ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตองค์กร SINGER ที่ระดับ “BBB/Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday January 20, 2012 16:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศผลการจัดอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ.ซิงเกอร์ประเทศไทย (SINGER) ที่ระดับ “BBB" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่"

อันดับเครดิตสะท้อนถึงความแข็งแกร่งของตราสัญลักษณ์สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านของบริษัทในกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ตลอดจนเครือข่ายสาขาและตัวแทนจำหน่ายที่กว้างขวางทั่วประเทศ ประสบการณ์ที่ยาวนานในธุรกิจให้สินเชื่อเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ฐานลูกค้าที่กระจายตัว คณะผู้บริหารที่มีประสบการณ์ และพนักงานขายที่ได้รับการอบรมเป็นอย่างดีและมีความใกล้ชิดกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย

อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนโดยเสถียรภาพทางธุรกิจและการเงินที่มีประวัติค่อนข้างสั้นหลังจากที่ผลประกอบการของบริษัทเพิ่งฟื้นตัวได้เพียง 2 ปีจากปัญหาขาดทุนในธุรกิจสินเชื่อรถจักรยานยนต์ในช่วงปี 2549-2551 นอกจากนี้ ในการพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงความยืดหยุ่นทางการเงินที่มีอยู่อย่างจำกัดและผลงานในกลุ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เน้นฐานลูกค้าผู้ประกอบการขนาดเล็กซึ่งต้องรอการพิสูจน์ต่อไป

ส่วนแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าคณะผู้บริหารของบริษัทจะสามารถดำเนินกลยุทธ์ทางการตลาดและนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ได้อย่างเสมอต้นเสมอปลายเพื่อดำรงความมั่นคงของสถานะทางการตลาดของบริษัทเอาไว้ให้ได้ตามแผน อีกทั้งผลประกอบการทั้งในด้านการดำเนินธุรกิจและฐานะการเงินจะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องและคุณภาพสินเชื่อจะได้รับการควบคุมให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้

ทริสเรทติ้งรายงานว่า SINGER มีผลประกอบการเป็นกำไรในปี 2553 หลังจากประสบผลขาดทุนมาหลายปี ผลประกอบการของบริษัทได้รับผลกระทบในทางลบในระหว่างปี 2549-2550 จากการถดถอยลงอย่างมากของคุณภาพสินเชื่อรถจักรยานยนต์ บริษัทเริ่มเพิ่มธุรกิจจำหน่ายรถจักรยานยนต์เข้ามาในปี 2544 เนื่องจากยอดขายเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านเริ่มชะลอตัว และเพื่อที่จะเพิ่มยอดขายรถจักรยานยนต์ให้ได้ในปริมาณที่มากพอ บริษัทจึงได้ดำเนินกลยุทธ์เชิงรุกตั้งแต่ปลายปี 2547 จนถึงปี 2548 ซึ่งทำให้บริษัทมีสินเชื่อรถจักรยานยนต์ในปริมาณที่มากกว่าครึ่งของสินเชื่อรวมและส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของบริษัทในช่วงระหว่างปี 2549 และ 2550 เป็นอย่างมาก โดยบริษัทมีผลขาดทุนจำนวนมากในช่วง 2 ปีดังกล่าวซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากค่าใช้จ่ายกันสำรองสำหรับหนี้เสียของสินเชื่อรถจักรยานยนต์

ในปี 2550 คณะผู้บริหารชุดใหม่ซึ่งส่วนใหญ่เคยร่วมงานกับบริษัทมาตั้งแต่ก่อนปี 2548 ได้กลับเข้ามาร่วมงานกับบริษัท และต่อมาในปี 2551-2552 บริษัทได้ดำเนินการฟื้นฟูและปรับโครงสร้างองค์กรซึ่งรวมถึงการแก้ปัญหาสินเชื่อรถจักรยานยนต์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบการดำเนินงานภายใน ส่งผลทำให้ยอดบัญชีสินเชื่อคงค้างลดลงจากประมาณ 390,000 บัญชีในปี 2548 เหลือประมาณ 160,000 บัญชีในปี 2552

ในปี 2553 บริษัทได้กลับมาเน้นการขายเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านซึ่งบริษัทมีประสบการณ์ที่ยาวนานโดยใช้กลยุทธ์ขยายตลาดให้ครอบคลุมกลุ่มลูกค้าผู้ประกอบการขนาดเล็ก บริษัทเพิ่มและเน้นจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เป็นเครื่องมือสร้างรายได้ให้แก่ผู้ซื้อ เช่น ตู้แช่ และเครื่องเติมเงินสำหรับโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยรายได้จากผลิตภัณฑ์ทั้ง 2 ประเภทนี้คิดเป็น 26% ของยอดขายรวมในปี 2553 และเพิ่มขึ้นเป็น 40% สำหรับ 9 เดือนแรกของปี 2554 ณ สิ้นเดือนกันยายน 2554 บริษัทมียอดบัญชีสินเชื่อจำนวน 142,649 บัญชี เพิ่มขึ้นจาก 140,730 บัญชีในปี 2553 ลูกค้าเป้าหมายกลุ่มใหม่นี้จัดว่ามีคุณภาพสูงกว่ากลุ่มลูกค้าเป้าหมายทั่วไปของบริษัท

นอกจากนี้ กลุ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ยังช่วยสร้างรายได้ให้แก่ลูกค้าซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถในการชำระหนี้คืนและยกระดับคุณภาพสินเชื่อโดยรวมได้ด้วย อย่างไรก็ตาม เนื่องจากบริษัทเพิ่งจำหน่ายสินค้ากลุ่มใหม่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเท่านั้น ดังนั้น ความสำเร็จของกลยุทธ์ใหม่ที่จะช่วยให้บริษัทสร้างความมั่นคงให้แก่สถานะทางการตลาดและผลประกอบการยังต้องรอการพิสูจน์

ในปลายปี 2551 บริษัทได้จัดตั้งฝ่ายควบคุมสินเชื่อเพื่อตรวจสอบและวิเคราะห์ใบสมัครสินเชื่อ โดยแยกอำนาจการอนุมัติสินเชื่อออกจากพนักงานขายเพื่อสร้างระบบการตรวจสอบและถ่วงดุลด้วยวัตถุประสงค์ที่จะพัฒนาคุณภาพสินทรัพย์และมาตรฐานการปฏิบัติงาน ส่งผลทำให้อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมถัวเฉลี่ยปรับตัวดีขึ้นจากระดับสูงที่ 26.5% ในปี 2550 เป็น 4.9% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2554 ในเวลาเดียวกัน อัตราส่วนการเก็บเงินเฉลี่ย ณ ทุกๆ สิ้นเดือนก็ปรับตัวดีขึ้นจากระดับต่ำที่ 69.5% ในปี 2550 เป็น 91.4% สำหรับช่วง 9 เดือนแรกของปี 2554 การกระจายตัวของฐานลูกค้าในแง่ของภาระหนี้ต่อบัญชีและในเชิงพื้นที่ยังมีส่วนช่วยให้บริษัทลดทอนความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ด้วย

ทริสเรทติ้งคาดหวังว่าบริษัทจะกระจายฐานลูกค้าตามประเภทของผลิตภัณฑ์ต่อไป ทั้งนี้ การพึ่งพิงผลิตภัณฑ์ประเภทใดประเภทหนึ่งค่อนข้างมากจะทำให้บริษัทมีความเสี่ยงจากการกระจุกตัวได้

บริษัทรายงานผลขาดทุน 1,233 ล้านบาทในปี 2549 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลจากการตั้งสำรองที่เพิ่มขึ้นจำนวน 1,216 ล้านบาทสำหรับสินเชื่อรถจักรยานยนต์ บริษัทยังคงมีผลขาดทุนต่อเนื่องจำนวน 500 ล้านบาทในปี 2550 ในช่วง 2 ปีดังกล่าว ฐานทุนของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยลดลงเป็น 624 ล้านบาทในปี 2550 จาก 2,299 ล้านบาทในปี 2548

บริษัทรายงานผลกำไร 89 ล้านบาทในปี 2553 เพิ่มขึ้นจากขาดทุน 82 ล้านบาทและ 10 ล้านบาทในปี 2551 และ 2552 ตามลำดับ ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทปรับเพิ่มขึ้นในปี 2554 ด้วยกำไรสุทธิ 100 ล้านบาทสำหรับงวด 9 เดือนแรกของปี 2554 ส่งผลให้ฐานทุนของบริษัทปรับเพิ่มขึ้นเป็น 921 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2554 การเพิ่มขึ้นของฐานทุนส่วนหนึ่งเป็นผลจากนโยบายทางบัญชีเกี่ยวกับการประเมินมูลค่าทรัพย์สินของบริษัท

สินเชื่อคงค้างของบริษัทลดลงเป็น 1,298 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2554 จาก 4,960 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2548 ส่งผลให้อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนลดลงจาก 69.6% ในปี 2551 เป็น 45.1% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2554 อัตราส่วนดังกล่าวอยู่ในระดับที่เพียงพอให้บริษัทสามารถขยายธุรกิจต่อไปได้

การมีเครือข่ายที่กว้างขวางทำให้ตราสินค้า “ซิงเกอร์" เป็นที่รู้จักในพื้นที่ต่างจังหวัดของประเทศมากว่า 1 ศตวรรษ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2554 เครือข่ายของบริษัทประกอบด้วยสำนักงานขายจำนวน 189 สาขาและพนักงานขายประมาณ 2,500 คน อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการแข่งขันของบริษัทลดทอนลงไปบางส่วนจากข้อจำกัดด้านความยืดหยุ่นทางการเงิน ในปลายปี 2552 บริษัททำการปรับโครงสร้างเงินกู้ยืมทั้งหมดซึ่งขณะนั้นเป็นเงินกู้ยืมระยะสั้นแบบหมุนเวียนมาเป็นเงินกู้ยืมระยะยาวแบบทยอยจ่ายชำระคืนเงินต้น ซึ่งสัญญาปรับระยะเวลาจ่ายคืนเงินกู้ยืมดังกล่าวช่วยให้บริษัทสามารถเพิ่มสภาพคล่องแต่ก็จำกัดความยืดหยุ่นทางการเงิน ทั้งนี้ เงื่อนไขในสัญญากำหนดว่าบริษัทจะไม่สามารถระดมทุนโดยการกู้ยืมได้ใหม่หากปราศจากความยินยอมของเจ้าหนี้ส่วนใหญ่ ดังนั้น ความสามารถในการหาแหล่งเงินทุนใหม่เพื่อใช้ชำระหนี้เดิมหรือขยายธุรกิจจึงเป็นความท้าทายที่สำคัญของบริษัท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ