บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ.วีนิไทย (VNT) ที่ระดับ “A-" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่"
อันดับเครดิตสะท้อนการมีกระบวนการผลิตโพลีไวนิล คลอไรด์ หรือพีวีซี (Polyvinyl Chloride) ที่ครบวงจรและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการมีฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง คณะผู้บริหารที่มีความสามารถ และการสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ได้แก่ Solvay S.A. แห่งประเทศเบลเยี่ยม และ บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล(PTTGC) อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากลักษณะความเป็นวงจรที่ขึ้นลงของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ตลอดจนราคาวัตถุดิบและสินค้าที่มีความผันผวน และภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว
ขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงความคาดหมายว่าบริษัทจะยังคงความสามารถในการรักษาโครงสร้างต้นทุนการผลิตให้อยู่ในระดับต่ำต่อไปได้และไม่มีปัจจัยที่จะเกิดผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่ออุตสาหกรรมพีวีซี โดยทริสเรทติ้งคาดว่าผู้บริหารของบริษัทจะยังคงดำเนินนโยบายทางการเงินที่ระมัดระวังและดำรงสภาพคล่องให้เพียงพอต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาของการลงทุน
ทริสเรทติ้งรายงานว่า VNT เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายพีวีซีรายใหญ่อันดับ 2 ของประเทศ โดยมีกำลังการผลิต 280,000 เมตริกตันต่อปี หรือคิดเป็น 29% ของกำลังการผลิตรวมภายในประเทศ บริษัทได้รับการสนับสนุนการดำเนินงานจากผู้ถือหุ้นหลักอย่างเต็มที่ โดย Solvay ให้ความช่วยเหลือด้านเทคโนโลยีและการจำหน่ายสินค้าในตลาดต่างประเทศ ในขณะที่ PTTGC เป็นผู้จัดหาเอธิลีนซึ่งเป็นหนึ่งในวัตถุดิบหลักสำหรับการผลิตพีวีซี บริษัทมีโรงงานผลิตพีวีซีที่มีกระบวนการผลิตครบวงจรซึ่งทำให้บริษัทมีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานที่สูงกว่าคู่แข่ง
ปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิตพีวีซีที่ระดับ 280,000 เมตริกตันต่อปี โซดาไฟที่ระดับ 266,000 เมตริกตันต่อปี และวีซีเอ็ม (ไวนิล คลอไรด์ โมโนเมอร์ หรือ Vinyl Chloride Monomer) ที่ระดับ 400,000 เมตริกตันต่อปี โดยวีซีเอ็มที่ผลิตได้ส่วนใหญ่ใช้ในการผลิตพีวีซีของบริษัท
ช่วง 9 เดือนแรกของปี 2554 บริษัทจำหน่ายพีวีซีได้ 177,000 เมตริกตัน โซดาไฟ 164,000 เมตริกตัน และวีซีเอ็ม 79,000 เมตริกตัน ซึ่งปริมาณการจำหน่ายโดยรวมของบริษัทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2554 ลดลงประมาณ 3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเนื่องจากการหยุดการผลิตเพื่อซ่อมบำรุงตามแผนในไตรมาสที่ 1 ของปี 2554 อย่างไรก็ตาม รายได้ของบริษัทกลับเพิ่มขึ้น 12% เนื่องจากราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก อัตราการเติบโตของอุปสงค์พีวีซีทั่วโลกอ่อนตัวลงจากภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอในหลายประเทศ อย่างไรก็ตาม ปริมาณการบริโภคพีวีซีของไทยน่าจะมีแนวโน้มที่ดีตามอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในปี 2555 ประกอบกับกิจกรรมการซ่อมแซมและก่อสร้างที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในช่วงหลังเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ที่ผ่านมา
ในปี 2553 บริษัทเริ่มดำเนินการโครงการลงทุนแห่งใหม่ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 8,000 ล้านบาท โดยประกอบด้วยโรงงานผลิตสาร Epichlorohydrin(ECH) ขนาดกำลังการผลิต 100,000 เมตริกตันต่อปี รวมถึงการขยายกำลังการผลิตคลอรีนอีก 90,000 เมตริกตันต่อปีและโซดาไฟอีก 100,000 เมตริกตันต่อปี โดยการขยายกำลังการผลิตคลอรีนและโซดาไฟนั้นส่วนหนึ่งเพื่อนำไปใช้เป็นส่วนประกอบวัตถุดิบในการผลิต ECH โรงงานผลิต ECH คาดว่าจะสามารถดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในเดือนมกราคม 2555 ในขณะที่ส่วนขยายกำลังการผลิตคลอรีนและโซดาไฟคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จภายในกลางปี 2555 โครงการดังกล่าวน่าจะช่วยเพิ่มความสามารถในการทำกำไรให้แก่บริษัทมากยิ่งขึ้นและยังเป็นการขยายไปสู่สายผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ทั้งนี้ เงินลงทุนในโครงการดังกล่าวบางส่วนจะมาจากการกู้ยืม
ฐานะการเงินของบริษัทยังคงเข้มแข็งซึ่งได้รับแรงหนุนจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่แข็งแกร่งและภาระหนี้สินที่ต่ำ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2554 บริษัทมีรายได้ 10,869 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายเพิ่มขึ้นเป็น 22.8% จาก 17.6% ในปี 2553 เนื่องจากบริษัทมีกระบวนการผลิตที่ครบวงจรซึ่งทำให้บริษัทได้รับประโยชน์จากส่วนต่างของราคาพีวีซีและเอธิลีนที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่โซดาไฟซึ่งเป็นผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตครบวงจรของบริษัทก็มีราคาเพิ่มขึ้นด้วย
อัตรากำไรที่สูงขึ้นส่งผลทำให้บริษัทมีเงินทุนจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นเป็น 2,517 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2554 ซึ่งมากกว่าปี 2553 ทั้งปีที่ 2,399 ล้านบาท เงินกู้รวมของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 1,400 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2554 จากการลงทุนในโรงงาน ECH และการขยายกำลังการผลิตคลอรีนและโซดาไฟ
อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงมีสภาพคล่องในระดับสูงซึ่งสะท้อนจากอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมและอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายที่อยู่ในระดับสูง แม้ว่าอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนจะเพิ่มขึ้น ณ สิ้นเดือนกันยายน 2554 เมื่อเทียบกับ ณ สิ้นปี 2553 แต่ก็ยังคงอยู่ในระดับต่ำ ระดับภาระหนี้สินที่ต่ำของบริษัทสะท้อนถึงนโยบายการเงินที่มีความระมัดระวังอันจะช่วยเสริมสภาพคล่องให้แก่บริษัท โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว
ทั้งนี้ อัตราส่วนดังกล่าวคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในระยะกลาง เนื่องจากบริษัททำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในภูมิภาคสำหรับกลุ่ม Solvay บริษัทจึงเปรียบเสมือนเป็นเครื่องมือการลงทุนในภูมิภาคเอเซียของกลุ่ม ทริสเรทติ้งกล่าว