กลุ่มนิคมฯเด้งขึ้นยกแผง โบรกฯมองพื้นที่ด้านตะวันออกมีแนวโน้มเติบโตสูง

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday February 9, 2012 10:53 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

หุ้นในกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมราคาขยับขึ้นยกแผง โดยเมื่อเวลา 10.43 น.หุ้น AMATA อยู่ที่ 16.10 บาท เพิ่มขึ้น 0.10 บาท(+0.63%) มูลค่าซื้อขาย 76.83 ล้านบาท

หุ้น HEMRAJ ราคาอยู่ที่ 2.64 บาท เพิ่มขึ้น 0.04 บาท(+1.54%)มูลค่าซื้อขาย 106.24 ล้านบาท

หุ้น ROJNA ราคาอยู่ที่ 6.45 บาท เพิ่มขึ้น 0.10 บาท(+1.57%)มูลค่าซื้อขาย 5.54 ล้านบาท

บล.ทรีนีตี้ ระบุในบทวิเคราะห์ฯมองนิคมอุตสาหกรรมด้านตะวันออกของประเทศ มีแนวโน้มจะเติบโตสูง เนื่องจากมีการย้ายฐานการผลิตจากที่ราบลุ่มทางภาคกลางของประเทศมาด้านตะวันออกมากขึ้น โดยเฉพาะการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่ค่ายรถยนต์ต่างๆ มีแผนเพิ่มกำลังการผลิต ใช้ไทยเป็นหนึ่งในฐานการส่งออก โดยเฉพาะมีการลงทุนในโครงการ อีโค-คาร์ ทั้งหมด 6 ค่าย ค่ายละประมาณ 1 แสนคัน ประกอบด้วย ฮอนด้า, นิสสัน, ซูซูกิ, มิตซูบิชิ และ โตโยต้า

พร้อมแนะนำ"ซื้อ"หุ้น บมจ. อมตะ คอร์ปอเรชั่น(AMATA)ให้ราคาเป้าหมาย 17 บาท มีแนวโน้มจะปรับเป้ายอดขายที่ดินปีนี้เพิ่มจากประมาณการเดิม 2,000 ไร่ (28%) นอกจากนี้ยังได้แรงหนุนจากยอดขายที่ดินให้บริษัทร่วมทุนระหว่าง AMATA และ Holley Group จากจีน โดย AMATA จะถือหุ้น 51% จะเพิ่มอีกประมาณ 3,000 ไร่ แต่ราคาขายและกำไรจะไม่สูง เนื่องจากบริษัทร่วมทุนนี้จะนำที่ดินไปพัฒนาต่อแล้วขายให้นักลงทุนชาวจีน นอกจากนี้ยังไม่ชัดเจนนักว่าจะรวมงบ หรือ ไม่ แต่ราคาหุ้นขึ้นมาแรงรอจังหวะซื้อในช่วงอ่อนตัว

และแนะนำ"ซื้อ"หุ้น บมจ.เหมราชพัฒนาที่ดิน(HEMRAJ)ให้ราคาเป้าหมาย 2.8 บาท โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ Gheco-One จะเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์เดือน เม.ย. จะเพิ่มกำไรให้ HEMRAJ ปีละ 1.4 พันล้านบาท คาดจะทำให้กำไรปี 2555 จะโดดเด่นถึง 2,082 ล้านบาท เติบโต 353%

ส่วนหุ้น บมจ.สวนอุตสาหกรรมโรจนะ(ROJNA)แนะ"ถือ"เนื่องจากยังได้รับผลลบจากโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ กลับมาผลิตเพียง 27 แห่ง และเป็นการผลิตเพียงบางส่วน จากทั้งหมด 198 แห่ง และโรงไฟฟ้า ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 55% ของรายได้ ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม ต้องใช้เวลาในการซ่อมแซมถึงประมาณกลางปี

ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมได้เปิดเผยว่าโรงงานอุตสาหกรรม ในนิคมอุตสาหกรรม เขตประกอบการและสวนอุตสาหกรรมที่ประสบภาวะน้ำท่วม 7 แห่ง จากตรวจสอบล่าสุดพบว่ามีโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมที่ถูกน้ำท่วมเริ่มเดินเครื่องผลิตแล้ว เพียง 30% จากโรงงานที่ถูกน้ำท่วมทั้งหมด 888 แห่ง ก่อนหน้านี้ อุตสาหกรรมประเมินว่าโรงงานจะเดินเครื่องผลิตได้ 60-70% แต่ยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย โดยโรงงานเดินเครื่องล่าช้า เนื่องจากรอการประเมินค่าเสียหายจากบริษัทประกันและรอเครื่องจักรและอะไหล่ที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ