ทริสฯ คงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ MAJOR ที่ระดับ A-/Stable

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday February 15, 2012 13:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันของ บมจ. เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป (MAJOR) ที่ระดับ “A-" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่"

อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะผู้นำในธุรกิจโรงภาพยนตร์ในประเทศไทย ตลอดจนการมีโรงภาพยนตร์ซึ่งตั้งอยู่ในทำเลที่ดี และคณะผู้บริหารที่มีความสามารถ จุดเด่นดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ อาทิ ปริมาณของภาพยนตร์ที่เข้าฉาย ความเป็นที่นิยมของภาพยนตร์ ตลอดจนระยะเวลาการฉายในโรงที่สั้นลงก่อนที่จะผลิตเป็นวิดีโอซีดี/ดีวีดี การแข่งขันจากกิจกรรมสันทนาการอื่น ๆ และการแพร่ระบาดของวิดีโอซีดี/ดีวีดีละเมิดลิขสิทธิ์

ขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนการคาดการณ์ว่าบริษัทจะสามารถดำรงสถานะผู้นำตลาดในธุรกิจโรงภาพยนตร์และรักษาผลประกอบการให้อยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจเอาไว้ได้ โดยที่การลงทุนในอนาคตหรือการจ่ายเงินปันผลควรได้รับการพิจารณาอย่างรอบคอบและจะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อฐานะการเงินและสภาพคล่องของบริษัทอย่างรุนแรงด้วย

ทริสเรทติ้งรายงานว่า MAJOR เป็นผู้ประกอบการโรงภาพยนตร์รายใหญ่ที่สุดในประเทศไทยด้วยส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณ 80% โดยพิจารณาจากรายได้รวมของภาพยนตร์ที่เข้าฉายในสัปดาห์แรก บริษัท ก่อตั้งในปี 2537 โดยนายวิชา พูลวรลักษณ์ ซึ่งปัจจุบันถือหุ้นในสัดส่วน 37% บริษัทดำเนินธุรกิจหลัก 5 ประเภท ได้แก่ โรงภาพยนตร์ โบว์ลิ่งและคาราโอเกะ สื่อและโฆษณา การให้เช่าพื้นที่และบริการ รวมถึงการจัดจำหน่ายวิดีโอซีดี/ดีวีดีและลิขสิทธิ์ภาพยนตร์

ณ สิ้นเดือนกันยายน 2554 MAJOR ดำเนินกิจการโรงภาพยนตร์ 51 แห่ง ด้วยจำนวนจอภาพยนตร์ทั้งสิ้น 373 จอ และที่นั่งมากกว่า 90,000 ที่ โดยมีโรงภาพยนตร์ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล 27 แห่งและในต่างจังหวัด 24 แห่ง บริษัทมีสาขาโบว์ลิ่งและคาราโอเกะจำนวน 26 แห่ง ซึ่งประกอบด้วยโบว์ลิ่ง 480 ราง และห้องคาราโอเกะ 309 ห้อง นอกจากนี้ บริษัท ยังบริหารจัดการพื้นที่ให้เช่าขนาด 52,517 ตารางเมตร (ตร.ม.) ด้วย สำหรับในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียงนั้น บริษัทขยายโรงภาพยนตร์ไปยังแหล่งศูนย์กลางธุรกิจและชุมชนสำคัญหลายแห่งโดยใช้ตราสัญลักษณ์หลากหลายเพื่อดึงดูดลูกค้าหลาย ๆ กลุ่ม

ทริสเรทติ้งกล่าวว่า ผลประกอบการของ MAJOR ได้รับแรงหนุนบางส่วนจากการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับตัวแทนผู้จัดจำหน่ายภาพยนตร์ โดยรายได้จากการเข้าชมภาพยนตร์ขึ้นอยู่กับจำนวนภาพยนตร์ที่เข้าฉาย รวมถึงคุณภาพและความเป็นที่นิยมของภาพยนตร์ด้วย ทั้งนี้ ตามที่กล่าวข้างต้น บริษัทเผชิญกับปัจจัยที่เป็นผลกระทบด้านลบที่ไม่สามารถควบคุมได้หลายประการที่อาจลดทอนความต้องการชมภาพยนตร์นอกบ้าน อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีกิจกรรมสันทนาการใดที่สามารถทดแทนประสบการณ์จากการชมภาพยนตร์ในโรงได้อย่างสมบูรณ์

แม้จะเกิดปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 MAJOR ยังมีรายได้รวมถึง 6,021 ล้านบาทในปี 2553 เพิ่มขึ้น 8.3% จากปีที่ผ่านมา แม้ว่ารายได้จากการขายบัตรเข้าชมภาพยนตร์จะอยู่ในระดับทรงตัวในปี 2553 แต่รายได้จากธุรกิจโฆษณากลับฟื้นตัวขึ้นอย่างมากในปีดังกล่าวหลังจากได้รับผลกระทบอย่างหนักในปี 2552

นอกจากนี้ รายได้ของบริษัทยังเพิ่มขึ้นในส่วนของรายได้ค่าเช่าล่วงหน้าจากพื้นที่เช่าแห่งใหม่และรายได้จากธุรกิจผลิตภาพยนตร์ซึ่งเป็นธุรกิจใหม่ด้วย สำหรับช่วง 9 เดือนแรกของปี 2554 บริษัทมีรายได้รวมเพิ่มขึ้นถึง 17% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา คิดเป็น 5,332 ล้านบาท อันเป็นผลมาจากการมีภาพยนตร์ที่ใช้งบลงทุนสูงเข้าฉายหลายเรื่องและรายได้จากธุรกิจโฆษณาที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม คาดว่าผลประกอบการจะอ่อนตัวลงเนื่องจากโรงภาพยนตร์ของบริษัทจำนวน 14 สาขาได้รับผลกระทบจากอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปลายปี 2554 และการลงโฆษณาบางส่วนต้องเลื่อนออกไป ทั้งนี้ ธุรกิจโรงภาพยนตร์แสดงให้เห็นถึงความยืดหยุ่นแม้จะเกิดปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองและเศรษฐกิจที่ชะลอตัวเนื่องจากรายได้จากภาพยนตร์ขึ้นอยู่กับความเป็นที่นิยมของภาพยนตร์เป็นสำคัญ

นอกจากนี้ บริษัทยังสามารถจัดตารางการฉายภาพยนตร์เพื่อให้ได้รับรายได้ที่ดีที่สุดด้วย การชมภาพยนตร์ในโรงเป็นความบันเทิงในรูปแบบที่มีราคาไม่แพงและสามารถเข้าถึงได้ง่ายโดยเฉพาะเมื่อมีโรงภาพยนตร์ครอบคลุมทั่วประเทศ บริษัทมีรายได้จากธุรกิจภาพยนตร์คิดเป็นสัดส่วนประมาณครึ่งหนึ่งของรายได้ทั้งหมดและกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย อย่างไรก็ตาม ธุรกิจอื่น ๆ ของบริษัทจัดว่ามีความอ่อนไหวตามภาวะเศรษฐกิจ เช่น ธุรกิจโฆษณาซึ่งรายได้ลดลง 38% ในปี 2552 แต่เพิ่มขึ้น 29% ในปี 2553

MAJOR มีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จากการขายเพิ่มขึ้นจาก 26% ในปี 2552 เป็น 29% ในปี 2553 และ 30% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2554 เนื่องจากรายได้ค่าโฆษณาซึ่งมีอัตราส่วนกำไรที่สูงนั้นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีการนำภาพยนตร์ที่ใช้งบลงทุนสูงมาฉายหลายเรื่อง หนี้สินรวมของบริษัทปรับตัวลดลงแต่ก็ยังถือว่าอยู่ในระดับสูง โดยที่หนี้สินรวมของบริษัทลดลงจาก 3,543 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2553 สู่ระดับ 3,108 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2554 เนื่องจากมีการจ่ายคืนหนี้เงินกู้ ทริสเรทติ้งคาดว่างบลงทุนของบริษัทจะอยู่ระหว่าง 800-1,000 ล้านบาท

อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทลดลงจาก 60.8% ในปี 2552 สู่ระดับ 58.3% ในปี 2553 และอยู่ที่ระดับ 52.6% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2554 สภาพคล่องของบริษัทอยู่ในระดับที่น่าพอใจ โดยเงินทุนจากการดำเนินงานคงอยู่ในระดับที่เกินกว่า 1,000 ล้านบาทต่อปีมาตั้งแต่ปี 2548 และปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 1,198 ล้านบาทในปี 2553 และ 972 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2554 อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมปรับตัวดีขึ้นจาก 14.7% ในปี 2552 เป็น 18.1% ในปี 2553 และ 16.8% (ยังไม่ได้ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปี) ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2554 อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายก็ปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 2.9 เท่าในปี 2552 เป็น 4.0 เท่าในปี 2553 และอยู่ที่ระดับ 4.6 เท่าในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2554


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ