นางสาวอมรา เจริญกิจวัฒนกุล กรรมการ บมจ.สวนอุตสาหกรรมโรจนะ (ROJNA) เปิดเผยกับ "อินโฟเควสท์"ยอมรับว่า เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปีนี้ทำให้ผลการดำเนินงานของบริษัทไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ขณะที่ยังอยู่ระหว่างรอดูสถานการณ์ต่าง ๆ ก่อนจัดทำแผนธุรกิจในปี 55
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน บริษัทมียอดขายที่ดินรอโอน(backlog)ราว 700-800 ไร่ คาดว่าจะมีการโอนและรับรู้รายได้ในปี 55 ซึ่งเป็นลูกค้าที่เจรจากันก่อนเกิดเหตุการณ์น้ำท่วม และไม่มีสัญญาณที่ลูกค้าจะยกเลิกสัญญา ขณะเดียวกันหลังเกิดน้ำท่วมใหญ่ก็มีลูกค้ารายใหม่แสดงความสนใจซื้อที่ดินจากบริษัทเพิ่มขึ้นด้วย เนื่องจากมีความเชื่อมั่นในการให้บริการ
"ตอนนี้ไม่เห็นว่าจะมีลูกค้าที่จะย้ายออกจากนิคมฯ มีเป็นส่วนน้อยซึ่งไม่ได้เกิดจากเหตุน้ำท่วม แต่เป็นปัญหาของแต่ละบริษัทที่มีขึ้นอยู่แล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นรายเล็ก ส่วนลูกค้ารายใหญ่ยังคงอยู่กับนิคมฯ...ไม่มีสัญญาณที่ลูกค้าจะย้ายออก แต่กลับมีรายใหม่ที่สนใจจะซื้อที่ดินของเราเพิ่ม เพราะเห็นใน service ที่ดี " นางสาวอมรา กล่าว
สำหรับการฟื้นฟูพื้นที่ของนิคมอุตสาหกรรมโรจนะที่ถูกน้ำท่วมนั้น ในขณะนี้อยู่ระหว่างการซ่อมแซมมระบบสาธารณูปโภค โดยสภาพถนนในนิคมฯไม่มีปัญหา ส่วนโรงผลิตน้ำและบ่อบำบัดน้ำเสียเริ่มใช้งานได้ตามปกติแล้ว ขณะที่ลูกค้าภายในนิคมฯ อยู่ในช่วงการทำความสะอาดโรงงานและซ่อมแซมปรับเปลี่ยนเครื่องจักรต่างๆ คาดว่าจะเริ่มเดินเครื่องการผลิตได้เร็วที่สุดในอีก 3 เดือน ส่วนโรงงานขนาดใหญ่อาจต้องใช้เวลา 6 เดือน
นางสาวอมรา กล่าวอีกว่า ในการสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมนั้น บริษัทได้ตั้งงบประมาณจำนวน 2 พันล้านบาท โดยได้ยื่นขอกู้จากธนาคารออมสินไว้แล้ว แต่ยังติดเงื่อนไขหลายเรื่องที่ยังไม่สอดรับกับกระแสเงินลงทุน และการรับภาระค่าใช้จ่ายของลูกค้า โดยสินเชื่อดังกล่าวเป็นเสินเชื่อเงื่อนไขดอกเบี้ยพิเศษ 0.01% ระยะเวลา 7 ปี แต่บริษัทเห็นว่าระยะเวลายังน้อยเกินไป ต้องการให้ขยายระยะเวลาเป็น 15 ปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของภาครัฐ
สำหรับการสร้างเขื่อนดังกล่าว ถือเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน แต่ขณะเดียวกันมองว่ายังไม่ใช่เรื่องจำเป็นเร่งด่วน เพราะไม่เชื่อว่าจะเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมรุนแรงทุกปี หากหน่วยงานภาครัฐมีการบริหารจัดการน้ำที่ดีก็สามารถบรรเทาปัญหาน้ำท่วมรุนแรงได้ และเขื่อนป้องกันน้ำในปัจจุบันน่าจะรองรับระดับน้ำท่วมได้หากไม่รุนแรงเท่าปีนี้
"การสร้างเขื่อนใช้เวลาไม่นาน เพราะเป็นเขื่อนสำเร็จรูป ขึ้นอยู่กับ budget ตอนนี้ยังมีเงื่อนไขที่ขอกู้กับธนาคารออมสิน term ต่างๆ ยังไม่สอดรับ ตอนนี้ยังไม่มีผลสรุป ต้องคุยกันหลายเรื่อง ทั้ง breakeven ลูกค้าที่ต้องรับภาระค่าใช้จ่าย แรงจูงใจต่างๆ...ตอนนี้ยังไม่มีข้อสรุปว่าแบบเขื่อนแบบไหนเป็นที่พึงพอใจของนักลงทุนมากที่สุดหลังจากให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบ แต่ตั้งงบไว้ก่อนที่ 2 พันล้านบาท"นางสาวอมรา กล่าว