพิฐ กล่าว

ปัจจุบัน บริษัทมียอดขายที่ดินรอโอน(backlog)ดีมาก หากปีหน้าไม่มีเหตุการณ์ใดเกิดขึ้นก็คาดว่าไตรมาส 1/55 ผลประกอบการจะกลับมาเป็นบวก ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากเลื่อนโอนมาในเดือน ม.ค.-ก.พ.55

นายนิพิฐ กล่าวว่า บริษัทได้ประเมินความเสียหายของนิคมอุตสาหกรรมนวนครที่ปทุมธานี โดยให้ผู้รับเหมาเข้ามาตีราคาซ่อมแซมโรงผลิตน้ำ โรงบำบัดน้ำเสีย และถนนภายในนิคมฯ ทั้งหมดไม่น่าเกิน 200 ล้านบาท ซึ่งส่วนหนึ่งได้จากเงินประกัน นอกจากนี้มีค่าสูญเสียรายได้ 2 เดือนรวมค่าบริการและขายน้ำที่ได้ทำประกันคุ้มครองไว้ ซึ่งบริษัทประมาณการณ์รายได้เดือนละ 40-50 ล้านบาท แต่ต้องเจรจากับบริษัทปรระกันก่อน คาดว่าจะได้รับเงินชดเชยทั้งหมดในช่วงที่นิคมอุตสาหกรรมนวนคร ปิดดำเนินการระหว่าง 17 ต.ค.- 17 ธ.ค.54

นายนิพิฐ กล่าวว ขณะนี้บริษัทกำลังเตรียมแนวทางป้องกันน้ำท่วมในอนาคต โดยหลักการที่คุยกันคือจะสร้างพนังกั้นน้ำสูงประมาณ 6.50 เมตรโดยรอบนิคมฯ เริ่มดำเนินการในเดือน ก.พ. 55 คาดแล้วเสร็จ ส.ค.55 ซึ่งจะใช้เงินกู้ปลอดดอกเบี้ย 7 ปี จากธนาคารออมสิน วงเงินไม่เกิน 600 ล้านบาท

"เรื่องน้ำท่วมยังไงก็มีผลต่อความเชื่อมั่น เพียงแต่ว่าที่คุยไปไม่มีใคร cancel แต่ทุกคนขอแผนชัดเจนแน่นอนว่าเราจะทำอย่างไร กับการป้องกันน้ำ เขาขอว่ายังไงก็ช่วยยืนยันเรื่องการสร้างพนังกั้นน้ำให้เขาด้วย เดิมที่เรามีพนังกั้นน้ำสูง 4.50 เมตร แต่ไม่พอ เพราะน้ำมาสูงสุดเกือบ 5 เมตร"กรรมการผู้จัดการ กล่าว

แนวทางของแผนธุรกิจปี 55 จะเน้นเรื่องการสร้างความเชื่อมั่น ซึ่งบริษัทคงต้องทำให้ลูกค้าเห็นเด่นชัดเรื่องแผนการป้องกัน การสร้างพนังกั้นน้ำ รวมทั้งการฟื้นตัวของสาธารณูปโภค ทั้งเพื่อความเชื่อมั่นให้ลูกค้าเดิมและช่วยให้กลับเข้าสู่การผลิตเร็วที่สุด รวมทั้งลูกค้ารายใหม่จะได้มีความเชื่อมั่นว่าโรงงานของเขาจะไม่ถูกน้ำท่วม

"เราไม่มีปัญหาเรื่องการขาย จริงๆแล้วถ้าไม่มีน้ำท่วม ปีนี้จะเป็นปีที่มีกำไรที่ดีมาก แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์น้ำท่วม ไม่ใช่แต่นวนคร แต่ทุกนิคมฯโดนหมด ฉะนั้นต้องเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมาให้เร็วที่สุด"นายนิพิฐ กล่าว

บริษัทยังเตรียมซื้อที่ดินบริเวณใกล้เคียงนิคมอุตสาหกรรมนวนครอีก 300 ไร่ เพื่อขยายพื้นที่นิคมออกไป เพื่อให้มีพื้นที่รอขายเพิ่มขึ้นเป็น 1 พันไร่ในปี 55 จากขณะนี้อยู่ที่ 600-700 ไร่

ส่วนนิคมฯ ของบริษัทอีกแห่งใน จ.นครราชสีมา เหลือที่ดินประมาณ 1,000 ไร่ ซึ่งขายดีมาก โดยเฉพาะช่วงหลังจากน้ำท่วม เช่น แคนนอนย้ายฐานการผลิตไปในนิคมฯดังกล่าวแล้ว และยังมีบริษัทซัพพลายเชนที่เป็นบริษัทญี่ปุ่นตามไปด้วย ทั้งนี้ผลประกอบการบริษัทได้ส่วนของโคราชมาช่วยได้บ้าง โดยราคาที่ดินถูกกว่าราคาขายพื้นที่นิคมฯที่ จ.ปทุมธานี คิดเทียบจำนวนที่ขายในนิคมปทุม 20 ไร่เท่ากับขายที่ในนิคมโคราช 80 ไร่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ