ThaiBMA จับมือแบงก์ร่วม Bond Mart ดึงรายย่อยเทรดเพิ่มเป็น 24-25%จาก20%

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday January 20, 2012 13:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดโครงการส่งเสริมการลงทุนสำหรับนักลงทุนรายย่อยผ่านระบบ Bond Mart เพื่อเป็นช่องทางและตลาดกลางให้กับน้กลงทุนรายย่อยเพิ่มขึ้นในการเข้าซื้อขายในตลาดตราสารหนี้ คาดในปี 55 สัดส่วนนักลงทุนรายย่อยเพิ่มเป็น 24-25% จาก 20% ของมูลค่ารวมพันธบัตรและหุ้นกู้ ซึ่ง ณ สิ้นปี 54 อยู่ที่ 7.2 ล้านล้านบาท และคาดว่าในปีนี้จะเพิ่มเป็น 7.6 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 10%

"เชื่อว่านักลงทุนรายย่อยจะเข้ามาซื้อขายมากขึ้นคาดว่าปี 55 จะ Active เพิ่มขึ้น และสัดส่วนจะเพิ่มเป็น 24-25% จาก 20% ในปีที่แล้ว...เราพบว่ารายย่อย มีความรุ้ความเข้าใจการลงทุนตราสารหนี้แต่ขาดช่องทาง เพราะข้อมูลกระจาย และมีข้อมุลเยอะที่แต่ละแบงก์มี " นายนิวัฒน์ กาญจนภูมินทร์ กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย กล่าว

ในวันนี้สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในโครงการส่งเสริมการลงทุนสำหรับนักลงทุนรายย่อยผ่านระบบ Bond Mart กับ 12 สถาบันการเงิน คือ 7 ธนาคารพาณิชย์ และ 5 บริษัทหลักทรัพย์ที่จะร่วมกันเสนอราคา(quote)ซื้อขายพันธบัตร หุ้นกู้ ผ่านทางหน้าจอ Bond Mart ที่พัฒนาขึ้นโดย ThaiBMA ซึ่งให้บริการทางเว็บไซด์ www.thaibond.com เพื่อให้นักลงทุนสามารถตรวจสอบข้อมูลราคาเสนอซื้อเสนอขายตราสารหนี้ของสถาบันการเงินต่างๆได้อย่างรวดเร็ว และใช้เป็นข้อมุลอ้างอิงประกอบการพิจารณาตัดสินใจการลงทุนต่อไป โดยนักลงทุนที่สนใจซื้อขายจะสามารถเปรียบเทียบราคาและติดต่อสถาบันการเงินผู้เสนอราคาได้

ทั้งนี้ ได้ให้นักลงทุนรายย่อยเข้ามาซื้อขายขนาดหรือมูลค่าประมาณ 5 แสน หรือ 1 ล้านบาท เพื่อได้เข้าถึงกลุ่มนักลงทุนรายย่อย

นายนิวัฒน์ กล่าวว่า ผลจากกฎหมายคุ้มครองเงินฝากที่จะมีผล ส.ค.นี้ในการลดวงเงินคุ้มครองเหลือ 1 ล้านบาท/บัญชี และแนวโน้มดอกเบี้ยขาลงนั้น จะช่วยกระตุ้นให้นักลงทุนหรือผู้มีเงินออมขนาดกลางเข้าสู่ตลาดตราสารหนี้มากขึ้น โดยเมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ที่ 2%กว่า ตั๋วแลกเงิน (B/E) 3% ขณะที่การลงุทนตั๋วเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) อายุ 14 วัน 1 เดือน หรือ 3 เดือน ก็ได้ผลตอบแทนกว่า 3% และได้รับความคุ้มครองเต็มที่

สมาคมฯ คาดว่าในปีนี้ภาคเอกชนจะออกหุ้นกู้จำนวน 3 แสนล้านบาท จากปีก่อนที่ 2.2 แสนล้านบาท ส่วนภาครัฐ คาดว่าจะออกพันธบัตรใหม่ประมาณ 3 แสนล้านบาท ตามพ.ร.ก.ฟื้นฟูจากน้ำท่วม และอีก 3 แสนล้านบาทเป็นการออกชดเชยกลุ่มพันธบัตรที่ครบอายุ ไถ่ถอนรวมเป็น 6 แสนล้านบาท

ขณะที่มองแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปี 55 จะปรับลดลงราว 0.50% มาที่ 2.75% จาก 3.25% ในปัจจุบัน โดยคาดว่าในการประชุมคณะกรรมการการเงิน(กนง.) ในสัปดาห์หน้าจะปรับลดดอกเบี้ยลง 0.25% และลดอีก 0.25% ในการประชุมครั้งถัดไป แต่ปีนี้น่าจะเป็นปีสุดท้ายของดอกเบี้ยขาลงแล้ว สอดคล้องกับการเติบโตเศรษฐกิจของไทยที่คาดว่าปีนี้จะโต 4% แม้ว่าเศรษฐกิจโลกอาจจะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยบ้าง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ