ทริสฯ คงอันดับเครดิตองค์กร-หุ้นกู้ไม่มีประกัน THAI ที่ระดับ A+/Stable

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday February 1, 2012 13:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ. การบินไทย (THAI) และหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดปัจจุบันของบริษัทที่ระดับ “A+" ในขณะเดียวกันยังจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 3,000 ล้านบาทและหุ้นกู้มูลค่า 2,000 ล้านบาท (THAI16DA) ของบริษัทที่ระดับ “A+" เช่นกัน โดยแนวโน้มอันดับเครดิตยังคง “Stable" หรือ “คงที่"

อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะความเป็นผู้นำในธุรกิจการบินระหว่างประเทศในเส้นทางที่บินเข้าและออกจากประเทศไทยและการได้รับประโยชน์จากการเป็นสมาชิก Star Alliance ซึ่งเป็นเครือข่ายพันธมิตรสายการบินที่ใหญ่ที่สุด อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากการมีภาระหนี้ที่ค่อนข้างสูงและความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ผันผวน รวมถึงความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่กระทบต่อธุรกิจสายการบิน เช่น โรคระบาด ภัยพิบัติทางธรรมชาติ และความไม่สงบทางการเมือง รวมถึงการแข่งขันที่รุนแรงทั้งจากสายการบินทั่วไปและสายการบินต้นทุนต่ำที่จะกดดันอัตรารายได้ต่อผู้โดยสาร-กิโลเมตรของบริษัทอย่างต่อเนื่องทั้งในระยะสั้นและระยะปานกลาง

ส่วนแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงความคาดหมายว่า THAI จะยังคงสามารถรักษาสถานะผู้นำในธุรกิจการบินระหว่างประเทศที่มีประเทศไทยเป็นจุดเริ่มต้นเอาไว้ได้ โดยอันดับเครดิตยังอยู่บนพื้นฐานการคาดการณ์ว่าบริษัทจะยังคงได้รับประโยชน์จากการมีรัฐบาลเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ต่อไป ดังนั้น การแปรรูปกิจการของบริษัทอาจส่งผลให้อันดับเครดิตของบริษัทถูกปรับลดลงได้ในระดับหนึ่ง นอกจากนี้ ความสามารถในการทำทำไรโดยการลดค่าใช้จ่ายด้านการดำเนินงานและด้านเชื้อเพลิงจะเป็นปัจจัยสำคัญในการรักษาคุณภาพอันดับเครดิตของบริษัทเอาไว้โดยเฉพาะในช่วงที่บริษัทต้องมีการลงทุนอย่างมาก

อันดับเครดิตของ THAI ได้รับการปรับเพิ่มขึ้นจากอันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทซึ่งสะท้อนถึงการสนับสนุนจากภาครัฐในฐานะที่เป็นรัฐวิสาหกิจและสายการบินแห่งชาติ ดังนั้น อันดับเครดิตจะได้รับการปรับลดลงหากรัฐบาลลดสัดส่วนการถือหุ้นลงเหลือต่ำกว่า 50% ปัจจุบันกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทในสัดส่วน 51% นอกจากนี้ ยังมีธนาคารออมสินซึ่งเป็นธนาคารของรัฐบาลไทยเป็นผู้ถือหุ้นในสัดส่วน 2.4% ด้วย ในขณะที่หุ้นของบริษัทในสัดส่วน 15.1% ที่ถือโดยกองทุนวายุภักษ์นั้นจัดเป็นการถือหุ้นโดยผู้ลงทุนภาคเอกชนแม้กองทุนวายุภักษ์จะได้รับการจัดตั้งโดยกระทรวงการคลังเพื่อลงทุนในรัฐวิสาหกิจที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ก็ตาม

ทริสเรทติ้งรายงานว่า THAI เป็นหนึ่งในสายการบินที่ใหญ่ที่สุดในทวีปเอเซียในปัจจุบัน โดย ณ เดือนมีนาคม 2554 บริษัทให้บริการเส้นทางการบินระหว่างประเทศ ณ สนามบินปลายทาง 62 แห่งทั่วโลก ด้วยเที่ยวบินจำนวน 589 เที่ยวต่อสัปดาห์ บริษัทมีปริมาณที่นั่งในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2554 เพิ่มขึ้น 4.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเนื่องจากบริษัทเพิ่มเครื่องบินใหม่อีกจำนวน 6 ลำ บริษัทมีสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในเส้นทางการบินระหว่างประเทศ โดยในปี 2553 มีส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณ 36.5% ของจำนวนเที่ยวบินระหว่างประเทศที่ใช้บริการ ณ ท่าอากาศยานนานาชาติต่าง ๆ ของไทย

สำหรับการบินภายในประเทศนั้น ปริมาณการจราจรทางอากาศโดยรวมเพิ่มขึ้นอย่างมากหลังจากที่สายการบินต้นทุนต่ำเริ่มให้บริการในปี 2546 ทำให้จำนวนผู้โดยสารทั้งระบบเพิ่มขึ้นจาก 7.2 ล้านคนในปี 2546 มาอยู่ที่ 13.3 ล้านคนในปี 2553 กระนั้นส่วนแบ่งทางการตลาดของบริษัทก็ลดลงจาก 85% ในปี 2546 เหลือ 40% ในปี 2553 ธุรกิจการบินภายในประเทศสร้างรายได้ให้แก่บริษัทเพียง 9% ของรายได้รวม

การมีต้นทุนดำเนินงานที่ค่อนข้างสูงกว่าสายการบินต้นทุนต่ำทำให้บริษัทต้องกำหนดกลยุทธ์ที่จะเพิ่มกำไรโดยการลดจำนวนเที่ยวบินภายในประเทศที่มีผลประกอบการขาดทุนและเปิดโอกาสให้สายการบินราคาประหยัดที่เป็นพันธมิตรของบริษัทคือ “นกแอร์" เป็นผู้ให้บริการแทน นอกจากนี้ บริษัทยังได้จัดตั้งหน่วยธุรกิจใหม่ขึ้นมาเพื่อให้บริการสายการบินระดับกลางภายใต้ชื่อ “ไทยสไมล์" ซึ่งเน้นให้บริการแก่กลุ่มลูกค้ารายได้ปานกลาง โดยไทยสไมล์จะเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการแข่งขันเพื่อเพิ่มสัดส่วนทางการตลาดจากสายการบินต้นทุนต่ำอื่น ๆ ทั้งในเส้นทางการบินภายในประเทศและในภูมิภาคเอเชีย

ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2554 บริษัทมีอัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสารลดลงสู่ระดับ 72.2% จาก 73.6% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2553 นอกจากนี้ อัตราส่วนการขนส่งพัสดุภัณฑ์ก็ลดลงจากระดับ 69.6% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2553 สู่ระดับ 66.5% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2554

ในปี 2554 ผลการดำเนินงานของบริษัทปรับตัวลดลงเนื่องจากราคาน้ำมันเครื่องบินที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก ประกอบกับการแข่งขันที่รุนแรงซึ่งมีผลจำกัดการปรับเพิ่มค่าชดเชยน้ำมัน อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ของบริษัทลดลงจาก 17.2% ในปี 2553 เป็น 11.5% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2554 อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายปรับตัวลดลงจาก 6.2 เท่าในปี 2553 เป็น 4.2 เท่าในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2554

และอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมก็ปรับตัวลดลงจาก 19.1% ในปี 2553 เป็น 10.3% (ยังไม่ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปี) ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2554 อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 66.1% ในปี 2553 สู่ระดับ 67.6% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2554 ทั้งนี้ คาดว่าภาระหนี้ของบริษัทจะเพิ่มขึ้นและคงอยู่ในระดับสูงต่อไปในระยะปานกลางเนื่องจากบริษัทมีภาระลงทุนค่อนข้างสูงอันเกิดจากการจัดหาเครื่องบินใหม่

อย่างไรก็ตาม บริษัทจะได้ประโยชน์จากการจัดหาเครื่องบินใหม่ในแง่ประสิทธิภาพการบินที่เพิ่มขึ้น ปริมาณการใช้น้ำมันที่ต่ำลง และค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงที่ลดลง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ