บล.โกลเบล็ก ระบุในบทวิเคราะห์ฯแนะ"ซื้อ"หุ้น บมจ.นิวพลัสนิตติ้ง(NPK) ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจโรงงานอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มสามารถฟื้นฟูกิจการจนพ้นเหตุเพิกถอน และสามารถกลับมาซื้อขายในตลาด MAI วันนี้เป็นวันแรก
อนึ่ง จากการดำเนินการฟื้นฟูกิจการของ NPK ทำให้บริษัทมีฐานะการเงินและผลการดำเนินงานพ้นเหตุอาจถูกเพิกถอนแล้วและมีคุณสมบัติครบถ้วนตามเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ดังนี้
1. การมีส่วนของผู้ถือหุ้น (ภายหลังการปรับปรุงความเห็นผู้สอบบัญชี) ไม่น้อยกว่า 20 ล้านบาท ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2553 บริษัทมีส่วนของผู้ถือหุ้นจำนวน 80.64 ล้านบาทและ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2554 บริษัทมีส่วนของผู้ถือหุ้นจำนวน 121.03 ล้านบาท
2. การมีกำไรสุทธิจากการดำเนินงานตามปกติที่เกิดจากธุรกิจหลักซึ่งจะดำเนินการต่อไปอย่างต่อเนื่องในอนาคต ภายใต้การจัดการของผู้บริหารส่วนใหญ่กลุ่มเดียวกันมาอย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 1 ปี โดยพิจารณาจากงบการเงินประจำปี หรืองบการเงิน 4 ไตรมาสที่ผ่านการตรวจสอบจากผู้สอบบัญชีแล้ว โดยมีกำไรสุทธิและกำไรสุทธิในงวดสะสมก่อนยื่นคำขอบตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา บริษัทเริ่มมีกำไรสุทธิจากการดำเนินงานตามปกติที่เกิดจากธุรกิจหลัก และผลการดำเนินงานของบริษัทมีกำไรอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2553 สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2553 บริษัทมีกำไรสุทธิจากการดำเนินงานจำนวน 60.89 ล้านบาท สำหรับในไตรมาสที่ 2 ปี 2554 งวด 6 เดือน สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2554 บริษัทมีกำไรสุทธิจากการดำเนินงานจำนวน 40.32 ล้านบาท
3. บริษัทปรับโครงสร้างหนี้ได้มากกว่าร้อยละ 75 ของมูลหนี้ทั้งหมดของบริษัท โดยบริษัทสามารถจ่ายชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้สถาบันการเงินได้ตามกำหนดเวลาและแผนปรับโครงสร้างหนี้คำนึงถึงสิทธิประโยชน์ของผู้ถือหุ้นรายย่อย บริษัทย่อยได้ปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้สถาบันการเงินรวม 1 แห่ง มูลหนี้รวม 153.85 ล้านบาท เสร็จเรียบร้อยแล้วตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2552 โดยบริษัท นิวพลัสอุตสาหกรรม จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยซึ่งบริษัทถือหุ้น 98.75% ได้ปฏิบัติตามสัญญาปรับโครงสร้างหนี้และมีการชำระคืนทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยจ่ายอย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้เจ้าหนี้ได้ขยายเวลาการชำระหนี้จากเดิมสิ้นสุดเดือนพฤษภาคม 2555 เป็นสิ้นสุดวันที่ 31 สิงหาคม 2561 มีผลให้จำนวนเงินต้นที่บริษัทย่อยต้องชำระคืนในแต่ละเดือนลดลง
นอกจากนี้เจ้าหนี้ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยจากเดิมที่เคยเรียกเก็บในอัตราดอกเบี้ย MLR ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2550 เป็นต้นไป (ณ. วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2550 MLR เท่ากับร้อยละ 7.50 ต่อปี) เจ้าหนี้สถาบันการเงินได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยจ่ายจากเดิมที่เคยเรียกเก็บ
4. บริษัทมีฐานะการเงินและผลการดำเนินงานที่มั่นคงตามสภาพธุรกิจของบริษัทไปอย่างต่อเนื่อง โดยพิจารณากระแสเงินสดของกิจการประกอบด้วย จากการปรับโครงสร้างหนี้ของบริษัทย่อยตามที่กล่าวข้างต้น ส่งผลให้จำนวนเงินต้นและดอกเบี้ยจ่ายที่ต้องชำระคืนลดลง รวมทั้งผลจากการฟื้นฟูกิจการที่ผ่านมาทั้งการลดค่าใช้จ่ายเพื่อลดต้นทุนการผลิต การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การบริหารสินค้าคงคลัง รวมทั้งการพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ส่งผลให้บริษัทมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีฐานะการเงินที่มั่นคง