KBANK วางแผนรุกตลาดตจว.-อาเซียน รับมือเปิดเสรีการค้า-การลงทุน AEC

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday January 31, 2012 17:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมเกียรติ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เปิดเผยว่า ธนาคารได้กำหนดรูปแบบการทำธุรกิจโดยอาศัยเครือข่ายพันธมิตรในประเทศต่างๆ เพื่อรองรับการเติบโตของการค้าการลงทุนระหว่างไทยกับอาเซียนที่จะเกิดขึ้นอย่างเต็มรูปแบบในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 58 ทำให้เกิดการรวมตลาดเดียวของประเทศต่างๆในอาเซียน

เครือธนาคารจึงได้กำหนดรูปแบบการทำธุรกิจ 3 รูปแบบ คือ 1. กลุ่มประเทศที่เข้ามาลงทุนในไทยโดยใช้ไทยเป็นฐานการผลิตสินค้าเพื่อขายในประเทศและเพื่อการส่งออก โดยเฉพาะญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ซึ่งธนาคารมีพันธมิตรท้องถิ่นในประเทศญี่ปุ่น 19 แห่ง และพันธมิตรประเทศเกาหลีใต้ 2 แห่ง โดยธนาคารมีส่วนแบ่งการตลาดบริษัทญี่ปุ่นในไทยเพิ่มขึ้นจากปี 53 อยู่ที่ 12% เพิ่มเป็น 13% ในปี 54 มีลูกค้า 4,300 บริษัท

2. กลุ่มประเทศที่ไทยต้องการเข้าไปขยายการค้าการลงทุนเพื่อผลิตสินค้าขายในประเทศนั้นๆ หรือส่งออกสู่ตลาดอาเซียนและตลาดโลก เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย พม่า โดยธนาคารจะจัดตั้งหน่วยงานเพื่อสนับสนุนลูกค้า โดยเฉพาะลูกค้าที่ไม่ได้มีธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งปัจจุบันธนาคารได้สร้างเครือข่ายพันธมิตรกับประเทศกลุ่มนี้ 7 แห่ง 4 ประเทศ คือ เวียดนาม อินโดนีเซีย สิงคโปร์และลาว

3. ประเทศจีน ซึ่งธุรกรรมการค้าของจีนมีโอกาสเติบโตสูงมาก และจีนมีแนวโน้มทำการค้าการลงทุนในไทย ไม่เฉพาะการค้าขาย แต่มองไทยเป็นส่วนหนึ่งของการเข้าสู่ตลาดอาเซียน ธนาคารจึงกำหนดรูปแบบทำธุรกิจในจีน 3 รูปแบบ คือ การเข้าไปลงทุนตั้งสาขาและทำธุรกิจในประเทศจีน โดยเน้นลูกค้าเอสเอ็มอี ซึ่งธนาคารมีแผนเปิดสาขาเพิ่มในจีนอีก 2 แห่ง วางเป้าหมายเพิ่มพอร์ตสินเชื่อในจีนจากปี 54 อยู่ที่ 800 ล้านหยวน เป็น 2,000 ล้านหยวนในปี 55 มีการจัดตั้งทีมงานและ Business Model ที่เหมาะสมตอบสนองความต้องการของบริษัทในจีนที่เข้ามาลงทุนในไทย และการให้บริการทางการเงินสำหรับการขยายตัวทางการค้าระหว่างสองประเทศในอัตราที่สูง โดยตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนการค้าไทยจีนเป็น 30% ภายในปี58 จากปี 54 อยู่ที่ 12%

ด้านนายกฤษฎา ล่ำซำ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส KBANK กล่าวว่า ธนาคารจะเริ่มรุกตลาดต่างจังหวัดมากขึ้น เพื่อรองรับการเปิด AEC เพราะในอนาคตศูนย์กลางการค้าการลงทุนจะไม่ใช่กรุงเทพฯอีกต่อไป แต่จะเป็นประเทศไทยทั้งประเทศ ดังนั้น จึงต้องมีการเตรียมแผนรองรับ โดยจะเริ่มรุกตลาดในหัวเมืองใหญ่ใน 3 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มหัวเมืองใหญ่ที่อิงธุรกิจบริการ การท่องเที่ยว เช่น ภูเก็ต สุราษฎณ์ธานี เชียงใหม่ 2. หัวเมืองใหญ่ที่อิงธุรกิจอุตสาหกรรม เช่นอยุธยา โคราช ชลบุรี 3. หัวเมืองใหญ่ที่อิงธุรกิจการเกษตร เช่น สงขลา นครสวรรค์ นครปฐม

"ต่อไปไทยจะกลายเป็นไข่แดงของอาเซียน ดังนั้นแบงก์คงจะต้องเข้าไปเจาะพื้นที่โดยชี้วัดจากประชากรในจังหวัดต่างๆ ซึ่งในต่างจังหวัดมองว่ามีกำลังซื้อและมีความต้องการสินเชื่อมาก...เมื่อไรเราเป็นไข่แดง ทำให้เราต้องปักธงได้ก่อน ปี 55 เราจึงคาดหวังที่จะโตจากต่างจังหวัดเยอะ สินเชื่อปีนี้จากโตจากต่างจังหวัดจากสินเชื่อรวมที่ตั้งเป้าโต 9-11%" นายกฤษฎา กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ