ทริสฯจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิไม่เกิน 1 พันลบ.ธ. ทิสโก้ ที่ “A-"

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday January 13, 2012 10:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศผลการจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิไม่มีประกันในวงเงินไม่เกิน 1,000 ล้านบาทของธนาคารทิสโก้ ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ถือหุ้น 99.98% โดย บมจ.ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป (TISCO)ที่ระดับ “A-" พร้อมทั้งประกาศยืนยันอันดับเครดิตองค์กรของธนาคารที่ระดับ “A" และคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันและหุ้นกู้ด้อยสิทธิไม่มีประกันชุดปัจจุบันของธนาคารที่ระดับ “A" และ “A-" แนวโน้มอันดับเครดิตยังคงเป็น “Positive" หรือ “บวก"

อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงความสามารถของคณะผู้บริหาร การมีระบบบริหารความเสี่ยงที่ดี และความสามารถในการรักษาสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงสินทรัพย์คุณภาพดีและความสามารถของธนาคารในการรักษาระดับกำไรที่เพียงพอไว้ได้อย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตมีข้อจำกัดจากปัจจัยบางประการ ได้แก่ การมีเครือข่ายน้อยกว่าเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่อื่น ๆ ความเสี่ยงในการระดมเงินฝากที่อาจเกิดขึ้นหลังการลดวงเงินคุ้มครองเงินฝากตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สถาบันคุ้มครองเงินฝาก รวมถึงความเสี่ยงด้านกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการออกตั๋วแลกเงิน นอกจากนี้ ธนาคารยังเผชิญกับการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงในธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ตลอดจนผลกระทบที่ยังไม่ชัดเจนจากอุทกภัยครั้งใหญ่ ความไม่แน่นอนของการเมืองภายในประเทศและภาวะเศรษฐกิจโลกด้วย ทั้งนี้ ปัจจัยดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพสินทรัพย์และความสามารถในการแข่งขันของธนาคารในระยะยาว

ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Positive" หรือ “บวก" สะท้อนความคาดหวังว่าธนาคารทิสโก้จะสามารถดำรงสถานะทางการแข่งขันที่แข็งแกร่งในธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และมีผลประกอบการที่ดีได้ตามคาดในระยะปานกลาง แนวโน้มอันดับเครดิตยังสะท้อนถึงความสามารถของธนาคารในการควบคุมคุณภาพสินทรัพย์และดำรงเงินกองทุนที่เพียงพอซึ่งจะช่วยบรรเทาความเสี่ยงในอนาคตอันเกิดจากสภาพเศรษฐกิจรวมถึงธุรกิจที่ยังไม่แน่นอน

ทั้งนี้ อันดับเครดิตและแนวโน้มอันดับเครดิตของธนาคารยังคงเผชิญกับความท้าทายจากผลกระทบที่จะเกิดขึ้นภายหลังการบังคับใช้ พ.ร.บ. สถาบันคุ้มครองเงินฝาก อาทิ ความสามารถในการดำรงความแข็งแกร่งและรักษาเสถียรภาพของฐานเงินทุนได้ด้วยต้นทุนที่เหมาะสม เป็นต้น

ทริสเรทติ้ง รายงานว่า ธนาคารทิสโก้มีการพัฒนาบุคลากรระดับบริหารจนมีความเชี่ยวชาญภายใต้แนวทางการบริหารที่ระมัดระวังอันเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้ธนาคารเติบโตในตลาดเฉพาะกลุ่มเป้าหมายได้เป็นอย่างดี ณ สิ้นเดือนกันยายน 2554 ธนาคารมีขนาดสินทรัพย์รวมอยู่ในอันดับที่ 10 ในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทยทั้ง 15 แห่ง ด้วยส่วนแบ่งทางการตลาดสำหรับสินเชื่อรวมที่ 2.3% และเงินรับฝากที่ 0.5%

ธนาคารยังสามารถขยายสินเชื่อได้อย่างต่อเนื่องด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ยประมาณ 20% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยมีเงินให้สินเชื่อ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2554 จำนวนทั้งสิ้น 176 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 22% จาก 145 พันล้านบาทเมื่อสิ้นปี 2553 จากการเพิ่มขึ้นของทั้งสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่อรายย่อย นอกจากนี้ ธนาคารยังสามารถรักษาสถานะทางการแข่งขันในธุรกิจหลักอันได้แก่สินเชื่อเช่าซื้อเอาไว้ได้ โดยเป็นผู้ให้สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์รายใหญ่อันดับ 3 ของประเทศ ด้วยส่วนแบ่งทางการตลาด ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2554 ที่ประมาณ 13% จากฐานข้อมูลของทริสเรทติ้ง

ฐานะทางการเงินของธนาคารทิสโก้ว่าแข็งแกร่งขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยมีกำไรสุทธิในปี 2553 จำนวน 1,993 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 47% จาก 1,357 ล้านบาทในปี 2552 ในขณะที่อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยและอัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นถัวเฉลี่ยสำหรับปี 2553 เท่ากับ 1.36% และ 17% ตามลำดับ เพิ่มขึ้นจาก 1.08% และ 12.03% ในปี 2552

นอกจากนี้ ผลการดำเนินงานของธนาคารยังดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีกำไรสุทธิสำหรับงวด 9 เดือนแรกของปี 2554 เท่ากับ 2,032 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29% จากงวดเดียวกันของปีก่อนอันเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ รวมทั้งจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น และรายได้ค่าธรรมเนียมที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็นผลมาจากความสามารถในการควบคุมต้นทุนดำเนินงานและต้นทุนสำรองหนี้สูญที่มีประสิทธิภาพด้วย

ธนาคารทิสโก้พัฒนาระบบบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพจนสามารถควบคุมดูแลให้สินทรัพย์ยังคงมีคุณภาพดีซึ่งสะท้อนจากการลดลงอย่างต่อเนื่องของอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Non-performing Loan -- NPL) ต่อสินเชื่อรวม ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2554 ธนาคารมีอัตราส่วน NPL ลดลงเหลือ 1.1% ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดในกลุ่มธนาคารพาณิชย์และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่ระดับ 4% ของธนาคารพาณิชย์ไทยทั้ง 11 แห่งจากฐานข้อมูลของทริสเรทติ้ง

นอกจากนี้ ธนาคารยังมีสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-performing Asset — NPA ซึ่งประกอบด้วยเงินให้สินเชื่อจัดชั้นค้างชำระเกินกว่า 3 เดือน ยอดคงค้างสินเชื่อที่ปรับโครงสร้างหนี้ และทรัพย์สินรอการขาย) คิดเป็น 0.15 เท่าของผลรวมของเงินกองทุนและค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ โดยลดลงจาก 0.27 เท่าในปี 2552 และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่ระดับ 0.53 เท่า

ทางด้านแหล่งเงินทุนและสภาพคล่องนั้น ธนาคารทิสโก้มีความเสี่ยงด้านสภาพคล่องในระดับหนึ่งเนื่องจากมีหนี้สินระยะสั้นที่จะครบกำหนดชำระคืนภายในเวลา 12 เดือนมากกว่าสินทรัพย์ที่จะครบกำหนดในช่วงเดียวกัน นอกจากนี้ ธนาคารยังมีแหล่งเงินทุนที่กระจุกตัวอยู่ในกลุ่มลูกค้ารายใหญ่จำนวนมากซึ่งอาจก่อให้เกิดความผันผวนได้ง่าย ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2554 ธนาคารมีแหล่งเงินทุนที่มาจากผู้ฝากเงินและผู้ให้กู้ยืมรายใหญ่ (เงินฝากหรือตั๋วแลกเงินที่มากกว่า 10 ล้านบาทขึ้นไป) คิดเป็นประมาณ 77% ของเงินรับฝากรวมตั๋วแลกเงิน ธนาคารอาจเผชิญกับปัญหาสภาพคล่องในกรณีที่ลูกค้ารายใหญ่จำนวนมากเบิกถอนเงินในคราวเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ธนาคารก็มีกลยุทธ์ที่จะเพิ่มจำนวนบัญชีลูกค้ารายย่อยให้มากขึ้นเพื่อให้แหล่งเงินทุนมีการกระจายตัวดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ ธนาคารยังเผชิญกับปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อความแข็งแกร่งและเสถียรภาพของแหล่งเงินทุนอันได้แก่ ความไม่แน่นอนด้านกฎระเบียบที่จะเพิ่มความเข้มงวดในการออกตั๋วแลกเงินมากขึ้น รวมทั้งวงเงินคุ้มครองเงินฝากที่จะลดลงจาก 50 ล้านบาทเป็น 1 ล้านบาทในเดือนสิงหาคม 2555 ตามที่กำหนดใน พ.ร.บ. สถาบันคุ้มครองเงินฝาก

ในส่วนของเงินกองทุนนั้น ณ สิ้นเดือนกันยายน 2554 ธนาคารทิสโก้มีอัตราส่วนเงินกองทุนขั้นที่ 1 และเงินกองทุนรวมเท่ากับ 9.88% และ 14% ตามลำดับ ลดลงจาก 11.29% และ 15.23% ในปี 2553 อันเป็นผลจากการขยายตัวของสินเชื่อ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าอัตราส่วนเงินกองทุนรวมของธนาคารจะต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมที่ 15.40% แต่ธนาคารยังคงมีเงินกองทุนที่เพียงพอและสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ระดับ 8.5%

นอกจากนี้ ธนาคารยังมีการคำนวณเงินกองทุนสำหรับความเสี่ยงด้านเครดิตโดยวิธีการจัดอันดับเครดิตภายใน (Internal Ratings Based Approach -- IRB) ภายใต้หลักเกณฑ์ Basel II อีกทั้งยังพัฒนากระบวนการประเมินความเพียงพอของเงินกองทุนภายใน (Internal Capital Adequacy Assessment Process -- ICAAP) ด้วย ซึ่งกระบวนการเหล่านี้จะช่วยให้ธนาคารมีระบบการบริหารความเสี่ยงและจัดการเงินกองทุนที่ดียิ่งขึ้นในอนาคต


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ