ทริสฯ เพิ่มเครดิตองค์กร-หุ้นกู้ TCAP เป็น “A+/Stable"จาก“A/Positive"

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday January 16, 2012 14:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศปรับเพิ่มอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันของ บมจ.ทุนธนชาต(TCAP) เป็นระดับ “A+" จากเดิมที่ระดับ “A" พร้อมเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตเป็น “Stable" หรือ “คงที่" จาก “Positive" หรือ “บวก"

อันดับเครดิตสะท้อนสถานะการเป็นบริษัทโฮลดิ้งซึ่งทำธุรกิจลงทุนในกลุ่มธนชาต ตลอดจนอำนาจการบริหารงานในธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) ผ่านการถือหุ้น 50.96% และผลตอบแทนในรูปของเงินปันผลที่ได้รับอย่างสม่ำเสมอจากธนาคารธนชาต

ทั้งนี้ อันดับเครดิตองค์กรของบริษัทอยู่ในระดับต่ำกว่าอันดับเครดิตองค์กรของธนาคารธนชาตซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์อยู่ 1 ขั้นอันสะท้อนถึงการที่บริษัทต้องพึ่งพารายได้เงินปันผลจากธนาคารธนชาตเป็นหลัก รวมถึงอุปสรรคจากกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการจ่ายเงินปันผลจากธนาคารธนชาต

นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงคณะผู้บริหารที่มีความสามารถ ระบบการบริหารความเสี่ยงที่พัฒนาขึ้นมาในระดับที่ได้มาตรฐาน ฐานเงินทุนที่แข็งแกร่ง รวมถึงการสนับสนุนทั้งทางด้านธุรกิจและเงินทุนจากพันธมิตรทางธุรกิจคือ Bank of Nova Scotia (BNS) ด้วย ในขณะเดียวกัน การซื้อกิจการธนาคารนครหลวงไทย(SCIB) ยังช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่สถานะทางการตลาด ตลอดจนความหลากหลายของธุรกิจ และฐานะทางการเงินในอนาคตของกลุ่มธนชาต โดยช่วยสร้างการเติบโตทั้งในส่วนของเงินให้สินเชื่อ ฐานเงินฝาก และจำนวนสาขาของธนาคาร

อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนด้วยคุณภาพสินทรัพย์ที่อ่อนแอลง นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังได้รับแรงกดดันจากความไม่แน่นอนของผลกระทบที่เกิดจากอุทกภัยครั้งใหญ่ในประเทศไทย ตลอดจนภาวะการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงในธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ และธุรกิจหลักทรัพย์ รวมถึงความไม่มีเสถียรภาพของการเมืองภายในประเทศและภาวะเศรษฐกิจโลก โดยปัจจัยเหล่านี้อาจจำกัดความสามารถในการทำกำไรรวมทั้งโอกาสในการขยายธุรกิจของกลุ่มธนชาตด้วย

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนความคาดหมายว่าธนาคารธนชาตซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักของบริษัทจะสามารถผสานประโยชน์ทางธุรกิจกับ BNS และทำให้สถานะในการแข่งขันในธุรกิจหลักมีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น อีกทั้งการได้รับการสนับสนุนทั้งด้านเงินทุน ความรู้ และความเชี่ยวชาญในธุรกิจจากพันธมิตรอันได้แก่ BNS และบริษัททุนธนชาตนั้นจะช่วยให้ธนาคารธนชาตมีผลประกอบการที่ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังคาดด้วยว่าบริษัทจะสามารถควบคุมดูแลและบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพให้ดีขึ้นได้อย่างรวดเร็ว

BNS กลายมาเป็นพันธมิตรธุรกิจของบริษัททุนธนชาตโดยได้ถือหุ้นในธนาคารธนชาตในสัดส่วน 24.98% ในเดือนกรกฎาคม 2550 และเพิ่มขึ้นเป็น 49% ในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ต่อมาธนาคารธนชาตได้ซื้อกิจการของธนาคารนครหลวงไทยในปี 2553 ตามแผนกลยุทธ์การเติบโตทางธุรกิจ พร้อมทั้งทำการถ่ายโอนธุรกิจของธนาคารนครหลวงไทยมาเป็นของธนาคารธนชาตอย่างเรียบร้อยเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2554 การซื้อกิจการของธนาคารนครหลวงไทยช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านการแข่งขันให้แก่ธนาคารธนชาต อีกทั้งยังช่วยให้พอร์ตสินเชื่อของธนาคารมีการกระจายตัวโดยมีสัดส่วนของสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่อรายย่อยที่ดีขึ้น

ทริสเรทติ้งกล่าวว่า TCAP มีขนาดของสินทรัพย์รวมใหญ่เป็นอันดับที่ 6 ในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทย 15 แห่ง โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดของสินเชื่อที่ 8.3% และของเงินฝากที่ 6.5% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2554 บริษัทมีสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 888.1 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.9% จาก 881.9 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2553 รายได้จากการดำเนินงานสุทธิสำหรับงวด 9 เดือนแรกของปี 2554 เป็นรายได้ที่มาจากธนาคารธนชาตและบริษัทย่อยของธนาคารประมาณ 93% ส่วนที่เหลืออีก 7% เป็นรายได้จากบริษัทและบริษัทย่อยอื่นๆ ของบริษัท ได้แก่ บริษัทบริหารสินทรัพย์ เอ็น เอฟ เอส จำกัด และบริษัทบริหารสินทรัพย์ แม๊กซ์ จำกัด

บริษัทมีฐานะทางการเงินที่ดีขึ้น โดยมีกำไรสุทธิสำหรับงบการเงินรวมในปี 2553 จำนวน 5,639 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.4% จากกำไรสุทธิในปี 2552 จำนวน 5,109 ล้านบาทซึ่งเป็นผลจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น รวมทั้งรายได้ค่าธรรมเนียมที่เพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ต้นทุนสำรองหนี้สูญลดต่ำลง

อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการของบริษัทในงวด 9 เดือนแรกของปี 2554 ลดลง 4.4% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จาก 4,250 ล้านบาทในปี 2553 เป็น 4,065 ล้านบาทในปี 2554 โดยยังคงสอดคล้องกับตัวเลขประมาณการของทริสเรทติ้ง สำหรับอัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ย (Return on Average Asset -- ROAA) เติบโตจาก 0.77% ในปี 2551 เป็น 1.2% ในปี 2552 แต่กลับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 0.84% ในปี 2553 อันเป็นผลจากการที่บริษัทมีสินทรัพย์รวมที่ใหญ่ขึ้นถึง 2 เท่าภายหลังการควบรวมกิจการ

ในขณะที่กำไรสุทธิที่เพิ่มขึ้นจากกำไรสุทธิของธนาคารนครหลวงไทยนั้นกลับเพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่น้อยกว่า อัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นถัวเฉลี่ย (Return on Average Equity -- ROAE) เพิ่มขึ้นจาก 8.57% ในปี 2551 เป็น 12.81% ในปี 2552 แต่ลดลงไปอยู่ที่ระดับ 9.47% ในปี 2553 ซึ่งเป็นผลจากส่วนได้เสียที่ไม่มีอำนาจควบคุมในบริษัทย่อย (ส่วนของ BNS) ที่มีขนาดใหญ่ขึ้นตามการเพิ่มทุนของธนาคารธนชาต นอกจากนี้ ROAA และ ROAE สำหรับงวด 9 เดือนแรกของปี 2554 ก็เท่ากับ 0.46% และ 5.62% ตามลำดับ (ยังไม่ได้ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปี) โดยลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่ระดับ 0.65% และ 7.24% ตามลำดับ

บริษัทสร้างคณะผู้บริหารที่มีความชำนาญซึ่งทำให้บริษัทสามารถให้การสนับสนุนบริษัทย่อยในกลุ่มธนชาตในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ในขณะเดียวกันยังสามารถยืดหยุ่นและปรับตัวเพื่อพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจและเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ บริษัทยังได้พัฒนาระบบการบริหารความเสี่ยงให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลอย่างต่อเนื่อง

กระนั้นก็ตาม บริษัทยังคงต้องเผชิญกับสินเชื่อด้อยคุณภาพที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อธุรกิจของธนาคารนครหลวงไทยอันเป็นผลจากการซื้อกิจการโดยธนาคารธนชาต ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2554 บริษัทมีอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมเท่ากับ 6.62% เพิ่มขึ้นจาก 4.06% ในปี 2552 และสูงกว่าค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ไทย 11 แห่งในฐานข้อมูลของทริสเรทติ้ง (ไม่รวมธนาคารที่มีต่างชาติเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 3 แห่ง)

บริษัทมีสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (สินเชื่อที่ค้างชำระเกินกว่า 3 เดือน ยอดคงค้างของสินเชื่อที่ปรับโครงสร้างหนี้ และสินทรัพย์รอการขาย) ณ สิ้นเดือนกันยายน 2554 คิดเป็น 0.76 เท่าของผลรวมของเงินกองทุนและค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ โดยเพิ่มขึ้นจาก 0.44 เท่าในปี 2552 และสูงกว่าค่าเฉลี่ยที่ระดับ 0.53 เท่า ความสามารถของคณะผู้บริหารในการควบคุมคุณภาพของสินทรัพย์ในช่วงเวลาหลังการควบรวมกิจการจึงยังคงต้องรอการพิสูจน์ต่อไป ทั้งนี้ ระบบการบริหารความเสี่ยงที่ดีขึ้น คณะผู้บริหารที่มีประสบการณ์ และธุรกิจที่มีการกระจายตัว ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยปกป้องบริษัทจากความเสี่ยงจากภาวะถดถอยได้ในระยะกลาง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ