ม.ล.จันทรจุฑา จันทรทัต บมจ.โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ (TTA) คาดว่ารายได้ในงวดปี 55 (สิ้นสุดก.ย.)จะเติบโตไม่เกิน 10% จากปีก่อนที่มีรายได้ 1.7 หมื่นล้านบาท ขณะที่กำไรสุทธิในปี 55 คาดว่าจะทำได้มากกว่าปี 54 เนื่องจากมีอัตรากำไรขั้นต้น(มาร์จิ้น)ดีขึ้น โดยรายได้หลักจะมาจากธุรกิจพลังงานที่เริ่มสู่ขาขึ้นและธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน
นอกจากนี้ กำไรในปีนี้ที่มากกว่าปีก่อน ยังมีสาเหตุจากที่บริษัทไม่มีภาระค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรอง จากเรือที่ไม่มีสัญญาว่าจ้าง
"ไตรมาส 1 เดือนต.ค.-ธ.ค.54 แม้รายได้โดยรวมจะไม่ดี แต่ยังดีกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งในช่วงไตรมาส 1 ของทุกปี จะเป็นช่วง low season ของธุรกิจ"ม.ล.จันทรจุฑา กล่าว
สำหรับธุรกิจเดินเรือในปี 55 มองว่ายังเป็นขาลง โดยคาดว่าดัชนีค่าระวางเรือ(BDI)ในปีนี้จะลดลงจากปีก่อนประมาณ 10% ปัจจัยสำคัญคือปริมาณเรือในตลาดยังมีอยู่เป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม คาดว่าธุรกิจเดินเรือจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นตั้งแต่ปี 56 เป็นต้นไป ซึ่ง TTA เตรียมรับมอบเรือขุดเจาะอีกจำนวน 3 ลำในปีหน้า
ม.ล.จันทรจุฑา กล่าวอีกว่า บริษัทยังมองหาโอกาสในการเข้าซื้อธุรกิจในต่างประเทศ เนื่องจาก TTA เป็น Holding company โดยธุรกิจที่สนใจยังเป็นธุรกิจเดิมที่มีอยู่แล้ว แต่คงยังไม่เห็นความคืบหน้าภายในปีนี้ เนื่องจากเป็นปีที่บริษัทมุ่งการขยายการลงทุนในธุรกิจเหมืองถ่านหิน และการมุ่งหาเงินกู้เพื่อใช้จ่ายในการรับมอบเรือในปีหน้าจำนวน 3 ลำ เป็นเงินประมาณ 450 ล้านเหรียญสหรัฐ
ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนรายได้จากธุรกิจพลังงานเพิ่มเป็น 50% ภายในปี 56-57 จากปัจจุบันมีรายได้คิดเป็น 1 ใน 3 ของ 3 ธุรกิจหลัก คือ พลังงาน ขนส่ง และโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งตั้งแต่ปีนี้ รายได้จากธุรกิจพลังงานจะเริ่มเพิ่มสัดส่วนมากขึ้น หลังเหมืองถ่านหินในฟิลิปปินส์เริ่มมีผลผลิตออกมา แต่ยังไม่เต็มที่
ม.ล.จันทรจุฑา กล่าวถึงการเข้ามาถือหุ้น TTA ของกลุ่มนายเฉลิมชัย มหากิจศิริ ในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นเป็น 14% ว่า เคยหารือกันบ้างแล้วกับกลุ่มดังกล่าว ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับธุรกิจของบริษัท รวมถึงความชัดเจนในอนาคตทางธุรกิจ โดยนายเฉลิมชัยไม่ได้เรียกร้องหรือเสนอตัวเข้ามาเป็นผู้บริหารหรือกรรมการบริษัท อไม่ แต่คณะกรรมการชุดใหม่ได้มีการแต่งตั้งแล้วเสร็จก่อนเข้ามาถือหุ้นของนายเฉลิมชัย
และในวันที่ 23 ม.ค.55 เตรียมเข้าให้ข้อมูลกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) หลังจากที่ผู้ถือหุ้นรายย่อยได้ยื่นข้ออกล่าวหาว่าบริษัทบริหารองค์กรไม่โปร่งใส ซึ่งยืนยันที่จะตอบคำถามดีเอสไอและมีเอกสารชี้แจงได้ทั้งหมด "ผมแค่รู้สึกแปลกใจนิดหนึ่งตรงที่ดคดีนี้แทนที่ปกติจะต้องผ่าน ก.ล.ต.สอบสวนก่อน เมื่อเจออะไรจึงส่งดีเอสไอ เพราะเป็น บจ. แต่เคสนี้แทนที่จะผ่าน ก.ล.ต.กลับส่งดีเอสไอ ตรงนี้เหมือนผ่านทางด่วนพิเศษ...คนที่ยื่นเรื่องดีเอสไอ ถือหุ้นในบริษัทไม่ถึง 100 หุ้น แต่เราก็พร้อมให้ความร่วมมือ" ม.ล.จันทรจุฑา กล่าว
นอกจากนี้ได้ชี้แจงกรณีที่บริษัทไม่ได้ใช้สิทธิแปลงวอร์แรนต์ UMS เนื่องจากไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน เพราะปัจจุบัน TTA ถือหุ้น 89.55% จากการเข้าซื้อกิจการครั้งแรก ซึ่งใช้เงินจำนวน 3,9000 ล้านบาท แต่หากใช้สิทธิแปลงวอร์แรนต์ครั้งนี้อีก ต้องใช้เงิน 480 ล้านบาท ซึ่งจะเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นใน UMS อีกแค่ 2% เท่านั้น
สำหรับโครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวาย มองว่าเป็นพื้นที่น่าสนใจลงทุน แต่บริษัทต้องมั่นใจด้วยว่ามีพันธมิตรทางธุรกิจและสามารถบริหารจัดการธุรกิจได้ ดังนั้น ขณะนี้จึงยังไม่ได้ตัดสินใจเข้าลงทุนในโครงการดังกล่าวแต่อย่างใด
"มองว่าเป็นเมืองที่น่าสนใจลงทุน แต่ยังไม่เข้าใจกฎกติกาการทำธุรกิจและกฎกติการในพม่าดีพอ...อย่างที่เวียดนาม เราใช้เวลาในการศึกษา มีคนที่รู้ข้อมูล ใช้เวลาถึง 15 ปีถึงจะเข้าไปลงทุน" ม.ล.จันทรจุฑา กล่าว