ทริสฯให้เครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกัน-องค์กร AP ที่ "A-" แนวโน้ม "Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday January 6, 2012 09:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 1,000 ล้านบาทของ บมจ. เอเชี่ยน พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ (AP) ที่ระดับ “A-" ในขณะเดียวกันก็คงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดปัจจุบันของบริษัทที่ระดับ “A-" เช่นกัน

อันดับเครดิตสะท้อนถึงผลงานของบริษัทที่เป็นที่ยอมรับในธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัย ตลอดจนสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้นในโครงการทาวน์เฮ้าส์ในเมืองและคอนโดมิเนียม รวมถึงการมีสินค้าที่หลากหลายทั้งในด้านราคาและกลุ่มลูกค้า อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากธรรมชาติของธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มีลักษณะเป็นวงจรขึ้นลง ตลอดจนแนวโน้มราคาวัสดุก่อสร้างที่สูงขึ้น และแรงกดดันจากภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นในระยะปานกลาง

ขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงความคาดหวังว่าบริษัทจะยังคงรักษาความสามารถในการแข่งขันที่เข้มแข็งในกลุ่มสินค้าหลักและจะสามารถปรับปรุงสินค้าให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของอุตสาหกรรมได้อย่างมีสมดุลย์ นอกจากนี้ แนวโน้มอันดับเครดิตดังกล่าวยังสะท้อนถึงความคาดหวังว่าบริษัทจะยังคงดำรงนโยบายทางการเงินที่ระมัดระวังต่อไปและจะสามารถลดอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนให้ลงมาอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 50% ได้ในระยะปานกลาง

ทริสเรทติ้งรายงานว่า AP ก่อตั้งในปี 2533 โดยนายอนุพงษ์ อัศวโภคิน และนายพิเชษฐ วิภวศุภกร ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ที่ถือหุ้นรวมกันในสัดส่วนประมาณ 1 ใน 3 ของบริษัท ความแข็งแกร่งทางธุรกิจของบริษัทสะท้อนถึงความเป็นหนึ่งในผู้นำด้านตลาดทาวน์เฮ้าส์ใจกลางเมือง (“บ้านกลางกรุง" และ “บ้านกลางเมือง") และผลประกอบการที่ประสบความสำเร็จในตลาดคอนโดมิเนียมกลุ่มระดับราคาปานกลางถึงสูง ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

บริษัทมีผลประกอบการที่เติบโตเป็นอย่างมากโดยมีสมดุลย์ระหว่างกระแสเงินสดรับกับเงินลงทุนเพื่อพัฒนาโครงการ ในระหว่างปี 2553 ถึงไตรมาสแรกของปี 2554 บริษัทได้เปิดตัวแบรนด์สินค้าที่อยู่อาศัยกลุ่มใหม่ 3 แบรนด์ได้แก่ “The Palazzo" (บ้านเดี่ยวราคาสูงกว่า 10 ล้านบาท) “The Pleno" (ทาวน์เฮ้าส์ราคาประมาณ 2 ล้านบาท) และ “Aspire" (คอนโดมิเนียมราคาประมาณ 2 ล้านบาท)

ช่วง 9 เดือนแรกของปี 2554 บริษัทมีรายได้อยู่ที่ 10,758 ล้านบาท ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราการเติบโตทางด้านรายได้ของบริษัทจะไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากอุทกภัยครั้งใหญ่ที่ลุกลามสู่พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลตั้งแต่เดือนตุลาคม 2554 เนื่องจากโครงการแนวราบของบริษัทหลายโครงการอยู่ในเขตเมืองชั้นในซึ่งไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม นอกจากนี้ บริษัทยังคาดว่าจะรับรู้รายได้จากโครงการคอนโดมิเนียมประมาณ 6-7 พันล้านบาทในปี 2555 ซึ่งจะช่วยลดแรงกดดันจากการชะลอตัวของตลาดแนวราบได้

AP มีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายอยู่ที่ 20.1% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2554 เปรียบเทียบกับ 24.1% ในปี 2553 การปรับลดลงของอัตราส่วนกำไรดังกล่าวเป็นไปตามประมาณการเนื่องจากมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจด้านภาษีของภาครัฐสิ้นสุดลง

ทริสเรทติ้งคาดว่าสัดส่วนรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากโครงการใหม่ของบริษัทในกลุ่มราคาระดับล่างจะสร้างแรงกดดันต่ออัตราส่วนกำไรของบริษัท ซึ่งสะท้อนการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดดังกล่าวจากผู้ประกอบการที่มีต้นทุนต่ำและผู้บริโภคที่มีความอ่อนไหวต่อราคาที่อยู่อาศัยมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งมองว่าแรงกดดันต่ออัตราส่วนกำไรจะไม่ส่งผลกระทบต่อบริษัทมากนักเมื่อคำนึงถึงประโยชน์จากการมีสินค้าที่มีความหลากหลายยิ่งขึ้น

อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทปรับตัวสูงขึ้นจาก 52.9% ในปี 2553 มาอยู่ที่ 55.7% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2554 ภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นสะท้อนถึงการใช้งบประมาณซื้อที่ดินที่สูงขึ้นและสินค้าคงเหลือที่สะสมเพิ่มสูงขึ้น ทริสเรทติ้งคาดว่างบดุลของบริษัทจะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นในระยะปานกลางเมื่อรอบระยะเวลาการส่งมอบที่อยู่อาศัยและการเปิดตัวโครงการใหม่กลับสู่ภาวะปกติ โดยเฉพาะโครงการคอนโดมิเนียม

ผลกระทบจากอุทกภัยครั้งใหญ่ทำให้คาดว่ายอดขายที่อยู่อาศัยจะชะลอตัวลงโดยเฉพาะในทำเลที่เผชิญกับปัญหาน้ำท่วมอย่างหนัก ผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์หลายรายอาจมีรายได้ที่เติบโตลดลงหรือประสบกับภาวะขาดทุนในไตรมาสสุดท้ายของปี 2554 ทั้งนี้ นโยบายสนับสนุนด้านภาษีและสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยปลอดดอกเบี้ยของรัฐบาลอาจไม่มีผลกระตุ้นความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยอย่างมีนัยสำคัญในช่วงไตรมาสต่อ ๆ ไปข้างหน้าเนื่องจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคถดถอยลง

นอกจากนี้ อุตสาหกรรมยังคงมีความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ตลอดจนแรงกดดันด้านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นหากนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของรัฐบาลมีผลบังคับใช้ และภาระหนี้ของผู้ประกอบการที่คาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไปอีกระยะหนึ่ง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ