สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) สรุปภาวะตลาดตราสารหนี้ประจำสัปดาห์ (9 - 13 มกราคม 2555) ปริมาณการซื้อขายตราสารหนี้มีมูลค่ารวม 334,089 ล้านบาท หรือเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณวันละ 66,818 ล้านบาท ลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้านี้ประมาณ 8% ทั้งนี้เมื่อแยกตามประเภทของตราสารแล้วจะพบว่ากว่า 89% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมด หรือประมาณ 298,299 ล้านบาท เป็นการซื้อขายในตราสารหนี้ที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (State Agency Bond) ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นตราสารที่มีอายุคงเหลือค่อนข้างน้อย (ไม่เกิน 6 เดือน) ในขณะที่พันธบัตรรัฐบาลที่ออกโดยกระทรวงการคลัง (Government Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 29,084 ล้านบาท และหุ้นกู้ที่ออกโดยภาคเอกชน (Corporate Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 3,797 ล้านบาท หรือคิดเป็น 9% และ 1% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมดที่เกิดขึ้น ตามลำดับ
สำหรับพันธบัตรรัฐบาล รุ่นที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรกคือ รุ่น LB15DA (อายุ 3.9 ปี), LB17OA (อายุ 5.7 ปี) และ LB176A (อายุ 5.4 ปี) มีมูลค่าการซื้อขายในแต่ละรุ่นเท่ากับ 5,945 ล้านบาท 3,971 ล้านบาท และ 3,716 ล้านบาท ตามลำดับ ส่วนพันธบัตรที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย รุ่นที่มีปริมาณการซื้อขายสูงสุด 3 อันดับแรก คือรุ่น CB12131A (อายุ 14 วัน), CB12124A (อายุ 14 วัน) และ CB12412B (อายุ 91 วัน) มูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 105,170 ล้านบาท 44,631 ล้านบาท และ19,751 ล้านบาท ตามลำดับ
ทางด้านหุ้นกู้ภาคเอกชน ที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรกนั้น ได้แก่ หุ้นกู้ของบริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) (MINT183A (A)) มูลค่าการซื้อขาย 599 ล้านบาท หุ้นกู้ของบริษัท อยุธยา แคปปิตอล ออโต้ ลีส จำกัด (มหาชน) (AYCAL145A (A+)) มูลค่าการซื้อขาย 544 ล้านบาท และหุ้นกู้ของบริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) (BTG12DA (A)) มูลค่าการซื้อขาย 331 ล้านบาท
เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Yield Curve) ขยับตัวขึ้นลงอยู่ในกรอบแคบๆ หรือโดยเฉลี่ยแล้วเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงประมาณ -5 ถึง +1 Basis Point (100 Basis point มีค่าเท่ากับ 1%) โดยผลตอบแทนของพันธบัตรระยะสั้นและระยะยาวส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง ในขณะที่ผลตอบแทนของพันธบัตรระยะกลางปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ทั้งนี้ ภาพรวมของตลาดตราสารหนี้ไทยในสัปดาห์ที่ผ่านมายังคงเคลื่อไหวอยู่ในเกณฑ์ที่ดี หลังจากที่นักลงทุนเริ่มคลายความกังวลจากกระแสข่าวที่ว่าปริมาณการเสนอขาย (Supply) พันธบัตรรัฐบาลอาจจะลดลง หากรัฐบาลทำการโอนหนี้ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯไปให้กับธนาคารแห่งประเทศไทย โดยในสัปดาห์ที่ผ่าน กระทรวงการคลังได้เผยแพร่ตารางการประมูลพันธบัตรในไตรมาสที่ 2 ซึ่งยังแสดงให้เห็นถึงปริมาณการออกพันธบัตรที่ไม่ได้ลดลงตามกระแสข่าว นอกจากนี้แล้วยังได้มีการประกาศชื่อนิติบุคคลต่างประเทศ 7 ราย ที่ได้รับอนุญาตให้ออกพันธบัตรหรือหุ้นกู้สกุลเงินบาทในวงเงิน 66,000 ล้านบาทอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ประเด็นปัญหาหนี้สาธารณะในยุโรปยังคงเป็นปัจจัยที่คอยกดดันบรรยากาศการลงทุนอยู่เช่นเดิม โดยล่าสุด ประเทศกรีซกลับมามีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ที่จะครบกำหนดในเดือนมีนาคมนี้ หากไม่สามารถปรับลดรายจ่ายของประเทศลงได้ ประกอบกับกระแสข่าวของ 15 ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป (EU) ที่มีแนวโน้มจะถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ หาก EU ยังไม่มีมาตรการแก้ไขวิกฤตหนี้สาธารณะที่ชัดเจนและทันการณ์
ทั้งนี้ ในสัปดาห์ที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติมียอด ซื้อสุทธิ 7,742 ล้านบาทในตลาดตราสารหนี้ โดยที่มูลค่าการซื้อขายส่วนใหญ่ของนักลงทุนกลุ่มนี้ยังคงเน้นไปในตราสารระยะสั้น (มีอายุคงเหลือน้อยกว่า 1 ปี) เป็นหลัก จึงไม่ได้ส่งผลต่อภาพรวมของการซื้อขายตราสารหนี้ในตลาดมากเท่าใดนัก และสำหรับนักลงทุนรายย่อย ที่ถึงแม้จะมีสัดส่วนของการซื้อขายตราสารหนี้ในตลาดค่อนข้างน้อย แต่ในสัปดาห์ที่ผ่านมายังคงมียอดซื้อสุทธิอย่างต่อเนื่องประมาณ 643 ล้านบาท