สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) สรุปภาวะตลาดตราสารหนี้ประจำสัปดาห์ (16 - 20 มกราคม 2555) ปริมาณการซื้อขายมีมูลค่ารวม 348,886 ล้านบาท หรือเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณวันละ 69,777 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้านี้ประมาณ 4% ทั้งนี้เมื่อแยกตามประเภทของตราสารแล้วจะพบว่ากว่า 84% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมด หรือประมาณ 293,079 ล้านบาท เป็นการซื้อขายในตราสารหนี้ที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (State Agency Bond) ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นตราสารที่มีอายุคงเหลือค่อนข้างน้อย (ไม่เกิน 6 เดือน) ในขณะที่พันธบัตรรัฐบาลที่ออกโดยกระทรวงการคลัง (Government Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 48,416 ล้านบาท และหุ้นกู้ที่ออกโดยภาคเอกชน (Corporate Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 5,406 ล้านบาท หรือคิดเป็น 14% และ 2% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมดที่เกิดขึ้น ตามลำดับ
สำหรับพันธบัตรรัฐบาล รุ่นที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรกคือ รุ่น LB176A (อายุ 5.4 ปี), LB145B (อายุ 2.3 ปี) และ LB15DA (อายุ 3.9 ปี) มีมูลค่าการซื้อขายในแต่ละรุ่นเท่ากับ 15,484 ล้านบาท 9,976 ล้านบาท และ 8,252 ล้านบาท ตามลำดับ ส่วนพันธบัตรที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย รุ่นที่มีปริมาณการซื้อขายสูงสุด 3 อันดับแรก คือรุ่น CB12207A (อายุ 14 วัน), CB12131A (อายุ 14 วัน), และ CB12419B (อายุ 91 วัน) มูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 118,351 ล้านบาท 42,759 ล้านบาท และ 28,460 ล้านบาท ตามลำดับ
ทางด้านหุ้นกู้ภาคเอกชน ที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรกนั้น ได้แก่ หุ้นกู้ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) (THAI16DA) มูลค่าการซื้อขาย 799 ล้านบาท หุ้นกู้ของบริษัท อยุธยา แคปปิตอล ออโต้ ลีส จำกัด (มหาชน) (AYCAL145A (A+)) มูลค่าการซื้อขาย 464 ล้านบาท และหุ้นกู้ของบริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (KTC128A (BBB+)) มูลค่าการซื้อขาย 423 ล้านบาท
เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Yield Curve) ขยับตัวขึ้นลงอยู่ในกรอบแคบๆ หรือโดยเฉลี่ยแล้วเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงประมาณ -2 ถึง +1 Basis Point (100 Basis point มีค่าเท่ากับ 1%) โดยผลตอบแทนของพันธบัตรระยะสั้นอายุน้อยกว่า 1 ปีปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ +1 Basis Point ในขณะที่ผลตอบแทนของพันธบัตรอายุ 3 ปีถึง 15 ปี ปรับตัวลดลงเล็กน้อยประมาณ -2 Basis Point โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมา ข่าวการประชุมของคณะกรรมการการเงิน (กนง.) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 25 มกราคม ยังคงเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อบรรยากาศการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ไทย โดยตลาดคาดการณ์ว่า กนง. น่าจะมีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 0.25% จาก3.25% เป็น 3.0% เนื่องจากผลกระทบจากภาวะน้ำท่วม และความเสี่ยงด้านสภาพเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ในขณะที่ประเด็นปัญหาหนี้สาธารณะในยุโรปยังคงเป็นปัจจัยที่คอยกดดันบรรยากาศการลงทุนต่อไปอยู่เช่นเดิม โดยล่าสุดสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ S&P ได้ประกาศปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ 9 ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป รวมไปถึงปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของกองทุนรักษาเสถียรภาพการเงินยุโรป (EFSF) ลงสู่ระดับ AA+ จาก AAA แต่ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อตลาดมากนัก เนื่องจากเป็นไปตามที่ตลาดได้คาดการณ์เอาไว้ในช่วงก่อนหน้านี้แล้ว
ทั้งนี้ ในสัปดาห์ที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติมียอด ซื้อสุทธิ 18,827 ล้านบาทในตลาดตราสารหนี้ โดยที่มูลค่าการซื้อขายส่วนใหญ่ของนักลงทุนกลุ่มนี้ยังคงเน้นไปในตราสารระยะสั้น (มีอายุคงเหลือน้อยกว่า 1 ปี) เป็นหลัก จึงไม่ได้ส่งผลต่อภาพรวมของการซื้อขายตราสารหนี้ในตลาดมากเท่าใดนัก และสำหรับนักลงทุนรายย่อย ที่ถึงแม้จะมีสัดส่วนของการซื้อขายตราสารหนี้ในตลาดค่อนข้างน้อย แต่ในสัปดาห์ที่ผ่านมายังคงมียอดซื้อสุทธิอย่างต่อเนื่องประมาณ 1,121 ล้านบาท