TICONมั่นใจปี 55 กำไรพุ่ง ยอดเช่ารง.คืนปกติ-ขายสินทรัพย์เข้ากองทุนฯสูง

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday January 13, 2012 12:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวีรพันธ์ พูลเกษม กรรมการผู้จัดการ บมจ.ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น(TICON)เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ว่า บริษัทมั่นใจว่ากำไรในปี 55 จะกลับมาเติบโตได้สูงกว่าปี 54 เป็นอย่างมาก เนื่องจากสามารถขายสินทรัพย์เข้ากองทุนอสังหาริมทรัพย์มูลค่าสูงขึ้น หลังเลื่อนมาจากปีก่อน และสถานการณ์ตลาดเช่าโรงงานกลับคืนสู่ปกติ เมื่อวิกฤติอุทกภัยครั้งใหญ่ผ่านพ้นไป

"ไตรมาส 1/55 ถ้ามีการขายสินทรัพย์ก็จะมีกำไรจากการขายเข้า TFUND กำไรก็จะฟื้นตัว และส่งผลให้กำไรในปี 55 กลับมาเติบโตดีกว่าปี 54 อย่างมาก จากธุรกิจเช่าที่กลับมาปกติ และมีการขายสินทรัพย์เข้ากองทุน จากปี 54 ที่ไม่มี"นายวีรพันธ์ กล่าว

ทั้งนี้ ธุรกิจให้เช่าโรงงานกลับสู่ภาวะปกติแล้วในช่วงต้นปี 55 บริษัทจึงตั้งเป้าเพิ่มผู้เช่าใหม่อีก 2.5 แสน ตร.ม.แบ่งเป็นคลังสินค้า 1.5 แสน ตร.ม.และโรงงาน 1 แสน ตร.ม.เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 54 ที่มีผู้เช่าใหม่เพิ่มเกือบ 2.3 แสน ตร.ม.ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ในระดับ 1.5-1.8 แสน ตร.ม.

นายวีระพันธ์ กล่าวว่า ภาพรวมปีนี้ธุรกิจให้เช่าพื้นที่โรงงานและคลังสินค้าน่าจะดีขึ้น เพราะบริษัทญี่ปุ่นยังสนใจเข้ามาหาซื้อที่ดินเพิ่มในไทย แต่ปัญหาที่กังวลคือการประกันเหตุอุทกภัย และมาตรการหรือระบบการบริหารจัดการน้ำ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอย จึงต้องรอฟังว่าวันเสาร์นี้นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ จะชี้แจงแผนบริหารจัดการน้ำที่คณะรัฐมนตรี(ครม.)เพิ่งเห็นชอบให้มีการกู้เงิน 3.5 แสนล้านบาทมาใช้อย่างไร แต่เบื้องต้นทุกนิคมอุตสาหกรรมก็มีแผนที่จะสร้างเขื่อนป้องกันน้ำเป็นการถาวร โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือน ก.ย.นี้

พร้อมกันนั้น ในปีนี้บริษัทมีแผนขายสินทรัพย์เข้ากองทุนอสังหาริมทรัพย์รวมประมาณ 4,000-4,200 ล้านบาท ซึ่งจะเริ่มทยอยขายตั้งแต่ไตรมาส 1/55 หลังส่วนหนึ่งเลื่อนมาจากไตรมาส 4/54 โดยแบ่งเป็นขายสินทรัพย์โรงงานเข้ากองทุน TFUND 2,200 ล้านบาท เริ่มในไตรมาส 1/55 ราว 700 กว่าล้านบาท ซึ่งมูลค่าลดลงจากเดิม 1,500 ล้านบาทหลังจากถูกน้ำท่วม ส่วนอีก 1,500 ล้านบาทจะขายในช่วงปลายไตรมาส 2/55-ต้นไตรมาส 3/55

และขายสินทรัพย์ที่เป็นคลังสินค้าเข้ากองทุน TLOGIS อีก 2,000 ล้านบาท ช่วงปลายไตรมาส 3/55 หรือต้นไตรมาส 4/55

นายวีระพันธ์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้พื้นที่โรงงานในเขตภาคตะวันออกเต็มหมดทั้ง 100% โดยมีลูกค้าใหม่เข้ามาและลูกค้าบางส่วนที่ขอย้ายไป ซึ่งเป็นบริษัทเล็กๆ ดังนั้น บริษัทจึงมีแผนพัฒนาคลังสินค้าเพิ่มในภาคตะวันออก เริ่มตั้งแต่ครึ่งหลังปี 55 เป็นต้นไปเพื่อรองรับลูกค้าบางส่วนที่ขอย้ายไปภาคตะวันออกและลูกค้าใหม่ ขณะที่ตั้งงบลงทุนในปีนี้ไว้ 3,500 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าก่อสร้าง 2,500 ล้านบาท และซื้อที่ดินเพิ่มอีก 1,000 ล้านบาท

ส่วนพื้นที่ของบริษัทในนิคมอุตสาหกรรมโรจนะนั้น ขณะนี้ยังคงแผนที่จะพัฒนาต่อ หลังจากได้ชะลอการก่อสร้างเพราะเกรงผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมหนักที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้จะทำให้ผู้ประกอบการไม่กล้าเข้ามาเช่าโรงงานในพื้นที่ แต่ขณะนี้คาดว่าในที่สุดแล้วคนก็จะกลับมา เพราะโรงงานขนาดใหญ่ไม่ว่าจะเป็น HONDA หรือเวสเทิร์นดิจิตอล ก็ยังเช่าพื้นที่เพิ่ม มีเพียงบริษัทเล็กๆบางส่วนอาจจะขอย้ายออกไปบ้าง

สำหรับโรงงานและคลังสินค้าในพื้นที่ภาคกลางของบริษัทที่ถูกน้ำท่วมราว 80 โรง ขณะที่มีการซ่อมแซมและทยอยส่งมอบลูกค้าแล้ว โดยคาดว่าสิ้นเดือน ม.ค.จะเสร็จราว 40% อย่างที่วังน้อย จ.อยุธยาที่เป็นคลังสินค้าลูกค้าเข้าไปใช้พื้นที่ได้ตามปกติแล้ว ส่วนที่เหลือยังมีปัญหาว่าบริษัทประกันภัยไม่อนุญาตไห้เข้าไป แต่คาดว่าภายในเดือน ก.พ.น่าจะเข้าไปสำรวจความเสียหายได้ทั้งหมดและปลายเดือนมี.ค.หรือสิ้นไตรมาส 1/55 จะสามารถดำเนินการซ่อมแล้วเสร็จและส่งมอบลูกค้าได้ 100%

นายวีระพันธ์ กล่าวว่า บริษัทมีค่าใช้จ่ายในการซ่อมโรงงานและคลังสินค้าที่ถูกน้ำท่วมแต่ละแห่งประมาณ 1 ล้านบาท ซึ่งจะบันทึกเป็นค่าใช้จ่ายในไตรมาส 4/54 ส่งผลให้คาดว่าจะมีผลขาดทุนในไตรมาสดังกล่าว เนื่องจากบริษัทประกันภัยยังไม่จ่ายเงินชดเชยเข้ามา โดยคาดว่าจะมาจ่ายให้ในปีนี้ทั้งหมด แต่หากเป็นงบทั้งปี 54 ก็คาดว่ายังจะเป็นกำไรสุทธิอยู่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ