ประกอบกับ คาดการณ์ว่าความต้องการใช้ปูนซิเมนต์ในประเทศปรับเพิ่มขึ้น แม้ว่ายังไม่เห็นการฟื้นตัวในช่วงต้นปี และคาดว่าไตรมาส 1/55 คาดว่าความต้องการใช้ปูนจะลดลง แต่เชื่อว่าจะเริ่มเห็นการฟื้นตัวในเดือน มี.ค. โดยทั้งปีคาดว่าความต้องการใช้ปูนในประเทศจะเพิ่มขึ้นประมาณ 5% หรือเพิ่มขึ้นมาที่ 29 ล้านตัน จากปีก่อนที่อยู่ 27.9 ล้านตัน
ทั้งนี้ ประเมินว่าสัดส่วนการใช้ปูนซิเมนต์ของการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆของรัฐบาลคิดเป็น 40% จากเดิม 30% เนื่องจากปีนี้คาดว่าจะมีความคืบหน้าของโครงการรถไฟฟ้าทั้งสายสีแดงและสีม่วง นอกจากนี้ เชื่อว่าภาครัฐจะลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับการป้องกันน้ำท่วมอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น ขณะที่สัดส่วนอีก 30% จะมาจากโครงการที่อยู่อาศัย และที่เหลือจะเป็นการใช้ในการซ่อมแซมของผู้บริโภค
อย่างไรก็ตาม ปัญหาต้นทุนพลังงานเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะราคาถ่านหินที่ปัจจุบันปรับขึ้นมา 20% ยอมรับว่าส่งผลกระทบต่อบริษัท รวมถึงค่าขนส่งเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่สามารถปรับราคาปูนเพิ่มขึ้นได้ ซึ่งปีนี้มองว่าราคาปูนควรจะทยอยปรับขึ้นจากปัจจุบันที่ราคาขาย 2,400 บาท/ตัน ต่ำกว่าเพดานขั้นสูงที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดที่ 2,600 บาท/ตัน ซึ่งประเมินว่าอย่างน้อยควรปรับขึ้นไปเท่ากับราคาขั้นสูงที่ 2,600 บาท/ตัน
สำหรับปี 55 บริษัทวางงบ 1 พันล้านบาทใช้ในการลงทุนเครื่องจักรและซ่อมบำรุง แต่ยังไม่รวมการเข้าซื้อกิจการ โดยบริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาการลงทุนโรงปูนซิเมนต์ในประเทศพม่า ซึ่งเจรจาอยู่หลายรายที่จะเข้าไปร่วมทุน คาดว่าจะสรุปได้ภายในปีนี้
นอกจากนั้น บริษัทยังสนใจลงทุนตั้งโรงปูนซิเมนต์ในประเทศกัมพูชาที่เมืองกัมปด ซึ่งมีพื้นที่ใกล้เคียงโรงปูนซิเมนต์ของเครือซิเมนต์ไทย เพราะมีศักยภาพในเรื่องวัตถุดิบและกำลังการซื้อ คาดว่าจะใช้เงินลงทุน 150 ล้านเหรียญสหรัฐ กำลังการผลิตอยู่ที่ 2.5-3.2 พันตัน/วัน คาดว่าจะสรุปการลงทุนดังกล่าวในปีนี้ และจะเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ในปี 58