นายปกรณ์ พรรธนะแพทย์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย(KBANK) เปิดเผยว่า ในปี 55 ธนาคารตั้งเป้าหมายมียอดเงินฝากและกองทุนรวมเติบโตจาก 1.8 ล้านล้านบาทในปี 54 เป็น 2.1 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นการเติบโตที่ 14% โดยยอดสินเชื่อบุคคลจะเพิ่มเป็น 2.84 แสนล้านบาท หรือเติบโต 12% จากปี 54 ที่มียอดสินเชื่อ 2.5 แสนล้านบาท ซึ่งเติบโต 19% จากปี 53 พร้อมตั้งเป้ามีรายได้ค่าธรรมเนียม 1.7 หมื่นล้านบาท หรือโต 30% จากปี 54 และเพิ่มจำนวนลูกค้าใหม่ 2 ล้านราย ขณะที่เอ็นพีแอลต่ำกว่าระบบที่ 1.63%
ธนาคารคาดว่าการแข่งขันในระบบธนาคารพาณิชย์ปีนี้ยังคงรุนแรงต่อเนื่องตามสภาพเศรษฐกิจโดยรวมที่จะขยายตัวสูงกว่าปี 54 และยังมีการซ่อมแซมบ้านเรื่อนหลังเกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ ทำให้ประชาชนมีความต้องการบริการทางการเงินในทุกรูปแบบมากขึ้น
ดังนั้น ธนาคารจึงตั้งเป้าหมายความสำเร็จครองใจลูกค้าสู่ความเป็น 1 ด้วย 4 กลยุทธ์ได้แก่ 1.ด้านความสะดวกสบาย โดยจะขยายการบริการผ่านช่องทางที่หลากหลาย เพื่อการบริการที่เข้าถึงลูกค้าทุกที่ทุกเวลา
2.คุณภาพบริการมาตรฐานระดับโลก ซึ่งธนาคารมุ่งมั่นจะยกระดับคุณภาพบริการขึ้นอีก นปีนี้ธนาคารตั้งเป้าหมายมีคะแนนความพอใจในการใช้บริการสูงเป็นอันดับ 1 ในโลก จากการสำรวจของบริษัท เดอะ วีนเส็น คอมปะนี (ประเทศไทย) ซึ่งได้สำรวจความพึงพอใจ 4 ปีที่ผ่านมา ปรากฏว่าธนาคารมีคะแนนความพึงพอใจเป็นอันดับ 1 ในไทยจากทุกประเภทธุรกิจ
3.ด้านทีมที่ปรึกษาการเงินมืออาชีพ ด้วยการพัฒนาพนักงานสาขาให้เป็นที่ปรึกษาทางด้านการเงินมืออาชีพ และ 4. ด้านผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่หลากหลายตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าทุกช่วงชีวิต
นายปกรณ์ กล่าวว่า การตั้งเป้าสินเชื่อบุคคลรวมในปี 55 เป็นการประเมินตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยที่ปีนี้คาดว่าขยายตัวได้ราว 4.3% ซึ่งเศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัวในไตรมาส 2/55 หลังจากได้รับผลกระทบสถานการณ์น้ำท่วม ทำให้ความต้องการสินเชื่อจะมีเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ ในปี 55 ธนาคารยังตั้งเป้าที่จะควบคุมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL)อยู่ในสัดส่วน 1.63% ของวงเงินสินเชื่อบุคคลธรรมดา ในระดับเดียวกับปี 54 ซึ่งสถานการณ์น้ำท่วมส่งผลกระทบต่อลูกค้าสินเชื่อบุคคลของธนาคารบ้าง แต่ส่วนใหญ่เป็นลูกค้าที่ดี ประกอบก้บธนาคารได้มีมาตรการเร่งติดตาม และให้ความช่วยเหลือลูกค้า ดังนั้น สถานการณ์น้ำท่วมมองว่าจะทำให้ NPL ของสินเชื่อบุคคลเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเพียง 0.1% เท่านั้น
นายปกรณ์ กล่าวให้ความเห็นกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) จะต้องมีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นจากสถาบันการเงิน นอกเหนือจากการส่งเงินสมทบเข้าสถาบันคุ้มครองเงินฝาก 0.40% เพื่อใช้ในการชำระหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน โดยยอมรับว่า จะส่งผลกระทบให้ต้นทุนของธนาคารเพิ่มขึ้นตามอย่างแน่นอน ดังนั้น การบริหารจัดการต้นทุนดังกล่าวคงต้องเป็นไปตามกลไกตลาด
ส่วนการที่จะให้มีการเรียกเก็บเงินนำส่งเพิ่มเติมจากฐานเงินฝาก รวมถึงตั๋วแลกเงิน(บีอี)เพื่อนำไปแก้ปัญหาหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินนั้น นายปกรณ์ มองว่า อาจไม่กระทบต่อการระดมเงินของธนาคารมากนัก เพราะการออกตั๋วบี/อีจะใช้เพื่อเป็นทางเลือกของผู้ลงทุนมากกว่า ซึ่งในปี 54 ธนาคารออกตั๋วบี/อีราว 5,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 1% ของฐานเงินฝากทั้งหมด และในปี 55 คาดว่าจะใช้บีอีเป็นช่องทางระดมเงินประมาณ 10,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากค่าธรรมเนียมที่ ธปท.จะจัดเก็บจากธนาคารพาณิชย์ไม่น่าจะส่งผลให้ระบบธนาคารพาณิชย์ชะลอการขึ้นหรือลดดอกเบี้ย แต่มองว่าดอกเบี้ยในตลาดจะขึ้นอยู่กับสภาพคล่องในระบบ และที่ผ่านมาดอกเบี้ยนโยบายยังไม่มีแนวโน้มลดลงอีก ขณะที่ธนาคารขนาดเล็กและธนาคารรัฐยังมีการแข่งขันระดมเงินฝากเพื่อเตรียมสภาพคล่อง เพราะมองว่าหลังน้ำลดความต้องการสินเชื่อเพื่อซ่อมแซมที่อยู่อาศัยจะมีเพิ่มขึ้น
"การเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้น ต้องทำให้ต้นทุนแบงก์เพิ่มขึ้นแน่นอน ส่วนจะบริหารจัดการอย่างไร ก็ต้องเป็นไปตามกลไกตลาด ดูทั้งภาวะตลาดและการแข่งขัน...การออกบีอีของธนาคาตจะใช้เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้ลงทุนมากกว่า ส่วนใหญ่แบงก์จะระดมเงินฝาก แต่จะออกบีอีเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า เพื่อให้มีโปรดักส์ที่หลากหลาย"นายปกรณ์ กล่าว
นายปกรณ์ กล่าวอีกว่า ในปี 55 ธนาคารจะเน้นระดมเงินผ่านการออกกองทุนรวม ซึ่งตั้งเป้าเติบโต 29% จากปี 54 ที่มียอดระดมเงินผ่านกองทุนรวม 4 แสนล้านบาท ส่วนเงินฝากตั้งเป้าเติบโต 9% จากปี 54 ที่มียอดเงินฝาก 1.3 ล้านล้านบาท เนื่องจากมองว่าในวันที่ 1 ส.ค.55 สถาบันคุ้มครองเงินฝากจะลดวงเงินการคุ้มครองจาก 50 ล้านบาท เหลือ 1 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ความเสี่ยงการลงทุนในกองทุนรวมและเงินฝากอยู่ใกล้เคียงกัน ดังนั้นธนาคารจะทยอยออกกองทุนรวมที่คุ้มครองเงินต้นนำเสนอบริการให้ลูกค้าด้วย