กบข.มองปัญหาหนี้EUยังกดดันตลาดหุ้นทั่วโลก-ไทยในปี55 คาดผลตอบแทนมีจำกัด

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday January 3, 2012 10:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสาวโสภาวดี เลิศมนัสชัย เลขาธิการ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เชื่อว่าในระยะสั้นกลุ่มสหภาพยุโรป(อียู)ยังไม่สามารถแก้ปัญหาหนี้สาธารณะได้ ซึ่งปัจจัยนี้จะกดดันให้ตลาดหุ้นทั่วโลกรวมทั้งไทยในปี 55 มีความผันผวนสูง โอกาสในการสร้างผลตอบแทนมีจำกัดกว่าปีที่ผ่านมา แต่หุ้นก็ยังเป็นสินทรัพย์ที่การลงทุนน่าสนใจ เนื่องจากราคาหุ้นยังต่ำกว่าพื้นฐาน โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศเกิดใหม่

ขณะที่ตลาดตราสารหนี้โลกในปี 55 มีแนวโน้มผันผวนเช่นกัน เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวลดลงในปีที่ผ่านมา อาจส่งผลให้ผลตอบแทนการลงทุนไม่สูงเท่าปี 54

ทั้งนี้ กลยุทธ์การลงทุนของ กบข. ในปีนี้ยังต้องติดตามปัญหาหนี้สาธารณะในกลุ่มประเทศยุโรปอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งหาจังหวะกลับเข้าลงทุนในหุ้น หากปัญหาหนี้ในกลุ่มสหภาพยุโรปมีสัญญาณการแก้ไขปัญหาเชิงบวกที่ชัดเจน โดยหุ้นในตลาดเกิดใหม่ เช่น จีน อินเดีย เป็นต้น เพราะมีความน่าสนใจมากกว่าตลาดหุ้นของประเทศที่พัฒนาแล้ว และราคาถูกกว่าปัจจัยฟื้นฐาน รวมทั้งมีอัตราเงินปันผลที่สูง

ส่วนการลงทุนในตราสารหนี้นั้น กบข.เน้นลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศคุณภาพดี พร้อมทั้ง เข้าลงทุนในสินทรัพย์ใหม่ เช่น อสังหาริมทรัพย์โลก โครงสร้างพื้นฐาน เป็นต้น เพื่อกระจายความเสี่ยงของการลงทุน และเพิ่มโอกาสสร้างผลผลตอบแทนระยะยาวที่สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ

เลขาธิการ กบข.มองว่า แนวโน้มเศรษฐกิจโลกในปี 55 น่าจะเติบโตใกล้เคียงปี 2554 โดยปัญหาหนี้สาธาณะในกลุ่มประเทศยุโรปที่ไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาที่ตรงจุดยังเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก และต้องติดตามว่าปัญหาดังกล่าวจะลุกลามไปสู่สถาบันการเงินหรือไม่

โดยคาดว่าเศรษฐกิจยุโรปในปี 55 จะเข้าสู่สภาวะถดถอยอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก ขณะที่เศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียและกลุ่มประเทศเกิดใหม่ยังขยายตัวได้ดี แม้จะได้รับผลกระทบจากปัญหาในยุโรปบ้าง แต่ยังได้รับแรงกระตุ้นจากความต้องการบริโภคภายในประเทศ

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 55 คาดว่าจะขยายตัวประมาณ 4-4.5% เนื่องจากการใช้จ่ายเพื่อซ่อมแซมสิ่งก่อสร้างที่เสียหายในช่วงน้ำท่วมและการผลิตเพิ่มเพื่อชดเชยกำลังการผลิตที่สูญเสียไปของภาครัฐจะเป็นปัจจัยหลักที่ช่วยกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ขณะที่แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยช่วงครึ่งแรกของปี 55 มีโอกาสจะปรับตัวลดลงประมาณ 0.25% จากปัจจุบันที่ 3.25% เพื่อลดภาระต้นทุนของประชาชนและภาคธุรกิจ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ