In Focusย้อนรอย"มูดี้ส์"ลงดาบหั่นเครดิต 5 ประเทศใหญ่สะเทือนวงการ

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday December 28, 2011 13:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เป็นที่รู้กันดีถึงฤทธิ์เดชของสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศมูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส คราวใดที่มูดี้ส์ประกาศหั่นเครดิต ก็มีอันต้องสะเทือนวงการตลาดการเงินไปทั่ว ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของนักลงทุนที่รอดูทิศทางว่าจะเข้าลงทุนในประเทศนั้นๆหรือไม่ และในส่วนของประเทศที่ถูกหั่นเครดิต ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาการออกพันธบัตรเพื่อดึงเงินจากนักลงทุนได้ยากยิ่งขึ้น นี่จึงเป็นภาพสะท้อนถึงอิทธิพลของบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ และในช่วงปี 2554 นี้ มีเหยื่อหลายรายที่ถูกมูดี้ส์เชือดด้วยการหั่นเครดิต

In Focus ขอนำท่านผู้อ่านย้อนรอยกลับไปดูเหตุปัจจัยที่ทำให้บางประเทศต้องสั่นสะท้าน โดยจะกล่าวถึงเฉพาะรายที่เด่นดัง (ในเชิงลบ) ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก ก่อนที่จะผ่านพ้นปีนี้ไป

*กรีซ — ผู้บอบช้ำจากการถูกเชือดซ้ำแล้วซ้ำเล่า

มูดี้ส์ประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือพันธบัตรรัฐบาลกรีซในเดือนมี.ค.ลงสู่ B1 จาก Ba1 และให้แนวโน้มเชิงลบ โดยให้ความเห็นว่า กรีซยังต้องเจองานหินในการสร้างความแข็งแกร่งทางการเงินและปฏิรูปโครงสร้าง ในขณะที่มีความเสี่ยงมากมายในการปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ

ในขณะเดียวกัน การจัดเก็บรายได้ในประเทศก็ไม่ใช่ภารกิจที่ราบรื่น ประกอบกับมีความเสี่ยงว่า กรีซจะไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขจากแหล่งเงินทุนหลังปี 2556 และอาจต้องมีการปรับโครงสร้างหนี้

ส่วนแนวโน้มเชิงลบต่ออันดับเครดิต B1 สะท้อนถึงภาระหนี้สินสูงของกรีซและความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในการปฏิบัติตามมาตรการปฏิรูปโครงสร้าง

หลังจากนั้น กรีซก็ถูกมูดี้ส์ลงดาบเชือดเรทติ้งอีกครั้ง พร้อมขู่ปรับลดอีก โดยอันดับเครดิตกรีซลงไปอยู่ในสถานะเก็งกำไร หรือ"ขยะ" โดยลดลงสู่ Caa2 จากระดับ B1 มูดี้ส์ให้เหตุผลว่า มีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นที่รัฐบาลกรีซจะไม่สามารถแก้ไขสถานการณ์หนี้สินโดยไม่ปรับโครงสร้างหนี้ได้

นอกจากนี้ สหภาพยุโรป (อียู) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ยังมีแนวโน้มที่จะกำหนดให้เจ้าหนี้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการปรับโครงสร้างหนี้ตามเงื่อนไขเบื้องต้นก่อนที่จะให้การสนับสนุนด้านเงินทุน ซึ่งความเสี่ยงเหล่านี้ทำให้มีโอกาสที่กรีซจะผิดนัดชำระหนี้ได้

ด้านกระทรวงการคลังของกรีซได้โต้การลดอันดับเครดิตดังกล่าว โดยระบุว่า มูดี้ส์ไม่ได้ให้ความสำคัญกับความพยายามของรัฐบาลในการแก้ไขภาวะการคลัง และได้รับอิทธิพลจากข่าวลือในสื่อ

ต่อมาในช่วงปลายเดือนก.ค. มูดี้ส์ก็ได้หั่นอันดับความน่าเชื่อถือพันธบัตรสกุลเงินในประเทศและต่างประเทศของกรีซลง 3 ขั้น สู่ Ca จาก Caa1 โดยแนวโน้มความน่าเชื่อถือจะขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ขณะที่กรีซยังมีความเสี่ยงในเรื่องความสามารถในการชำระหนี้

มูดี้ส์เปิดเผยว่า การประกาศโครงการช่วยเหลือของอียู บ่งชี้ว่า มีความเป็นไปได้เกือบ 100% ที่จะมีการแลกเปลี่ยนพันธบัตรรัฐบาลกรีซที่ด้อยคุณภาพ ซึ่งถือเป็นการผิดนัดชำระหนี้ ส่วนแนวโน้มอันดับเครดิตที่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงสะท้อนให้เห็นถึงความไม่แน่นอนในขณะนั้นเกี่ยวกับมูลค่าตลาดที่แท้จริงของหลักทรัพย์ที่เจ้าหนี้จะได้รับในการแลกเปลี่ยน

มูดี้ส์ระบุว่า กรีซเผชิญความเสี่ยงในการชำระหนี้ระยะกลาง โดยปริมาณหนี้จะยังคงสูงกว่า 100% ของจีดีพีเป็นเวลาหลายปี

*สเปน — หนี้สินล้นหลาม, ระดมทุนยาก, เศรษฐกิจง่อนแง่น

ในเดือนมี.ค.2554 มูดี้ส์ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือพันธบัตรรัฐบาลสเปนลง 1 ขั้น สู่ระดับ Aa2 โดยเตือนว่า อาจปรับลดอันดับลงอีก ซึ่งสาเหตุสำคัญอยู่ที่ปัญหาหนี้สินในภาคธนาคารที่จะมีค่าใช้จ่ายในการสะสางหนี้มากกว่าที่รัฐบาลคาดไว้ และจะทำให้หนี้สินของรัฐบาลเพิ่มขึ้น ในขณะที่มูดี้ส์มีความวิตกกังวลเกี่ยวกับความสามารถของรัฐบาลในการปฏิรูปโครงสร้างการคลัง

แนวโน้มในเชิงลบสะท้อนถึงความหวั่นวิตกที่ว่า ฐานะการคลังของรัฐบาลสเปนอาจจะย่ำแย่ลงต่อไป

หลังจากนั้นในเดือนต.ค. มูดี้ส์ก็ได้ประกาศลดอันดับเครดิตสเปนลง 2 ขั้น จาก Aa2 สู่ A1

มูดี้ส์ระบุว่า สาเหตุหลักที่ทำให้มูดี้ส์ปรับลดอันดับเครดิตสเปนมาจากหนี้สาธารณะในระดับสูง ประกอบกับภาคเอกชนที่ยังเผชิญความยากลำบากในการระดมทุนในตลาดการเงิน รวมทั้งเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงอีก

หนี้ในภาคสาธารณะของสเปนเพิ่มขึ้น 16.51% ในไตรมาส 2 ของปีนี้ สู่ 702,806 ล้านยูโร เมื่อเทียบกับในไตรมาส 2 ของปีที่แล้ว ที่ระดับ 682,854 ล้านยูโร หรือคิดเป็น 65.2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GNP) เทียบกับไตรมาส 2 ของปีที่แล้วที่ระดับ 57.2% ของ GNP

ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของสเปนขยายตัวเพียง 0.2% ในไตรมาส 2 ปีนี้ ชะลอลงจากไตรมาสแรกที่ขยายตัว 0.3%

นักวิเคราะห์กล่าวว่า การปรับลดอันดับเครดิตครั้งนี้แสดงถึงความรุนแรงของวิกฤติหนี้ยุโรป ซึ่งมูดี้ส์เตือนว่า สเปนอาจะถูกปรับลดอันดับเครดิตอีก ถ้าวิกฤติหนี้ทวีความรุนแรงมากขึ้น

นางเจสสิกา โฮเวอร์เซน นักวิเคราะห์สกุลเงินและตราสารหนี้ของบริษัทเอ็มเอฟ โกลบอล กล่าวว่า “ถ้าหากยูโรโซนไม่สามารถหาทางควบคุมสถานการณ์ได้ อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรสเปนก็จะพุ่งขึ้น และสเปนจะประสบปัญหาในการระดมทุน"

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์กล่าวว่า สเปนยังมีความน่าเชื่อถือสูงกว่าอิตาลี อันเป็นผลมาจากประวัติที่ดีของสเปนในการปฏิรูปตลาดแรงงาน, ระบบบำเหน็จบำนาญ และภาคการเงิน

*ญี่ปุ่น — ยอดขาดดุลงบประมาณสูง, รัฐบาลไม่มั่นคง, แก้ปัญหาหนี้สินยาก

มูดี้ส์ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นลง 1 ขั้น จากเดิมที่ Aa2 สู่ Aa3 โดยแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ ขณะที่ยอดขาดดุลงบประมาณอยู่ในระดับสูงและการที่ญี่ปุ่นเปลี่ยนรัฐบาลบ่อยทำให้การแก้ปัญหาหนี้เป็นไปโดยยาก โดยญี่ปุ่นมีนายกรัฐมนตรี 6 คนในระยะเวลาเพียง 5 ปี

มูดี้ส์ระบุว่า การที่ญี่ปุ่นเปลี่ยนรัฐบาลบ่อย ทำให้ญี่ปุ่นไม่สามารถดำเนินกลยุทธ์ทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่องในระยะยาว ขณะที่หนี้สาธารณะก็เพิ่มขึ้นสูงเป็น 2 เท่าของจีดีพี ซึ่งอยู่ที่ระดับ 5 ล้านล้านดอลลาร์

อย่างไรก็ตาม มูดี้ส์ยังคงให้แนวโน้มอันดับเครดิต"มีเสถียรภาพ"แก่ญี่ปุ่น เนื่องจากนักลงทุนยังคงเชื่อมั่นที่จะถือครองพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งสภาวะเช่นนี้จะช่วยให้รัฐบาลสามารถระดมเงินทุนเพื่อใช้ในการแก้ปัญหาขาดดุลงบประมาณได้

รัฐบาลต้องหันไปพึ่งรายได้จากการจำหน่ายพันธบัตร เพื่อนำเงินมาใช้จ่ายในงบประมาณ จากการที่รายได้ด้านภาษีของรัฐบาลได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่เผชิญภาวะเงินฝืดอย่างต่อเนื่องและการเติบโตที่ซบเซา

นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ยังมองว่า การขาดการปฏิรูปทางการเงินอาจจะเป็นสาเหตุของการลดอันดับความน่าเชื่อถือ โดยมูดี้ส์อาจจะมองว่าฐานะการเงินของญี่ปุ่นอาจจะย่ำแย่ลงต่อไป

การที่มูดี้ส์ปรับลดอันดับเครดิตญี่ปุ่นครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2545 โดยในครั้งนั้นมูดี้ส์ปรับลดอันดับเครดิตญี่ปุ่นลงสู่ A2 ซึ่งอยู่ในระดับสูงเป็นอันดับ 6 และหลังจากนั้น มูดี้ส์ได้ปรับเพิ่มอันดับ 3 ครั้ง โดยการปรับเพิ่มครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นเมื่อเดือนพ.ค. 2552

*อิตาลี — ซวนเซจากปัญหาความเชื่อมั่น, ความเสี่ยงระดมทุน, แนวโน้มเศรษฐกิจอ่อนแอ

มูดี้ส์ลดอันดับความน่าเชื่อถือพันธบัตรอิตาลีลง 3 ขั้นสู่ A2 จาก Aa2 ขณะคงแนวโน้มความน่าเชื่อถือใน"เชิงลบ" ซึ่งถือเป็นสัญญาณว่า มูดี้ส์อาจปรับลดอันดับเครดิตอิตาลีอีกภายใน 2 ปี โดยมูดี้ส์ระบุถึงภาระหนี้สาธารณะในระดับสูง และความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในการระดมทุนระยะยาว นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนทางการเงินและการที่นักลงทุนขาดความเชื่อมั่น จะทำให้อิตาลีประสบปัญหาการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้

นอกจากนี้ อิตาลียังมีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะเผชิญกับช่วงขาลง อันเนื่องมาจากความอ่อนแอของโครงสร้างเศรษฐกิจมหภาคและแนวโน้มเศรษฐกิจโลก

นายอเล็กซานเดอร์ คอคเคอร์เบค นักวิเคราะห์อิตาลีของมูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส กล่าวว่า ความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่เปราะบาง และคาดการณ์ที่ว่า เศรษฐกิจจะยังคงค่อนข้างอ่อนแอในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า เป็นเหตุผลให้มูดี้ส์ปรับลดอันดับเครดิตพันธบัตรอิตาลีลง 3 ขั้น

นายคอคเคอร์เบคกล่าวว่า ความเชื่อมั่นที่ย่ำแย่ในตลาด, แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจอิตาลีและทั่วโลกที่อ่อนแอ และความไม่แน่นอนทางการเมืองที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นแรงผลักดันที่สำคัญเบื้องหลังการตัดสินใจของมูดี้ส์ มีความเกี่ยวพันกันอย่างมาก “ด้วยเหตุนี้ จึงมีความเสี่ยงสำหรับรัฐบาลที่จะบรรลุเป้าหมายด้านการสร้างความแข็งแกร่งทางการคลัง และความพยายามในการพลิกฟื้นจากแนวโน้มแง่ลบในด้านหนี้สาธารณะอาจจะเกิดความซับซ้อนจากภาวะดังกล่าว"

นับเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2536 ที่มูดี้ส์ประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือของอิตาลี และอันดับความน่าเชื่อถือที่ A2 ซึ่งอิตาลีถูกปรับลดลงมาล่าสุดนั้น อยู่เหนือระดับขยะเพียง 5 ขั้นเท่านั้น

*เบลเยียม — ปัญหาระดมทุน, ความเสี่ยงเศรษฐกิจ-ภาคธนาคารถาโถม

เบลเยียมถือเป็นน้องใหม่ที่เพิ่งจะถูกมูดี้ส์หั่นเครดิตในเดือนนี้ โดยมูดี้ส์ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของเบลเยียมลง 2 ขั้น โดยระบุถึงความเสี่ยงและความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการระดมทุน, การขยายตัวทางเศรษฐกิจ และงบดุลบัญชีของประเทศ

มูดี้ส์ลดเครดิตเบลเยียมสู่ Aa3 ซึ่งอยู่ต่ำกว่าอันดับเครดิตสูงสุด 3 ขั้น โดยการปรับลดนี้เป็นการสรุปผลการประเมินโดยมีแนวโน้มเชิงลบที่มูดี้ส์ได้ประกาศไว้ในเดือนต.ค.

มูดี้ส์ระบุถึงภาวะการระดมทุนที่ย่ำแย่ลงอย่างต่อเนื่องสำหรับประเทศต่างๆในยูโรโซนที่มีหนี้สาธารณะในระดับค่อนข้างสูง อาทิ เบลเยียม โดยมูดี้ส์เปิดเผยว่า ภาวะย่ำแย่ลงดังกล่าวเพิ่มความเสี่ยงให้กับเบลเยียม ซึ่งอาจจะเป็นอุปสรรคต่อการสร้างความแข็งแกร่งทางการคลังของรัฐบาลและความพยายามในการลดหนี้สิน

นอกจากนี้ เศรษฐกิจที่มีขนาดเล็กและเปิดเสรีอย่างมากของเบลเยียมเผชิญกับความเสี่ยงต่อการขยายตัวในระยะกลางเพิ่มขึ้น อันเป็นผลจากความจำเป็นอย่างต่อเนื่องสำหรับการลดหนี้สินและมาตรการรัดเข็มขัดในยูโรโซน

มูดี้ส์เปิดเผยว่า งบดุลบัญชีของรัฐบาลมีความไม่แน่นอนมากขึ้น และเผชิญกับความเสี่ยงใหม่ที่เกิดจากภาคการธนาคาร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในประเด็นหนี้สินที่เกี่ยวกับเด็กเซีย เครดิต โลคัล ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของเด็กเซีย

5 ประเทศหลักดังกล่าวนับว่ามีบทบาทต่อวงการตลาดการเงินอย่างมากและการที่สถาบันเก่าแก่ที่ก่อตั้งมานับร้อยปีอย่างมูดี้ส์ออกมาวิพากษ์วิจารณ์และปรับลดอันดับเครดิตประเทศเหล่านั้น ย่อมมีผลกระทบในวงกว้างอย่างแน่นอน ในส่วนของไทยเองนั้น ก็เผชิญวิกฤติจากภัยธรรมชาติจากภาวะน้ำท่วม แม้จะต่างจากวิกฤติหนี้หรือวิกฤติการคลังดังที่กล่าวมาแล้วนั้น แต่วิกฤติน้ำท่วมก็ได้ฉุดเศรษฐกิจและการลงทุนของไทยลงเช่นกัน จึงเป็นที่น่าจับตามองว่า มูดี้ส์จะหันมาหั่นเครดิตไทยหรือไม่ แต่คาดว่ามูดี้ส์คงจะมีเหตุผลพอที่จะไม่ถือเอาภัยธรรมชาติเป็นสาเหตุในการลดอันดับความน่าเชื่อถือ โดยน่าจะมองที่การบริหาร, ฟื้นฟูประเทศหลังวิกฤติน้ำท่วมมากกว่า เนื่องจากแม้ว่าวิกฤติน้ำท่วมจะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง แต่หากมีการฟื้นฟูประเทศอย่างรวดเร็วและแข็งแกร่ง ก็จะทำให้ประเทศฟื้นตัวได้ไม่ยาก

ในช่วงสิ้นปีนี้ In Focus ขอเป็นกำลังใจให้ไทยฟื้นตัวอย่างเข้มแข็ง ไม่ต้องถูกคมดาบของมูดี้ส์หรือสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถืออื่นใดมาบั่นทอนซ้ำเติมความน่าเชื่อถือให้ตกต่ำลงไปอีก รวมทั้งขอให้ผู้อ่านทุกท่านมี"พลังบวก"ที่จะก้าวไปสู่ปีมังกร(ดุ)คะนองน้ำ อย่างไม่หวาดหวั่น พร้อมกับความหวังที่ว่า ปีหน้าฟ้าใหม่จะสดใสและดีกว่าปีที่เป็นอยู่นี้ In Focus ขอส่งความสุขและความปรารถนาดีแด่ท่านผู้อ่านทุกท่านค่ะ


แท็ก In Focus:   เครดิต  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ