น.ส.นฤมล อาจอำนวยวิภาส กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายธุรกิจตราสารอนุพันธ์ บล.เคจีไอ(ประเทศไทย)(KGI) เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ถึงแผนงานในปี 55 ว่า บริษัทเตรียมออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์(DW)อีกไม่ต่ำกว่า 100 รุ่น บนหุ้นอ้างอิงเดิมที่ KGI เคยออก DW มาแล้ว
พร้อมทั้ง เตรียมออก DW ประเภทใหม่ ๆ ที่ทางการจะอนุญาตในอนาคต อย่างหลักทรัพย์อ้างอิงใหม่ เช่น ดัชนี SET50, ดัชนี SET100, ETF และหุ้นในดัชนี SET100 และยังพร้อมที่จะออก DW ที่เป็น Feature ใหม่ อย่าง Combination DW, Knock-Out DW รวมถึง Settlement ใหม่ เช่น Physical Settlement หรือเลือกได้ทั้ง Cash และ Physical Settlement
ที่ผ่านมา KGI ออก DW มาแล้วทั้งหมด 112 รุ่น คิดเป็นกว่า 1 ใน 3 ของ DW ที่ออกมาเสนอขายทั้งตลาด โดยมูลค่าการซื้อขาย DW ที่ออกโดย KGI มีมูลค่ากว่า 44,000 ล้านบาท หรือกว่า 54% ของมูลค่าซื้อขาย DW ทั้งตลาด
น.ส.นฤมล กล่าวว่า บริษัทกำลังศึกษาข้อมูลการออกตราสารแสดงสิทธิในผลประโยชน์ที่เกิดจากหลักทรัพย์อ้างอิง(Thai Depositary Receipt:TDR) โดยมีจุดประสงค์เพื่อช่วยลูกค้าให้สามารถลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศได้โดยสะดวกผ่านบริษัทหลักทรัพย์ ลูกค้าจะมีความยุ่งยากน้อยลงเมื่อเทียบกับการออกไปลงทุนเองในต่างประเทศ
นอกจากนี้ บริษัทกำลังเตรียมศึกษาเข้าร่วมโครงการเชื่อมโยงระบบซื้อขายหลักทรัพย์ (ASEAN Exchange Linkage) กับตลาดหลักทรัพย์ เพื่อเพิ่มทางเลือกในการลงทุนให้แก่นักลงทุน และเป็นการเปิดตลาดไทยไปสู่ต่างประเทศ โดยขณะนี้ ASEAN Exchange Linkage มีการร่วมมือกันของ 6 ประเทศ ได้แก่ ไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และเวียดนาม
น.ส.นฤมล กล่าวต่อว่า ในส่วนของตลาด TFEX บริษัทพร้อมเข้าร่วมเป็นผู้ดูแลสภาพคล่อง(Market Maker) ของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าทุกประเภท เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้แก่สินค้าในตลาด TFEX
ทั้งนี้ ปัจจุบันบริษัทเป็น Market Maker ให้กับ ETF ชั้นนำหลายกองทุน เช่น TDEX, 1DIV, CHINA, GLD, BCHAY, GOLD99 ซึ่งในปีนี้บริษัทฯก็กำลังร่วมมือกับ บลจ.ชั้นนำ เตรียมออก ETF อ้างอิงดัชนีต่างประเทศ เช่น Hang Seng Index, Nikkei 225 Index, KOSPI Index โดยจะเข้าจดทะเบียนและซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)
สำหรับธุรกิจให้บริการธุรกรรมยืมและให้ยืมหลักทรัพย์(SBL) ในปีนี้บริษัทฯกำลังพัฒนาระบบ SBL เพื่อบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์แบบเงินสด เพิ่มเติมจากบัญชี Credit Balance ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) อนุญาตให้ทำได้แล้วเพื่อเพิ่มทางเลือกในการลงทุนให้แก่ลูกค้า