โบรกเกอร์ส่วนใหญ่หนุน"ซื้อ"บมจ.ไทยยูเนี่ยนโฟรเซ่น โปรดักส์(TUF)มองธุรกิจยังเติบโตได้ดีต่อเนื่อง โดยเฉพาะแรงหนุนหลังควบรวมกิจการ MWB ช่วยขยายตลาดต่างประเทศ มีผลิตภัณฑ์ใหม่ที่สร้างมูลค่าเพิ่มได้มากขึ้น
ขณะที่ราคาหุ้นช่วงนี้ดีดขึ้นจากแรงเก็งกำไรไตรมาส 4/54 แม้คาดว่าจะออกมาต่ำกว่าไตรมาส 3/54 เพราะเป็นช่วง low season แต่แนวโน้มผลประกอบการจะดีต่อเนื่องในไตรมาส 1/55 และทั้งปี 55 กำไรสุทธิน่าจะเติบโต 18% แม้ต้นทุนธุรกิจ โดยเฉพาะทูน่าจะปรับขึ้นเร็ว แต่บริษัทสามารถปรับราคาขายตามได้ และบริษัทยังจะได้รับแรงหนุนจากเงินบาทอ่อนค่า ซึ่งช่วยหนุนมูลค่าส่งออก
นอกจากนี้ คาดว่า TUF ยังมองหาโอกาสในการลงทุนซื้อกิจการอื่นๆอีก แต่คงยังเป็นการลงทุนที่ยังไม่มีนัยสำคัญในช่วง 2-3 ปีนี้ เนื่องจากยังมีภาระจากการควบรวมกิจการ MWB ในการจ่ายดอกเบี้ยที่สูง คาดว่าการซื้อกิจการน่าจะเริ่มชัดเจนขึ้นในปี 57 หลังดอกเบี้ยจ่ายลดลง
โบรกเกอร์ คำแนะนำ ราคาเป้าหมาย(บาท) บล.กรุงศรีฯ ซื้อ 65.00 บล.ทิสโก้ ซื้อ 65.50 บล.โกลเบล็ก ซื้อ 72.05 บล.ฟินันเซีย ไซรัส ซื้อ 80.00 บล.บัวหลวง ซื้อ 64.00
นายสิทธิเดช ประเสริฐรุ่งเรือง ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า TUF ยังเป็นธุรกิจที่ดีต่อเนื่องและน่าจะดีที่สุดในกลุ่มอาหาร โดยเฉพาะหลังการควบรวมกิจการกับ MWB ทำให้เน้นการขยายตลาดต่างประเทศมากขึ้น ทั้งยุโรปตะวันออกและสหรัฐ ประกอบกับ การมีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆที่ช่วยเพิ่มมูลค่าได้
อย่างไรก็ตาม ราคาหุ้นที่ปรับขึ้นต่อเนื่องในช่วงนี้น่าจะเป็นการเข้ามาเก็งกำไรก่อนการประกาศงบไตรมาส 4/54 ซึ่งคาดการณ์ว่าน่าจะมีกำไรประมาณ 1,154 ล้านบาท ต่ำกว่าไตรมาส 3/54 ที่มีกำไร 1,500 ล้านบาท เนื่องจากไตรมาส 4 เป็นช่วงโลว์ซีซั่นที่บริษัทต่างๆ มีการเก็บสต็อคไว้หมดแล้ว แต่คาดว่าผลประกอบการจะดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 1/55
“มอง TUF ยังดีอยู่ แต่ราคาหุ้นที่ขึ้นมาตลอดติดๆกันช่วงนี้ โดยยังไม่มีการประกาศงบไตรมาส 4/54 เพราะเก็งกำไรเรื่องงบที่คาดว่าดีต่อเนื่องในไตรมาส 1/55 ซึ่งการเข้าลงทุนเราไม่ได้ให้ไล่ราคา เพราะ TUF มี nature แต่ละปีที่มีการปรับราคาขายไม่ทันต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ปีหนึ่งครั้งหรือสองครั้ง ซึ่งหากงบไตรมาส 4 ออกมาไม่ดี ก็เป็นจังหวะเข้าลงทุนมากกว่า" นายสิทธิเดช กล่าว
สำหรับปี 55 คาดว่ากำไรสุทธิของบริษัทยังเติบโตได้ต่อเนื่องที่ 18% ขณะที่บริษัทยังคงสามารถรักษาระดับอัตรากำไรขั้นต้นไว้ได้ที่ 17-18% ประกอบกับ บริษัทจะยังไม่มีการขยายการลงทุนใหญ่ๆในช่วงนี้หลังการเข้าซื้อกิจการ MWB ที่มีภาระดอกเบี้ยจ่ายสูง ดังนั้นคงยังไม่มีการขยายธุรกิจที่มีนัยสำคัญ โดยดอกเบี้ยจ่ายจะเริ่มลดลงในปี 57 ซึ่งบริษัทอาจจะมีการขยายการลงทุนใหม่ๆเพิ่มเติมได้
ส่วนความเสี่ยงทางธุรกิจมองว่าบริษัทมีต้นทุนทูน่าถึง 50% ซึ่งราคาเร่งตัวขึ้นมาก และหากยังมีตัวแปรจากราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นสูง แม้ว่าบริษัทจะสามารถปรับราคาขายตามต้นทุนที่สูงขึ้นได้ แต่อาจจะล่าช้าบ้าง เพราะมีช่วง lab time อยู่ ซึ่งปกติบริษัทจะมีการปรับราคาขายทุกไตรมาส
ด้านสำนักวิจัย บล.ทิสโก้ ออกบทวิเคราะห์ให้มุมมองเชิงบวกต่อ TUF โดยมองแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจที่คาดว่าปี 55 ยอดขายในสหรัฐจะเพิ่มขึ้น 20% ยอดขายที่สูงมาจาก OEM ของปลาทูน่า ปลาทูน่ากระป๋อง, ปลาแมคเคอเรล และอาหารสัตว์รวมถึงการปรับราคาสินค้าใหม่ โดย TUF จะยังคงสามารถรักษาระดับกำไรขั้นต้นที่ 17% ได้
และวิธีต้นทุนบวกกำไรขั้นต้นและการขายล่วงหน้า ทำให้ธุรกิจ OEM ของ TUF สามารถผลักภาระให้ผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสินค้าของ TUF เองสามารถผลักภาระให้ผู้บริโภคได้โดยลดการให้ส่วนลดและการทำโปรโมชั่น การปรับราคาหรือการปรับลดปริมาณของสินค้าลง ตราบใดที่อาหารประเภทเนื้อสัตว์ชนิดอื่นยังคงมีราคาสูง การขึ้นราคาปลาทูน่ายังคงสามารถทำได้
นอกจากนี้ระดับหนี้สินต่อทุน(หนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย)ของ TUF จะอยู่ที่ 1.5 เท่าในช่วงสิ้นปี 54 และ 1.3 เท่า ณ สิ้นปี 55 และ 1 เท่าในปี 56 ซึ่งมีโอกาสสูงที่ TUF จะสามารถกลับมาจ่ายเงินปันผลในอัตราปกติที่ 50% ของกำไรสุทธิได้อีกครั้ง และยังมีโอกาสในการทำ M&A หากระดับหนี้สินต่อทุนลดลงมาอยู่ที่ระดับ 1 เท่า
ส่วนผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนไม่มีความกังวลสำหรับธุรกิจในสหรัฐฯ และการดำเนินงานของ MWB เพราะมีการป้องกันความเสี่ยงเป็นไปโดยตามธรรมชาติอยู่แล้ว และมูลค่าการส่งออกของ TUF เมื่อแปลงเป็นเงินบาทจะสูงขึ้น เนื่องจากเงินบาทที่อ่อนค่าลงในช่วงที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ