บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของบริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BAFS ที่ 'A+(tha)' และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ 'F1(tha)' โดยให้แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ
อันดับเครดิตของ BAFS สะท้อนให้เห็นถึงสถานะความเป็นผู้นำในการให้บริการน้ำมันอากาศยานในประเทศไทย โดย BAFS เป็นผู้ให้บริการคลังเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน (Depot Service) และเครือข่ายท่อจ่ายน้ำมันอากาศยาน (Hydrant Pipeline Network) แต่เพียงรายเดียว ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นท่าอากาศยานนานาชาติที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และเป็นผู้ให้บริการหลักในส่วนของบริการเติมน้ำมันอากาศยาน (Into-Plane Service) ณ ท่าอากาศยานดังกล่าว โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดในการเติมน้ำมันอากาศยานประมาณร้อยละ 85 BAFS อยู่ในธุรกิจที่มีสภาพการแข่งขันที่ต่ำและได้รับประโยชน์จากอุปสรรคในการเข้าสู่ธุรกิจที่สูง เนื่องจากผู้ให้บริการต้องได้รับการอนุญาตจากท่าอากาศยานนั้นๆ จึงจะให้บริการได้
รายได้ของ BAFS ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2554 มีอัตราการเติบโตร้อยละ 10.5 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เหตุการณ์อุทกภัยในช่วงเดือนตุลาคมและพฤศจิกายนที่ผ่านมาส่งผลให้ปริมาณการเติมน้ำมันอากาศยานในเดือนพฤศจิกายนลดลงร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตาม ปริมาณการเดินทางทางอากาศได้กลับเข้าสู่ภาวะปกติทำให้ปริมาณการเติมน้ำมันอากาศยานเพิ่มขึ้นในเดือนธันวาคม โดยปริมาณการเติมน้ำมันอากาศยานในเดือนธันวาคมลดลงเพียงร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ฟิทช์คาดว่าอัตราการเติบโตของรายได้ของ BAFS ในปี 2554 น่าจะอยู่ที่ร้อยละ 7 ถึงร้อยละ 8 ในขณะที่อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่ายและค่าเช่าต่อรายได้ (EBITDAR margin) ของ BAFS อาจจะลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ร้อยละ 56 — 57 ในปี 2554 จาก ร้อยละ 58 -59 ในปี 2552-2553 เนื่องจากค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับบุคลากรที่สูงขึ้น อัตราส่วนหนี้สินของ BAFS ยังคงมีการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่ายและค่าเช่า 12 เดือนล่าสุด (Net Adjusted Debt/last 12 months (LTM) EBITDAR) ลดลงมาอยู่ในระดับ 1.2 เท่า ณ สิ้นไตรมาส 3 ของปี 2554 จาก 1.5 เท่า ณ สิ้นปี 2553
ฟิทช์คาดว่า ปริมาณการเติมน้ำมันอากาศยานของ BAFS จะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2555-2556 ตามปริมาณการเดินทางทางอากาศที่เพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศและภูมิภาค โดยเฉพาะผู้โดยสารจากประเทศจีน เกาหลี และอินเดีย แม้ว่าปริมาณการเดินทางทางอากาศอาจจะได้รับผลกระทบเป็นครั้งคราวจากเหตุการณ์ ภัยพิบัติทางธรรมชาติ หรือเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง เช่น เหตุการณ์อุทกภัยที่ผ่านมา แต่ฟิทช์เห็นว่าเหตุการณ์ต่างๆ ดังกล่าวไม่ได้ส่งผลกระทบที่ยืดเยื้อเป็นเวลานานต่อปริมาณการเดินทางทางอากาศเข้าและออกจากประเทศไทย
โครงสร้างรายได้ของ BAFS ซึ่ง BAFS จะเรียกเก็บเฉพาะค่าบริการเติมน้ำมันจากบริษัทน้ำมันเท่านั้น (โดยบริษัทน้ำมันเป็นผู้ขายน้ำมันให้แก่สายการบิน) ยังทำให้ BAFS ไม่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาน้ำมัน นอกจากนี้ จากการที่ต้นทุนหลักของ BAFS ได้แก่ค่าสัมปทานซึ่งเป็นอัตราที่ตกลงกันก่อนตามสัญญา ทำให้อัตราส่วนความสามารถในการทำกำไรของ BAFS ค่อนข้างคงที่
อย่างไรก็ตาม โครงการลงทุนใหม่โดยใช้เงินกู้เป็นแหล่งเงินทุนในช่วง 12 เดือนข้างหน้านี้อาจส่งผลให้การลดลงของอัตราส่วนหนี้สินของ BAFS ชะลอตัวลง แต่จากการที่อัตราส่วนหนี้สินของ BAFS มีการลดลงอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2553 ทำให้ BAFS ยังสามารถรองรับแผนการลงทุนที่มีเงินกู้เป็นแหล่งเงินทุนได้ในระดับหนึ่งโดยที่ยังคงสามารถรักษาอัตราส่วนหนี้สินให้อยู่ในระดับที่สอดคล้องกับอันดับเครดิตในปัจจุบันได้