นายเปรมชัย กรรณสูตร ประธานบริหาร บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล็อปเม้นท์(ITD)มั่นใจว่า บริษัทไม่จำเป็นต้องเพิ่มทุน แม้จะต้องมีการลงทุนในโครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวายในสหภาพพม่า ซึ่งต้องใช้แหล่งเงินทุนจำนวนมาก เนื่องจากบริษัทจะเปิดให้พันธมิตรเข้ามาร่วมทุนในโครงการต่าง ๆ อีกทั้งขณะนี้สามารถขายที่ดินในโครงการได้แล้วถึง 5 หมื่นไร่ จากพื้นที่ทั้งหมด 1.6 แสนไร่ โดยจะทยอยรับรู้รายได้ตั้งแต่ปี 55 เป็นต้นไป
บริษัทมีแผนจะเปิดให้พันธมิตรเข้ามาถือหุ้นใน บริษัท ทวาย ดีเวลลอปเม้นท์ (DDC) ซึ่งขณะนี้ ITD ถือหุ้น 100% ซึ่งเป็นบริษัทที่เข้ามาบริหารจัดการและพัฒนาโครงการทวาย โดย ITD จะคงสัดส่วนการถือหุ้น 60% ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างเจรจาพันธมิตร 4-5 รายมีทั้งบริษัทจากไทยและญี่ปุ่น
สำหรับโครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมและท่าเรือน้ำลึกในทวาย คาดว่าจะสามารถสรุปผู้ร่วมทุนได้ภายในปี 55 ขณะนี้ได้เปิดให้เอกชนสัญชาติพม่าเข้ามาร่วมทุนด้วย ซึ่งแสดงความสนใจถือหุ้น 25% โดยจะดำเนินการทั้งหมด 6 โครงการ แต่ละโครงการ DDC จะเข้าถือหุ้นด้วย ได้แก่ โครงการท่าเรือน้ำลึก พื้นที่ 6,100 ไร่ และถนน 132 กิโลเมตรขณะนี้ได้ติดต่อใช้เงินกู้จากธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (เจบิค) คาดว่าจะใช้เงินลงทุน 3,500 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับโครงการท่าเรือน้ำลึกขณะนี้มีบริษัทญี่ปุ่นสนใจเข้ามาร่วมทุนด้วย
ทั้งนี้ ในวันที่ 7 ม.ค.55 รมว.คลังของไทยจะเข้าไปเจรจากับรัฐบาลพม่ากับเจบิค รวมทั้งสถานทูตญี่ปุ่นและแบงก์พาณิชย์ในการเข้ากู้เงินเป็นเงินกู้ระยะเวลา 20 ปี อัตราดอกเบี้ย 1-2.3% ปลอดภาษีระหว่างก่อสร้าง
ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน บนพื้นที่ 2,300 ไร่ จำนวน 2 โรง ประกอบด้วย โรงแรกขนาด 400 เมกะวัตต์ และโรง 2 ขนาด 3,600 เมกะวัตต์ คาดว่าจะใช้เงินทุน 7,300 ล้านเหรียญสหรัฐ คาดว่าจะได้ข้อสรุปโครงสร้างการถือหุ้นของโรงไฟฟ้าดังกล่าวภายในไตรมาส 1/55 โดยเบื้องต้น DCC จะถือหุ้น 40% บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง(RATCH)ถือ 30% ขณะที่พันธมิตรที่กำลังเจรจา ได้แก่ ญึ่ปุ่น เกาหลี และจีนซึ่งจะเข้ามาถือหุ้นในสัดส่วน 30%
ด้านโครงการโรงถลุงเหล็กและผลิตเหล็กรีดร้อน ใช้ที่ดิน 13,750 ไร่ โดย DCC ถือหุ้น 50% ส่วนที่เหลือจะเปิดให้พันธมิตรเข้ามาถือหุ้น คาดว่าการเจรจาจะได้ข้อสรุปในช่วงครึ่งแรกของปี 55 นอกจากนี้ มีโครงการออยล์แอนด์แก็ส บนพื้นที่ 8,700 ไร่, โครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ บนพื้นที่ 17,200 ไร่ โครงการผลิตปุ๋ย พื้นที่ 2,400 ไร่ ทั้งหมดอยู่ระหว่างเจรจาพันธมิตรเข้ามาร่วมทุนคาดสรุปได้ภายในปีหน้าเช่นกัน
นายเปรมชัย กล่าวว่า นักลงทุนสนใจลงทุนในโครงการทวายเป็นอย่างมาก เพราะเป็นโครงการที่ดี เนื่องจากเป็นจุดเชื่อมต่อยุโรปตะวันออก อินเดีย อาฟริกาตะวันออก ถือเป็น"อาเซียน รีเจอนัล ฮับ"และยังเป็นฟรีเทรดโซนที่มีท่าเรือน้ำลึกที่ใกล้กับโรงงานผลิต โดยบริษัทกำลังเจรจาต่อรองกับรัฐบาลพม่าให้มีการขยายเวลาลดภาษีนำเข้า เพื่อให้สอดคล้องกับข้อตกลงประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC)
บริษัทเชื่อว่าโครงการนี้จะสร้างประโยชน์ระยะยาวจากการเข้าลงทุนในแต่ละโครงการ นอกเหนือจากกำไรที่ได้รับจากการขายที่ดินในนิคมฯ และงานก่อสร้างทั้งหมดภายในนิคมฯ ที่ ITD จะเป็นผู้รับเหมารายเดียว แม้ว่าขณะนี้บริษัทจะมีภาระดอกเบี้ยจ่ายปีละ 2,000 ล้านบาทก็ตาม
"บริษัทไม่คิดว่าจะขาดทุนอย่างนี้ไปตลอดทั้งงานก่อสร้างก็ได้ทยอยเข้ามา ดูแล้วไม่มีการขาดทุนเพราะเราตั้งราคาเองทำโปรเจ็กต์คิดว่าวันหนึ่งก็จะต้องมีรีเทิร์น โครงการทวายคิดว่าจะเห็นกำไรชัดเจนใน 2-3 ปีข้างหน้า" นายเปรมชัย กล่าว
ด้านนายสมเจตน์ ทินพงศ์ กรรมการผู้จัดการ DDC กล่าวว่า โครงการออยล์แอนด์แก๊สล่าสุดมีบริษัทกลุ่มเอสเคจากเกาหลีแสดงความสนใจเป็นอย่างยิ่งที่จะเข้าลงทุน นอกเหนือจาก บมจ.ปตท.(PTT) และบริษัทจากแถบประเทศตะวันออกกลางที่ได้แสดงความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนก่อนหน้านี้
นายเปรมชัย ยังคาดว่า ผลประกอบการปี 55 ของ ITD อาจจะไม่ขาดทุนเหมือนกับในปีนี้ เนื่องจากงานในมือ(backlog)ที่มีอยู่ 1.7 แสนล้านบาท มีอัตรากำไรขั้นต้นเป็นตัวเลข 2 หลักขึ้นไป ขณะที่คาดว่างานในประเทศจะมีมากขึ้นและจะทำให้ backlog ของบริษัทในปีหน้าเพิ่มขึ้นไปถึง 4 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดที่เคยมีมา ทั้งนี้ ยังไม่รวมโครงการก่อสร้างในโครงการทวายที่คาดว่างานก่อสร้างจะมีมูลค่าอย่างน้อย 1 แสนล้านบาท นอกจากนั้น ยังมีงานในเวียดนามและลาวด้วย