นายตรรก บุนนาค ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา(BAY) คาดการณ์เงินบาทในปี 55 จะเคลื่อนไหวผันผวนทั้งทิศทางแข็งค่าและอ่อนค่า โดยคาดว่าเคลื่อนไหวในกรอบ 30.50-32.00 บาท/ดอลลาร์ และมีโอกาสที่จะแข็งค่าไปถึง 29.00-30.00 บาท/ดอลลาร์ หากเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนตัวต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ในช่วงเดือน ม.ค.55 เงินบาทแข็งค่าไปแล้ว 2% ซึ่งเป็นผลมาจากการทำ balancing ของการส่งออกและนำเข้า รวมทั้งจากผลของเงินต่างประเทศที่ไหลเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น และในปีนี้ยังมีเงินทุนไหลเข้าจากเงินที่เคลมประกันภัยน้ำท่วมที่ส่งไปให้บริษัทรับประกันภัยต่อในต่างประเทศ อีกทั้งภูมิภาคเอเชียยังเป็นเป้าหมายการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ
"ในปี 55 มองว่าจะเป็นปีที่มีความผันผวนมากในตลาดหุ้น ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ และตลาดตราสารหนี้ เนื่องจากความไม่แน่นอนของปัญหาหนี้ในยุโรป"นายตรรก กล่าว
นายตรรก กล่าวว่า ระบบธนาคารพาณิชย์ขณะนี้ยังมีสภาพคล่องสูงกว่า 2 ล้านล้านบาท และเชื่อว่าธนาคารจะยังพยายามรักษาสภาพคล่องส่วนเกินไว้เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน หลังจากที่การคุ้มครองเงินฝากจะลดลงเหลือ 1 ล้านบาท/บัญชี และต้องการเตรียมเงินไว้ให้เพียงพอต่อการปล่อยสินเชื่อหากเศรษฐกิจกลับมาขยายตัวได้ดี
แต่จากการที่ปีนี้ธนาคารมีข้อจำกัดในการระดมเงิน ทั้งกฎระเบียบของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)ที่ควบคุมการออกตั๋วแลกเงิน(B/E) รวมถึงการเพิ่มอัตราการส่งเงินค่าธรรมเนียมเงินฝากจากตั๋ว B/E เพื่อชำระหนี้ให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบการชำระเงิน ทำให้ธนาคารต้องหันมาปรับตัววางกลยุทธ์ขยายช่องทางการระดมเงินในรูปแบบใหม่ ซึ่งจะเห็นธนาคารหันมาออกหุ้นกู้มากขึ้น และคงไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีความซับซ้อน เพราะขณะนี้นักลงทุนไม่ได้พิจารณาจากผลตอบแทนเท่านั้น แต่จะดูเรื่องความเสี่ยงในการออมเงินมากกว่า
"ในส่วนของแบงก์กรุงศรีฯ คงต้องติดตามดูพฤติกรรมของผู้ฝากเงิน หลังการคุ้มครองเงินฝากในปีนี้จะเหลือ 1 ล้านบาทมีผลต่อผู้ฝากเงินอย่างไร รวมถึงรอดูค่าธรรมเนียมที่จะจัดเก็บเพิ่มขึ้นว่าจะกระทบกับแบงก์อย่างไรบ้าง และปีนี้ ก.ล.ต.ยังออกกฎใหม่ในการออกตั๋ว B/E ซึ่งที่ผ่านมาระบบแบงก์มีการออก B/E ค่อนข้างมาก ทำให้ต้องปรีบเปลี่ยนวิธีการระดมเงินโดยการออกผลิตภัณฑ์ใหม่"นายตรรก กล่าว
สำหรับการปรับลดดอกเบี้ยในระบบธนาคารพาณิชย์ หลังคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายเหลือ 3% มองว่าจะส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์จะลดตามหรือไม่ขึ้นกับสภาพคล่องและการแข่งขันที่ขณะนี้ยังมีอยู่สูง ดังนั้น ธนาคารพาณิชย์จึงยังคงตรึงดอกเบี้ยเพื่อไม่ให้สูญเสียความสามารถการแข่งขัน ส่วนจะมีการลดดอกเบี้ยหลังธนาคารกรุงไทยนำร่องปรับลดดอกเบี้ยเป็นรายแรกหรือไม่ คงต้องขึ้นกับธนาคารขนาดใหญ่แห่งอื่นๆ ที่จะทำก่อน