บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น(DTAC)เปิดเผยว่า ในปี 55 บริษัทจะมีรายจ่ายเพื่อการลงทุนอยู่ในช่วง 8-9 พันล้านบาท และกระแสเงินสดจากการดำเนินงานจะอยู่ที่ประมาณ 1.8-1.9 หมื่นล้านบาท
DTAC คาดว่าการเติบโตของรายได้ของบริษัทในปี 55 จะอยู่ในอัตราเลขหลักเดียวในช่วงสูง โดยปัจจัยหลักของการเติบโตจะยังคงมาจากการเพิ่มขึ้นของผู้ใช้บริการและบริการด้านข้อมูลที่จะยังคงเพิ่มสูงขึ้น โดยบริษัทคาดว่าแนวโน้มจำนวนผู้ใช้บริการใหม่สุทธิของอุตสาหกรรมน่าจะอยู่ที่ระดับ 4-5 ล้านราย แม้อัตราผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ต่อประชากรรวมจะมากกว่าร้อยละ 110 แล้วก็ตาม
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยหลักที่จะส่งผลกระทบต่อผลประกอบการในปี 55 ของ DTAC คือ อัตราส่วนแบ่งรายได้ตามสัญญา สัมปทานที่ร้อยละ 30 ของทั้งปี 55 และการปรับลดของอัตราภาษีนิติบุคคลจากร้อยละ 30 เป็นร้อยละ 23
สำหรับผลประกอบการในปี 54 เป็นปีที่ DTAC ยังคงมีผลประกอบการที่แข็งแกร่งทั้งในส่วนของกำไรสุทธิและกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน โดยมีกำไรสุทธิทั้งปีเท่ากับ 1.18 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 8.5 จากปีก่อน และยังคงรักษาระดับของกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ 2.15 หมื่นล้านบาทเท่ากับปีก่อน แม้จำนวนเงินลงทุนจะสูงกว่าปีก่อน 1.6 พันล้านบาท
รายได้รวมของปี 54 เท่ากับ 7.93 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.6 เมื่อเทียบกับปีก่อน จากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากบริการ เสียงและรายได้จากบริการเสริมโดยเฉพาะ รายได้ด้านข้อมูล DTAC ยังคงมี EBITDA ที่แข็งแกร่งและยังสามารถรักษาระดับกระแส เงินสดได้แม้ว่าต้องเผชิญกับอุทกภัยในหลายพื้นที่ของประเทศและการปรับเพิ่มอัตราส่วนแบ่งรายได้ตามสัญญาสัมปทานในช่วงท้ายไตรมาส 3 ของปี
DTAC มีจำนวนผู้ใช้บริการรวม ณ สิ้นปี 54 จำนวน 23.2 ล้านเลขหมาย เพิ่มขึ้นสุทธิ 1.6 ล้านเลขหมายจากสิ้นปีก่อน แม้ อัตราการเติบโตของจำนวนผู้ใช้บริการจะชะลอจากปีก่อน แต่เมื่อพิจารณาถึงอัตราผู้ใช้บริการต่อประชากรที่เกินกว่าร้อยละ 110 แล้ว จำนวนผู้ใช้บริการที่เพิ่มขึ้นนั้นนับว่ายังแสดงถึงการเติบโตของอุตสาหกรรมได้เป็นอย่างดี
ในระบบรายเดือนมีจำนวนผู้ใช้บริการใหม่สุทธิเพิ่มขึ้น 73,197 เลขหมาย ซึ่งเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 110 จากปีก่อน สะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จจากการเปิดให้บริการ 3G HSPA บนคลื่นความถี่ย่าน 850 เมกะเฮิรตซ์ และความพยายามอย่างต่อเนื่องในการรักษาฐานลูกค้า
ในไตรมาส 4 ปี 54 DTAC มีจำนวนผู้ใช้บริการใหม่สุทธิเพิ่มขึ้น 0.4 ล้านเลขหมาย ซึ่งเพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน โดยเป็นไปตามปกติของผลกระทบตาม ฤดูกาลในไตรมาส 4 ซึ่งมีอัตราการเติบโตสูง
ปริมาณการใช้งานในปี 54 ลดลงจากปีก่อนเนื่องจากความพยายามในการปรับรูปแบบแพ็คเกจโดยลดจำนวนนาทีที่ให้บริการ โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย โดยปริมาณการใช้งานเฉลี่ยไม่รวม IC และรวม IC ลดลงร้อยละ 8.2 และ 7.9 จากปีก่อนตามลำดับ อย่างไรก็ดี ปริมาณการใช้งานเฉลี่ยรวม IC ในไตรมาส 4 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.2 จากไตรมาสก่อน แต่ลดลงร้อยละ 8.4 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยสาเหตุหลักของการลดลงเป็นผลจากอุทกภัยที่กระทบหลายพื้นที่ของประเทศ
รายได้เฉลี่ยต่อเลขหมายรวมและไม่รวม IC ในปี 54 ลดลงเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.8 และ ร้อยละ 1.5 ตามลำดับเมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งอัตราการลดลงของรายได้เฉลี่ยต่อเลขหมายชะลอตัวลงจากการเติบโตของการใช้งานบริการเสริมโดยเฉพาะการใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ในไตรมาส 4/54 รายได้เฉลี่ยไม่รวม IC เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 จากไตรมาสก่อนซึ่งเป็นปกติของไตรมาส 4 ที่มีการใช้งานสูง แต่ลดลงร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนจากจำนวนผู้ใช้บริการที่เพิ่มขึ้นมาก