นายบัณฑิต นิจถาวร ประธานสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย กล่าวถึงการลงทุนในตลาดตราสารหนี้เมื่อเทียบกับการลงทุนในตลาดหุ้นและตลาดสินเชื่อในปีนี้มีหลายปัจจัยต้องพิจารณา เนื่องจากเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวลง ประกอบกับความผันผวนในตลาดการเงินโลกอาจจจะมีมากขึ้นจากปัญหาหนี้ในสหภาพยุโรป จากสองปัจจัยดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า ปีนี้ตลาดตราสารหนี้น่าที่จะเติบโตต่อเนื่อง แต่ความผันผวนเศรษฐกิจโลกและตลาดการเงินโลกจะเป็นปัจจัยที่ต้องระมัดระวังมากขึ้นและต้องติดตามต่อไป
สำหรับการออกตราสารหนี้ปีนี้ บทบาทหลักจะยังคงเป็นภาครัฐบาลที่จะออกตราสารหนี้เพื่อระดมเงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณประจำปีซี่งเป็นเรื่องปกติ ประกอบกับปีนี้เป็นปีที่ภาครัฐจะมีการใช้จ่ายเงินเพิ่มมากขึ้นเพื่อการลงทุนโดยเฉพาะการฟื้นเศรษฐกิจจากภาวะน้ำท่วมเมื่อปีที่ผ่านมา ภาครัฐจึงจะใช้ประโยชน์จากตราสารหนี้มากขึ้นในรูปประโยชน์ของแหล่งระดมทุน ซี่งจะเป็นประโยชน์ต่อตลาดตราสารหนี้ไทยที่จะมีตราสารหนี้ใหม่ ๆ ออกมาเพื่อที่จะตอบสนองความต้องการลงทุนของภาคเอกชนเพิ่มมากขึ้น
หากพิจารณาแง่ผู้สนใจลงทุนจากต่างประเทศ จะพบว่า แม้ปีนี้เศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวลง แต่เศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจอีกหลายประเทศในเอเชียยังน่าจะเป็นแหล่งลงทุนที่สำคัญของต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศไทย จากการประเมินสถานการณ์พบว่า ประเทศไทยยังเป็นแหล่งลงทุนที่น่าสนใจเนื่องจากปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจค่อนข้างเข้มแข็งและผลตอบแทนจากการลงทุนในตราสารเมื่อเทียบกับความเสี่ยงอยู่ในเกณฑ์ที่ค่อนข้างดี เพราะประเทศไทยไม่เป็นประเทศที่มีปัญหาหนี้สาธารณะ และที่สำคัญบทบาทของผู้ลงทุนจากต่างประเทศในประเทศไทยขณะนี้ในตลาดตราสารหนี้ยังมีไม่มาก จึงจะเป็นปัจจัยดึงดูดให้ผู้ลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในตลาดตราสารหนี้ไทยเพิ่มมากขึ้น
นายบัณฑิต กล่าวว่า จากการติดตามตัวเลข 2 สัปดาห์แรกปีนี้พบว่า ยังมีเงินเข้ามาลงทุนในตลาดตราสารหนี้ไทยอย่างต่อเนื่อง ซี่งหวังว่าสถานการณ์นี้จะต่อเนื่องไปตลอดปี 55 นี้ แต่สิ่งที่ต้องการให้ความสำคัญมากขึ้นคือ ภาคเอกชนจะใช้ตลาดตราสารหนี้เป็นแหล่งระดมเงินทุนมากขึ้น โดยการออกหุ้นกู้ภาคเอกชน หวังว่าส่วนหนึ่งเป็นความต้องการที่จะออกเพื่อระดมทุนในปีที่แล้วแต่ไม่ได้ดำเนินการเพราะเกิดภาวะน้ำท่วมจึงออกในปีนี้ อีกส่วนเป็นการออกตราสารหนี้เพื่อระดมทุนทดแทนการกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์ ซี่งปีนี้ตลาดสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์โดยเฉพาะในรูปของเงินตราต่างประเทศอาจจะไม่คล่องตัวมากเหมือนกับเดือนธันวาคมที่ผ่านมา เนื่องจากสภาพคล่องที่อาจจะมีมากขึ้นในแง่ของผลกระทบที่จะตามมาจากปัญหาหนี้ยุโรป ดังนั้นตลาดตราสารหนี้ไทยจะเป็นแหล่งที่ภาคเอกชนใช้ระดมทุนเพิ่มมากขึ้น เพราะว่าศักยภาพของตลาดยังเติบโตต่อเนื่องความสนใจของนักลงทุนต่างประเทศก็มีต่อเนื่อง ประการสำคัญความผันผวนของตลาดตราสารหนี้ผันผวนน้อยกว่าตลาดหุ้นที่ผันผวนตามภาวะเศรษฐกิจอยู่แล้ว
สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยประเมินว่า ปีนี้จะมีภาคเอกชนออกตราสารหนี้ใหม่ประมาณ 2.5 แสนล้านบาทเท่า ๆ กับปี 54 ในขณะที่ภาครัฐจะออกตราสารหนี้ใหม่ประมาณ 5.5 แสนล้านบาท
ด้านนายนิวัฒน์ กาญจนภูมินทร์ กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย กล่าวว่า การออกหุ้นกู้ของภาคเอกชนไทยนั้นคาดว่าในปี 55 จะออกหุ้นกู้ 2.5-3 แสนล้านบาท จากปีก่อนที่ออกมาจำนวน 2.2 แสนล้านบาท เนื่องจากปีนี้เศรษฐกิจยังคงมีการเติบโตต่อเนื่องและจำเป็นต้องระดมเพื่อการลงทุน รวมทั้งปัญหาน้ำท่วมใหญ่ในช่วงปลายปีทำให้ภาคเอกชนต้องฟื้นฟูจากอุทกภัย ส่วนพันธบัตรรัฐบาล 3-3.5 แสนล้านบาท โดย 3 แสนล้านบาท เป็นการรีไฟแนนซ์พันธบัตรที่จะครบอายุไถ่ถอนและยังมีตัวแปรจากพ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟู และพัฒนาระบบสถาบันการเงิน เพื่อให้ธปท.รับผิดชอบการชำระดอกเบี้ยและเงินต้นของกองทุนฟื้นฟูเรื่องการโอนหนี้กองทุนฟื้นฟูไปยังธนาคารแห่งประเทศไทยด้วย
Dato' Lee Kok Kwan Group Deputy CEO Corporate Banking, Treasury and Markets, CIMB กรุ๊ป กล่าวว่า หากจะให้มีความเชื่อมโยงตลาดหุ้นกู้ในกลุ่มประเทศอาเซียน ทางการแต่ละประเทศต้องยอมรับการจัดอันดับของบริษัทจัดอันดับในประเทศนั้น เช่น เอกชนสามารถระดมทุนจากหุ้นกู้ในตลาดอินโดนีเซีย ซึ่งก.ล.ต. อินโดนีเซียต้องยอมรับการจัดอันดับ ฟิทช์ ของไทย ซึ่งหากเกิดการยอมรับการจัดอันดับเช่นนี้ตลาดบอนด์จะขยายตัวมากขึ้น ซึ่งรวมทั้งในกลุ่มประเทศอาเซียนบวก 3 ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ซึ่งยังมีอุปสรรคในการเปิดตลาดหุ้นกู้ในภูมิภาค เนื่องจากเรตติ้งบริษัทเอกชนที่ได้รับดีกว่าเรตติ้งประเทศทำให้การลงทุนข้ามพรมแดนเกิดได้ยาก ทั้งๆที่ประเทศในภูมิภาคอาเซียน มีสถานะแข็งแกร่ง ทั้งในแง่หนี้สาธารณะ เงินทุนสำรองระหว่างประเทศกว่าประเทศแถบยุโรป
สำหรับแนวโน้มประเทศในกลุ่มอาเซียนที่จะมีความเชื่อมโยงตลาดหุ้นกู้ไปด้วยกัน ได้แก่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย