หุ้นแบงก์ร่วงยกแผง โบรกฯมองการแก้ปัญหากองทุนฟื้นฟูกระทบ sentiment

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday January 5, 2012 10:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

หุ้นกลุ่มแบงก์ราคาปรับลดลงทั้งแผงในช่วงต้นภาคเช้าวันนี้ หลังจากโบรกเกอร์ออกมาแสดงความกังวลถึงผลกระทบต่อต้นทุนของธนาคารพาณิชย์ที่เกิดจากแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน โดยดัชนีหุ้นกลุ่มแบงก์อยู่ที่ 364.00 จุด ลดลง 8.11 จุด (-2.18%)เมื่อเวลา 10.17 น.

ทั้งนี้ เมื่อเวลา 10.12 น.

KBANK ลบ 2.92% อยู่ที่ 116.50 บาท ลดลง 3.50 บาท

BBL ลบ 2.31% อยู่ที่ 148.00 บาท ลดลง 3.50 บาท

SCB ลบ 2.18% อยู่ที่ 112.00 บาท ลดลง 2.50 บาท

KTB ลบ 2.00% อยู่ที่ 14.70 บาท ลดลง 0.30 บาท

BAY ลบ 2.79% อยู่ที่ 20.90 บาท ลดลง 0.60 บาท

บล.เอเซียพลัส ระบุเช้านี้ว่า การแก้ไขปัญหากองทุนฟื้นฟู อาจกระทบต่อ sentiment หุ้น ธ.พ. ช่วงสั้น โดยในการสัมมนาวานนี้นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ บรรยายเรื่องนโยบายเศรษฐกิจ ผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วม และการโอนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ 1.14 ล้านล้านบาทไปยังธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)

สาระสำคัญของการสัมมนาอยู่ที่การแก้ไขภาระหนี้สินที่เกิดขึ้นจากการกู้ยืมของกองทุนฟื้นฟูเพื่อสถาบันการเงิน (ถือหุ้นโดยกระทรวงการคลัง หนี้สินดังกล่าวประกอบด้วย FIDF1 5 แสนล้านบาท จากการปิดกิจการ 56 แห่ง FIDF2 1.12 แสนล้านบาท และ FIDF3 7.8 แสนล้านบาท ซึ่ง 2 ส่วนหลังเกิดจากการชดเชยความเสียหายที่เกิดจากการแทรกแซงสถาบันการเงิน)

เงินกู้ยืมดังกล่าวนำไปใช้ชำระหนี้ให้กับผู้ฝากเงินกับสถาบันการเงินที่ปิดกิจการปี 2540 เกือบ 100 แห่ง เพราะประสบปัญหาขาดทุนจากการตั้งสำรองหนี้เสียหรือ NPLs ที่เพิ่มจากการตั้งฯ อย่างมาก อันเป็นผลกระทบจากภาระขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน จึงอาจจะกล่าวได้ว่าหนี้สินก้อนนี้บางส่วนไม่มีสินทรัพย์ค้ำประกัน เพราะลูกหนี้คือ ธนาคารพาณิชย์ที่มีปัญหาได้ปิดตัวไปหมดแล้ว ในการกู้ยืมของ FIDF มีการตกลงกันว่ากระทรวงการคลังจะเป็นผู้รับภาระดอกเบี้ยจ่าย ส่วน ธปท.เป็นผู้รับหน้าที่ในการจ่ายเงินต้น

แต่อย่างไรก็ตาม เวลาล่วงเลยมาเป็นเวลานานถึง 14 ปีแล้ว แต่เงินกู้ก้อนนี้ยังคงเท่าเดิม มิได้ถูกชำระ มีแต่การชำระดอกเบี้ยโดยกระทรวงการคลังเท่านั้น ประเด็นนี้จึงเป็นที่มาของปัญหาจะปล่อยให้หนี้ก้อนนี้วางอยู่โดยไม่แตะต้องเลย การเสนอของรองนายกฯ ต้องการให้โอนหนี้ก้อนนี้ไปยัง ธปท.ให้เป็นผู้รับภาระดอกเบี้ยและเงินต้นทั้งหมด เนื่องจากเห็นว่า ธปท. มีช่องทางในการหารายได้ เช่น เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ (International reserve) ที่มีอยู่ในจำนวนสูง 1.67 แสนล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้นจากระดับ 3.8 หมื่นล้านเหรียญฯ ในปี 2539 ทางรองนายกเสนอความเห็นว่าน่าจะมีดอกผลแต่ละปีจำนวนมาก แม้ ธปท อาจจะมีภาระในการป้องกันอัตราแลกเปลี่ยน ทำให้ต้องประสบภาวะขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนก็ตาม แต่ส่วนหนี้ ธปท.อาจจะต้องไปดำเนินการบริหารจัดการให้เหมาะสม

และช่องทางที่สองคือเงินสมทบเข้ากองทุนสถาบันคุ้มครองเงินฝากซึ่งปัจจุบันจัดเก็บที่ 0.4% ของเงินฝากตาม พรบ ที่จะแก้ไขใหม่ให้อำนาจ ธปท ในการจัดเก็บได้ไม่เกิน 1% ของเงินฝาก ซึ่งส่วนนี้อาจจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนของสถาบันการเงินและกำไรในที่สุด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ