ทริสฯ มองธุรกิจก่อสร้าง-ค้าปลีก-พลังงานปีนี้รุ่ง,จับตาอสังหาฯ-นิคม-แบงก์-ขนส่ง-เกษตร

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday January 31, 2012 12:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด มองว่า ในปี 55 ภาคอุตสาหกรรมที่คาดว่าน่าจะมีแนวโน้มขยายตัวดี ประกอบด้วย ธุรกิจก่อสร้าง ธุรกิจค้าปลีก และ ธุรกิจพลังงาน ส่วนธุรกิจที่ต้องติดตามความเสี่ยง ได้แก่ ธุรกิจบ้านและที่อยู่อาศัย ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม ธุรกิจขนส่ง ธุรกิจสถาบันการเงิน และ ธุรกิจเกษตรและอาหาร

ทั้งนี้ ทริสฯ มองว่า ธุรกิจก่อสร้าง การก่อสร้างน่าจะฟื้นตัวในปี 55 หลังจากน้ำลดลงแล้ว เนื่องจากการที่อุทกภัยใหญ่ในปี 54 ได้สร้างความเสียหายแก่บ้านเรือนและโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เป็นวงกว้างนับเป็นการเปิดโอกาสให้เกิดโครงการก่อสร้างซ่อมแซมและโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐหลายโครงการ อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการบางรายอาจได้รับผลกระทบจากความล่าช้าของโครงการ

ธุรกิจค้าปลีก ผู้ประกอบการค้าปลีกเกี่ยวกับอุปกรณ์ซ่อมแซมบ้าน รวมทั้งเครื่องใช้ภายในบ้าน ของตกแต่ง และเฟอร์นิเจอร์มีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบในเชิงบวกจากอุทกภัยเนื่องจากครัวเรือนจำนวนมากต้องซ่อมแซมบ้านที่อยู่อาศัยให้กลับคืนสู่สภาพเดิม ในขณะที่ธุรกิจค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคน่าจะกลับคืนสู่สภาพปกติ

และ ธุรกิจพลังงาน คาดว่าน่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นตามการคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 55 นอกจากนี้ ผู้ประกอบการอาจได้รับผลดีจากการปรับขึ้นราคาพลังงานในปี 55 แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับปริมาณความต้องการพลังงานด้วยเช่นกัน

ขณะที่ทริสฯ ยังคงติดตามความเสี่ยงของลูกค้าทุกรายอย่างต่อเนื่อง โดยมีอุตสาหกรรมที่เห็นว่าต้องจับตามองเป็นพิเศษ ดังนี้ บ้านและที่อยู่อาศัย เนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ในช่วงปลายปี 54 ยังคงส่งผลกระทบในเชิงลบต่อผู้ประกอบการพัฒนาที่อยู่อาศัยในปี 55 โดยความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยลดลง โดยเฉพาะในเขตภัยพิบัติ ซึ่งจะมีผลกระทบโดยตรงต่อผู้ประกอบการที่มีโครงการเหลือขายในพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วม เช่น รังสิต ลำลูกกา สายไหม บางบัวทอง และราชพฤกษ์ เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ผลกระทบต่ออันดับเครดิตของผู้ประกอบการต่าง ๆ ยังขึ้นอยู่กับการกระจายตัวของโครงการในเขตต่าง ๆ และความเพียงพอของสภาพคล่องของธุรกิจเพื่อรองรับภาระหนี้ที่จะครบกำหนดในระยะสั้น

ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมและธุรกิจให้เช่าโรงงานและคลังสินค้าที่ถูกน้ำท่วมในปี 54 มีความเป็นไปได้สูงที่จะได้รับผลกระทบต่อเนื่องมาจนถึงปี 55 ในรูปค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นเพื่อฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมในโครงการและการป้องกันภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตเพื่อเรียกคืนความเชื่อมั่นจากนักลงทุน ในขณะที่ความต้องการซื้อที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมและการเช่าโรงงานในพื้นที่ประสบภัยพิบัติอาจได้รับผลกระทบในระยะสั้นจากความกังวลของนักลงทุน อย่างไรก็ดี นโยบายของรัฐบาลที่ชัดเจนในการจัดการปัญหาน้ำท่วมน่าจะมีส่วนช่วยสนับสนุนการดำเนินงานของผู้ประกอบการเอกชนในกรณีนี้ได้

ธุรกิจสถาบันการเงิน ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ของปี 54 หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในระบบสถาบันการเงินของไทยเท่ากับ 2.8% ลดลงจาก 3.6% ณ สิ้นปี 53 ผลกระทบจากน้ำท่วมที่มีต่อภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจต่าง ๆ น่าจะก่อให้เกิดการว่างงานและการขาดรายได้ของประชากรบางกลุ่มซึ่งอาจกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ในระยะสั้น อย่างไรก็ดี เนื่องจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมาตรการผ่อนผันให้สถาบันการเงินสามารถคงสถานะการจัดชั้นลูกหนี้ที่เป็นหนี้ปกติหรือกล่าวถึงเป็นพิเศษที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยได้จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 55 การผ่อนปรนดังกล่าวจึงน่าจะทำให้ยอด NPL ของระบบสถาบันการเงินยังไม่เพิ่มขึ้นในระยะสั้น

อย่างไรก็ดี ภายหลังจากมาตรการดังกล่าวสิ้นสุดลง ทริสเรทติ้งคาดว่า NPL น่าจะเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงตั้งแต่กลางปี 55 เป็นต้นไป ซึ่งอาจทำให้ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินประเภท Non-bank จะต้องเผชิญกับความเสี่ยงในการที่จะต้องตั้งสำรองหนี้สูญเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสถาบันการเงินที่มีอัตราส่วนสำรองหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ

ด้านธุรกิจขนส่ง ความต้องการโดยสารทางอากาศของนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจ รวมทั้งความต้องการบริการขนส่งสินค้าทางอากาศและทางเรือมีแนวโน้มจะชะลอตัวตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกจากวิกฤตหนี้ยุโรป จากการประมาณการล่าสุดของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ระบุว่าจำนวนผู้โดยสารทางอากาศจะเติบโต 3.8% ในปี 55 ลดลงจาก 5.9% ในปี 54 และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ประมาณการอัตราการขยายตัวของการค้าโลกเท่ากับ 3.8% ในปี 55 ลดลงจาก 6.9% ในปี 54

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการขนส่งทั้งการขนส่งทางอากาศและการขนส่งทางเรือน่าจะได้รับผลกระทบจากการที่ผู้ประกอบการมีข้อจำกัดในการปรับขึ้นอัตราค่าโดยสารและอัตราค่าระวาง และต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นอันเนื่องมาจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นและทรงตัวอยู่ในระดับสูงในปี 55 รวมทั้งการที่รัฐบาลมีนโยบายปรับขึ้นราคาขายปลีกในประเทศของก๊าซ LPG ในภาคขนส่งและก๊าซ NGV ตั้งแต่ต้นปี 55 ย่อมจะเพิ่มต้นทุนการให้บริการขนส่งในประเทศ

ส่วนธุรกิจเกษตรและอาหาร สินค้าเกษตรและอาหารอาจจะได้รับผลกระทบในด้านการส่งออกเนื่องจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ปัญหาวิกฤตหนี้สาธารณะในยุโรปอาจลุกลามจนทำให้เศรษฐกิจโลกทรุดลง และจะส่งผลทำให้การส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารของไทยลดลงตามไปด้วย นอกจากนี้ ภัยธรรมชาติที่เกิดมากขึ้นก็เป็นอีกปัจจัยเสี่ยงอีกประการหนึ่งที่มีผลกระทบต่อการส่งออกของไทยด้วย

อนึ่ง รอบปีที่ผ่านมาทริสเรทติ้งได้ดำเนินการจัดอันดับเครดิตรวม 123 ครั้ง ซึ่งประกอบด้วยการจัดอันดับเครดิตให้แก่ลูกค้าใหม่จำนวน 13 ครั้ง และการทบทวนอันดับเครดิตของลูกค้าเดิมจำนวน 110 ครั้ง ทั้งนี้ ผลของการทบทวนอันดับเครดิตโดยทริสเรทติ้งปรากฏว่ามีบริษัทที่ได้รับการยืนยันอันดับเครดิตเดิมมี 73 ราย บริษัทที่ได้รับการปรับเพิ่มอันดับเครดิตมี 14 ราย และปรับลดอันดับเครดิต 5 ราย ที่เหลือเป็นการปรับแนวโน้มอันดับเครดิต (Rating Outlook)

การปรับลดอันดับเครดิตองค์กรในปีที่ผ่านมาประกอบด้วยผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมก่อสร้าง (2 ราย) อุตสาหกรรมขนส่งและโลจิสติกส์ (2 ราย) และอุตสาหกรรมโรงแรม (1 ราย) ผู้ประกอบการที่ได้รับการปรับเพิ่มอันดับเครดิต 14 รายประกอบด้วยผู้ประกอบการในกลุ่มพลังงาน ธุรกิจเกษตรและอาหาร สถาบันการเงิน ค้าปลีก ที่อยู่อาศัย สื่อสาร โรงพยาบาล และอื่น ๆ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ