กสทช.คาดเปิดประมูลใบอนุญาตผู้ผลิตรายการทีวีดิจิตอลได้ราวต้นปี 56

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday February 13, 2012 16:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พ.อ.นที ศุกลรัตน์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)และรองประธาน ด้านกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ คาดว่า จะเปิดประมูลใบอนุญาตผู้ผลิตรายการทีวีดิจิตอลประมาณต้นปี 56 โดยจะเปิดทีวีดิจิตอลจำนวน 50 ช่อง จากคลื่นความถี่ที่เหลืออยู่ในปัจจุบันประมาณ 100 MHz จากที่มีอยู่ 200 MHz

ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมประมูลต้องประมูลคลื่นความถี่ด้วย โดยจะจัดหมวดหมู่ในการเปิดประมูล ได้แก่ รายการเด็ก รายการวาไรตี้ และจะแบ่งเป็นรายการเพื่อสาธารณะด้วย เพื่อให้มีการแข่งขันด้านคุณภาพเนื้อหาของช่องรายการ

ขณะเดียวกันจะแยกการประมูลใบอนุญาตผู้ให้บริการสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น เสาอากาศ คาดว่าจะมี 1-2 ราย และ ใบอนุญาตผู้ให้บริการโครงข่าย ซึ่งรวมถึงอุปกรณ์รับส่งสัญญาณ คาดว่าจะมี 2-3 ราย โดยทั้งสองใบอนุญาตจะเป็นผู้ให้เช่ากับผู้ใบอนุญาตผู้ผลิตรายการ

ทั้งหมดนี้ในเบื้องต้นจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมใบอนุญาตไม่เกิน 2% ตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่กำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย

พ.อ.นที กล่าวว่า คณะอนุกรมการจัดทำแผนการปรับเปลี่ยนระบบการรับส่งวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล จะประชุมเป็นครั้งแรกในวันที่ 16 ก.พ.นี้ โดยจะเรียกผู้ประกอบการกิจการฟรีทีวี 6 ช่องเข้ามาหารือ ทั้งช่อง 3,ช่อง 5, ช่อง 7, ช่อง9 ,ช่อง 11 และ ช่องไทยพีบีเอส เพื่อให้รับรู้การเปลี่ยนแปลงในกิจการโทรทัศน์ และวางแผนโรดแม็พ

ขณะที่ กสทช.จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับผู้ประกอบการกิจการโทรทัศน์ที่มีสัญญาสัมปทานที่เป็นระบบอนาล็อก ซึ่งจะทยอยหมดอายุสัญญาสัมปทานไป โดยจะรอให้สิ้นสุดอายุสัญญาสัมปทานที่เหลืออยู่ประมาณ 10 ปีแล้วให้เข้าสู่ระบบทีวีดิจิตอล อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการจะเข้าร่วมประมูลใบอนุญาตผู้ผลิตรายการทีวีดิจิตอลได้

"ผมไม่แตะเรื่องอนาล็อก ทีวีที่ออกอากาศในปัจจุบัน ให้ทำจนสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน ถ้าอยากทำทีวีดิจิตอลก็ต้องมาคืนคลื่นแล้วเข้าประมูล หรือจะทำช่องใหม่ก็เข้ามาร่วมประมูลได้" พ.อ.นที กล่าว

ในส่วนภาคประชาชน ในช่วงแรกต้องติดตั้ง set top box หรืออุปกรณ์ปลายทางในการแปลงสัญญาณจากระบบอนาล็อกเป็นระบบดิจิตอล ราคา 1,500-2,000 บาท แต่เชื่อว่าในอนาคตราคาจะลดลง ซึ่งหากมีทิศทางใน 1 ปี หรือ 1 ปีครึ่ง คาดภาครัฐจะเข้ามาอุดหนุนให้กับประชาชน หรืออาจจะนำเงินกองทุน USO

ส่วนทีวีดาวเทียม พ.อ.นที กล่าวว่า แม้ว่าปัจจุบันเติบโตมาก แต่เนื้อหาอาจจะแข่งขันกับ ทีวีดิจิตอลไม่ได้ เพราะมีการลงทุนต่ำกว่า และการรับภาพไม่มีความเสถียร เมื่อเทียบกับทีวีดิจิตอล ซึ่งเป็นโทรทัศน์แบบไม่บอกรับสมาชิกระบบภาคพื้นดิน(ฟรีทีวี) เชื่อว่า ผู้บริโภคจะหันมาชมทีวีดิจิตอลมากกว่า

ทั้งนี้ บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับกิจการโทรทัศน์ ได้แก่ บมจ.บีอีซี เวิลด์ (BEC) ผู้ผลิตรายการช่อง 3 และมีสัญญาสัมปทานกับช่อง 9 , บมจ.อสมท. (MCOT) ผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ของภาครัฐ ทางช่อง 9, บมจ.เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น (NBC) ผู้ผลิตรายการเคเบิลทีวี ช่อง Nation Channel ช่องระวังภัย และ ช่องแมงโก้ทีวี , บมจ.ทรูคอร์ปอเรชั่น(TRUE) ซึ่งมีบริษัทย่อยคือ ทรูวิชั่นส์ เป็นเคเบิลทีวีรายใหญ่ , บมจ.โซลูชั่น คอร์เนอร์ (1998) (SLC) ผู้ผลิตสถานีโทรทัศน์สปริงนิวส์ผ่านทีวีดาวเทียม,

บมจ.จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ (GRAMMY) ซึ่งผลิตรายการผ่านทีวีดาวเทียมหลายรายการ เช่น Green Channel , Money Channel, JSL Channel, JYK Channel เป็นต้น, บมจ.อาร์เอส ผลิตรายการผ่านทีวีดาวเทียม เช่น ช่อง 8 , Yaak TV เป็นต้น , บมจ.ไลฟ์ อินคอร์ปอเรชั่น (LIVE) มีรายการช่องกีฬา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ