กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.การบินไทย(THAI)เผยเตรียมนำเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทในวันที่ 3 ก.พ.พิจารณาแผนงาน เป้าหมายธุรกิจ และงบลงทุนในปี 55 รวมทั้งกลยุทธ์ที่จะดำเนินการร่วมกับสายการบินไทยสมายล์ เบื้องต้นวางเป้าหมายปีนี้ผลประกอบการจะพลิกกลับเป็นกำไรจากปี 54 ที่ขาดทุนเพราะวิกฤตอุทกภัย แต่ไตรมาสแรกปีนี้คาดว่าจะมีรายได้และกำไรเป็นที่น่าพอใจจากที่เห็นยอดผู้โดยสารเติบโตฟื้นได้เร็วกว่าคาด ขณะที่ต้นทุนน้ำมันลดลงจากการทำ headging เพิ่มขึ้น
ส่วนแผนลงทุนจัดซื้อเครื่องบินใหม่ยังดำเนินการต่อเนื่อง โดยจะเริ่มทยอยตัดสินใจการสั่งซื้อเครื่องบินใหม่ตามแผนช่วงปี 61-65 จำนวน 38 ลำ เพื่อให้มีเครื่องบินใหม่เข้ามารองรับการบริการต่อเนื่อง หลังจากที่ได้สั่งซื้อไปแล้ว 30 ลำสำหรับช่วงแผน 5 ปีแรก โดยในปีนี้มีแผนออกหุ้นกู้ 1.5 หมื่นล้านบาทเพื่อลงทุนและคืนหนี้
นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ THAI ให้สัมภาษณ์กับ"อินโฟเควสท์"ว่า ฝ่ายบริหารจะนำเสนอเรื่องแผนกลยุทธ์ปรับปรุงใหม่ที่รวมกลยุทธ์ที่จะดำเนินการของสายการบินไทยสมายล์ ที่เป็นหน่วยธุรกิจของการบินไทย โดยจะเปิดดำเนินการในเดือน ก.ค.55 และงบประมาณการลงทุนของบริษัท รวมทั้งเป้าหมายรายได้และกำไรในปี 55 ซึ่งบริษัทเชื่อว่าปีนี้ผลประกอบการจะพลิกเป็นกำไร
"ต้องทำให้ cabin factor (อัตราส่วนบรรทุกผู้โดยสาร)ให้สูงเพียงพอที่จะมีกำไรในระดับที่เหมาะสม ตอนนี้ปัญหาเรื่องการแข่งขันเหมือนเดิม และรุนแรงไม่น้อยลงกว่าปีที่แล้ว…ใช่ ปีนี้ต้องพลิกมาเป็นกำไรให้ได้ เพิ่มรายได้ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ทางการตลาด การปรับปรุงประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ เรื่องค่าใช้จ่ายด้านต่างๆ ทั้งบุคคลากรและไม่ใช่บุคคลากร"นายปิยสวัสดิ์ กล่าว
อนึ่ง งวด 9 เดือนของปี 54 THAI ประกาศผลขาดทุน 4.8 พันล้านบาท หรือขาดทุนต่อหุ้น 2.20 บาท
*สัญญาณรายได้กำไร Q1/55 ไปโลด
นายปิยสวัสดิ์ เชื่อว่า ผลประกอบการไตรมาส 1/55 คาดว่ายังไปได้ดีจากการที่บริษัทฟื้นตัวได้เร็วหลังจากเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ผ่านพ้นไป นอกจากนี้ ต้นทุนน้ำมันลดลงจากผลของการทำประกันความเสี่ยง(hedging)
ทั้งนี้ ช่วงต้นปี 55 ปริมาณผู้โดยสารฟื้นตัวเร็วขึ้นกว่าที่คาด โดย THAI เปิดเผยว่าในช่วงวันที่ 1-16 ม.ค.55 บริษัทมีอัตราส่วนบรรทุกผู้โดยสาร(cabin factor)เพิ่มขึ้นเป็น 78.7% จาก ธ.ค.54 ที่อยู่ระดับ 68% แม้ว่าจะมีการเตือนภัยการก่อการร้ายในประเทศไทย แต่ ณ วันนี้ยังไม่เห็นผล คงต้องใช้ระยะเวลาหนึ่ง
นายปิยสวัสดิ์ กล่าวว่า แม้จะคาดว่าราคาน้ำมันปีนี้ยังไม่ปรับลดลง แต่จากการที่บริษัททำสัญญา hedging ไว้แล้วก็น่าจะทำให้ต้นทุนน้ำมันปีนี้ต่ำกว่าปีที่แล้ว โดยขณะนี้บริษัทได้ทำ hedging เพิ่มเป็น 70-80% จากช่วงต้นปีถึงกลางปี 54 ทำไว้ระดับ 50-60% ขณะที่ยังมี room เหลือที่จะทำเพิ่มได้อีก 20% ตามที่ได้ขอมติคณะกรรมการบริษัทไว้ให้สามารถทำ hedging ได้ทั้ง 100%
การบินไทยจะมีความเสี่ยงมากจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันที่ลดลง เพราะหากราคาน้ำมันสูงขึ้นไปกว่านี้ บริษัทมีขีดจำกัดในการปรับราคาตั๋วได้ยากมาก เพราะมีการแข่งขันรุนแรง จึงต้องปกป้องคุ้มครองต้นทุนราคาน้ำมันไม่ให้สูงขึ้นเป็นสิ่งที่สำคัญ
"20% ที่ยังไม่ทำ hedging เพื่อบริหารความเสี่ยง แต่ถ้าหากราคาน้ำมันลงแล้วเกรงว่าจะขาดทุน...ทำ hedging อันนี้ผมว่าเป็นสถานการณ์ที่เบากว่า เพราะถ้าเผื่อราคาน้ำมันลงต้นทุนทั้งหมดก็ลงไปด้วย ถึงแม้จะขาดทุนจาก hedging ก็ตาม สถานการณ์ราคาน้ำมันในปีนี้ก็ยังน่าเป็นห่วง แต่ต้นทุนสบายใจกว่าปีที่แล้ว เนื่องจากสัญญาที่ทำเอาไว้"นายปิยสวัสดิ์ กล่าว
*ปรับกลยุทธ์หันแข่งขันในเอเชียมากขึ้น
นายปิยสวัสดิ์ ยอมรับว่า สายการบินตะวันออกกลางเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวที่สุดในธุรกิจการบินในขณะนี้ และเส้นทางที่มีการแข่งขันรุนแรงมากที่สุด คือ เส้นทางยุโรป เอเชีย และออสเตรเลีย โดยรายได้ต่อผู้โดยสารต่อกิโลเมตรต่ำมาก ขณะที่เส้นทางเอเชียในเมืองที่ไม่ไกลจากไทยมากก็มีการแข่งขันกับโลว์คอสต์แอร์ไลน์ค่อนข้างรุนแรง
อย่างไรก็ดี การแข่งขันในเส้นทางบินจีนและญี่ปุ่นแม้จะแข่งขันรุนแรง แต่ก็เป็นตลาดที่มีการเติบโตมากและมีจุดแข็งคือ รายได้ต่อผู้โดยสารต่อกิโลเมตรยังอยู่ในระดับค่อนข้างดี ซึ่งเทียบแล้วดีกว่าเส้นทางยุโรป และออสเตรเลีย ค่อนข้างมาก
ดังนั้น บริษัทจึงจะปรับกลยุทธ์ คือ 1) ย้ายกำลังการผลิตจากยุโรปมาในภูมิภาคเอเชียมากขึ้น โดยจัดสรรเครื่องบินที่เหมาะสมกับเส้นทางต่างๆ , เพิ่มความถี่ และอาจจะเปิดเส้นทางใหม่
2) เจาะเข้าเมืองรองทั้งในเอเชียและยุโรป เช่นเดียวกับคู่แข่งที่ดึงผู้โดยสารไปตะวันออกกลาง เพราะจะหวังผู้โดยสารจากเมืองรองเยอรมันมาขึ้นเครื่องบินที่แฟรงเฟิร์ตคงไม่ได้อีกต่อไป เพราะคู่แข่งเจาะเข้าเมืองรอง เช่น ฮัมบรูก์ สตุดการ์ด ซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งที่การบินไทยเปิดบินตรงจากกรุงเทพไปบรัสเซลล์เมื่อช่วงปลายปี 54
3) ใช้ภูเก็ตเป็นศุนย์การบินมากขึ้น จัดเที่ยวบินตรงเข้าภูเก็ต ซึ่งบริษัทได้เริ่มเปิดเมื่อปลายปีที่แล้ว ได้แก่ ภูเก็ต-อินชอน รวมทั้งเพิ่มความถี่เส้นทางภูเก็ต-ฮ่องกงจาก 4 วันต่อสัปดาห์ เป็น 7 วันต่อสัปดาห์
4) เพิ่มการขายตั๋วสำหรับผู้โดยสารเชื่อมโยงต่อไปประเทศอื่นเพื่อเพิ่มความสะดวก ซึ่งก่อนหน้านี้บริษัทอาจะละเลยการขายตั๋วลักษณะนี้มากไป ขณะที่ผู้โดยสารเดินทางมายังประเทศไทยโดยตรง 70% ส่วนที่เหลืออีก 30% เป็นการเดินทางต่อประเทศอื่น ซึ่งการขายตั๋วโดยสารต่อไปยังประเทศไทยยังช่วยลดความเสี่ยง กรณีที่ประเทศไทยอาจเกิดภาวะน้ำท่วม หรือ ปัญหาการเมือง ที่จะทำให้ผู้โดยสารลดลงค่อนข้างมาก
*เริ่มทยอยตัดสินใจจัดหาเครื่องบิน 38 ลำตามแผนส่งมอบปี 61-65
นายปิยสวัสดิ์ กล่าวว่า แผนกลยุทธ์ของการบินไทยยังระบุถึงการจัดหาเครื่องบินจำนวน 38 ลำที่จะต้องเข้ามาในช่วงปี 61-65 จากนี้ไปก็จะเริ่มพิจารณาในรายละเอียด โดยในปีนี้จะทยอยสรุปรายละเอียดเครื่องบินที่จัดซื้อทั้งหมด
"ช่วงปี 61-62 บางส่วนจะทยอยตัดสินใจในปีนี้ แต่ไม่ได้หมายความว่าทั้งหมด ไม่เช่นนั้นจะมีปัญหาขาดช่วง เพราะว่าวันนี้ได้เซ็นสัญญาซื้อเครื่องบินและกำหนดส่งมอบภายในปี 60 เรียบร้อยแล้ว"
ในปี 55 THAI จะมีเครื่องบินใหม่ 12 ลำ ได้แก่ แอร์บัส เอ380 จำนวน 3 ลำ จะรับมอบปลาย ก.ย., โบอิ้ง 777-300 ER จำนวน 2 ลำ รับมอบปลายปี 55, แอร์บัส เอ320 จำนวน 4 ลำ (เริ่มเข้ามา ก.ค.55),แอร์บัส 330 เข้ามาอีก 3 ลำ โดยทยอยเข้ามา 2 ลำเมื่อปีที่แล้ว ส่วนเครื่องบินที่ใช้กับสายการบินไทยสมายล์จะมีจำนวน 9 ลำ
ขณะที่บริษัทต้องปลดระวางเครื่องเก่าที่กินน้ำมันมากและต้นทุนการบำรุงรักษาสูง ได้แก่ เครื่องบินโบอิ้ง 747 จำนวน 4 ลำ, แอร์บัส 300-600 จำนวน 4 ลำ และแอร์บัส เอ340-500 จำนวน 4 ลำ ซึ่งไม่คุ้มค่ากับการใช้บินตรงในเส้นทางระยะไกล โดยจะหาจังหวะเวลาการขายที่เหมาะสม
นายปิยสวัสดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้แอร์บัส 340-500 ใช้บินตรงไปกรุงเทพ-ลอสแองเจอลิส สิ่งที่อยากทำจะทำให้เร็วทีสุด คือการเปลี่ยนเครื่องบิน อาจเป็นโบอิ้ง 777 โดยจะให้แวะจอด 1 จุดก่อนบินไปจุดหมายปลายทางที่ลอสแองเจอลิส ซึ่งจะทำให้ต้นทุนลดลงมากพอสมควร หวังว่าจะเริ่มได้ในเดือน เม.ย.นี้
"บวกลบคูณหาร ถ้าไม่รวมไทยสมายล์(จำนวนที่นั่ง)อาจจะไม่เพิ่มขึ้น เท่าๆเดิม เพราะปลดเครื่องบินเก่า หรือเพิ่มขึ้นเล็กน้อย"นายปิยสวัสดิ์ กล่าว
*ปี 55 มีแผนออกหุ้นกู้ 1.5 หมื่นลบ.
นายปิยสวัสดิ์ เปิดเผยอีกว่า ตามแผนทางการเงินการระดมทุนในรูปแบบหุ้นกู้ในปี 55 จะออกมาเสนอขายจำนวน 1.5 หมื่นล้านบาทเพื่อชำระค่าเครื่องบิน และจะนำไปลงทุนในส่วนที่ไม่ใช่เครื่องบิน ได้แก่ ระบบไอที ทำห้องพักรับรองผู้โดยสาร(เลาจน์)ใหม่ที่สนามบินสุวรรณภูมิ รวมทั้งการจ่ายคืนเงินกู้เดิมและหุ้นกู้เดิมที่หมดอายุ
สำหรับหุ้นกู้ที่คณะกรรมการเพิ่งอนุมัติจำนวน 3 พันล้านบาท อายุ 7 ปี และ 10 ปี เป็นการขายให้นักลงทุนเฉพาะเจาะจง(private placement :PP)
นายปิยสวัสดิ์ เห็นว่าการเสนอขายหุ้นกู้ให้กับ PP ก็เป็นทางเลือกหนึ่ง แต่ขณะเดียวกันคงต้องมาดูต่อว่าส่วนที่เหลือจะเสนอขายให้กับประชาชน หรืออาจจะเสนอขายทั้งประชาชนทั่วไปและ PP พร้อมกัน ซึ่งเห็นว่าการเสนอขายแบบ private placement สามารถดำเนินการได้เร็ว และอีกเหตุผลหนึ่งจากการที่ธนาคารไม่คุ้มครองเงินฝากเต็มวงเงินก็จะทำให้การเสนอขายหุ้นกู้ได้รับความนิยมมากขึ้น
อนึ่ง ในปี 54 การบินไทยเสนอขายหุ้นกู้ให้ประชาชนทั่วไป 8 พันล้านบาทและขายให้ PP วงเงิน 4 พันล้านบาท