นายปิยุช กุปต้า กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทาทา สตีล(ประเทศไทย)(TSTH)กล่าวว่า ตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่เมื่อ 1 ก.พ.55 ที่ผ่านมา ได้ปรับกลยุทธ์ของบริษัทเพื่อจะพลิกฟื้นผลประกอบการของบริษัทเป็นภารกิจเร่งด่วน โดยตั้งเป้าหมายที่จะเห็นบริษัทพลิกกลับมามีกำไรภายในงวดปี 56/57 หรือใน 2 ปีข้างหน้า
สำหรับผลประกอบการในช่วงที่ผ่านมาไตรมาส 4 งวดปี 54/55 (ม.ค.-มี.ค.55) คาดว่าจะขาดทุนลดลงจากไตรมาส 3 งวดปี 54/55 (ต.ค.-ธ.ค.54)ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมทำให้ยอดขายลดลง และมีผลขาดทุน 943 ล้านบาท เนื่องจากความต้องการตลาดในประเทศฟื้นตัวดีขึ้น
ขณะที่งวดทั้งปี 54/55(เม.ย.54-มี.ค.55) รายได้ต่ำกว่าปีก่อน ปริมาณการผลิตประมาณ 1 ล้านตัน ลดลงจากปีก่อนที่มีรายได้ 2.6 หมื่นล้านบาท และมีปริมาณผลิต 1.2 ล้านตัน โดยในช่วง 9 เดือนของปี 54/55 บริษัทรายงานมีรายได้ 1.9 หมื่นล้านบาท และมีผลขาดทุน 1,340 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี คาดว่าในงวดปี 55/56(เม.ย.55- มี.ค.56) บริษัทจะมียอดขายเติบโตตามปริมาณการผลิตที่เติบโต 10% จากการเติบโตของตลาดในประเทศตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ และนโยบายรัฐบาลที่เร่งสร้างสาธารณูปโภคหรือเมกะโปรเจ็คต์ คาดว่าความต้องการในประเทศปี 55 อยู่ที่ 5 ล้านตัน เพิ่มจากปี 54 ที่อยู่ 4.7 ล้านตัน
นายปิยุช กล่าวว่า จากนี้ไปบริษัทจะมุ่งเน้นผลิตและจำหน่ายสินค้ามูลค่าเพิ่ม โดยเฉพาะเหล็กลวดเกรดพิเศษ (Special wire rods) ปรับเพิ่มสัดส่วนเป็น 40% ในปี 56/57 จากปัจจุบันมีสัดส่วน 25% ของปริมาณการผลิต รวมทั้งจะเพิ่มสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มด้วย ได้แก่ เหล็กเส้นกลมเกรดพิเศษ(Special Bar) เหล็กลวดคาร์บอนต่ำ(Low carbon wire rods) ซึ่งสินค้าเหล่านี้จะมีราคาขายสูงขึ้น และมีคู่แข่งขันในประเทศน้อย แต่ต้องแข่งขันกับสินค้านำเข้าจากจีน
ขณะที่สินค้าหลักของบริษัท คือ เหล็กทรงยาว หรือ เหล็กเส้น(Rebar) มีสัดส่วนกว่า 50% ของปริมาณการผลิต ให้ลดลงในสัดส่วนกว่า 40% ในช่วง 2 ปีนี้ แต่จะไม่ลดกำลังการผลิตที่ประมาณ 5-6 แสนตัน/ปี เพราะต้องการรักษาส่วนแบ่งการตลาด 25% เป็นอันดับหนึ่งของตลาดรวมที่มีปริมาณ 2.4 ล้านตันในปี 54 และจะรักษาความเป็นผู้นำตลาดเหล็กลวดเกรดพิเศษด้วย ปัจจุบันมีส่วนแบ่งการตลาด 40% ของการผลิตรวม 6.5 แสนตันในปี 54
"ภารกิจตอนนี้จะทำอย่างไรให้บริษัทอยู่รอด เรา focus ที่ turnaround plan...กลยุทธ์ของเราจะปรับสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น (product mix)จะทำให้มาร์จิ้นเราเพิ่มขึ้น เราพยายามปรับปรุงกระบวนการผลิตในโรงงานให้ต้นทุนลดลง และ maintain leadership ใน 2 ตลาด คือ Rebar กับ Special wire rods" นายปิยุช กล่าว
ดังนั้น งวดปี 55/56 บริษัทจะใช้เงินลงทุน 90 ล้านบาทในการปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเพื่อให้ผลิตสินค้ามูลค่าเพิ่มได้มากขึ้น ส่วนเฟสที่สองบริษัทอยู่ระหว่างศึกษา
นอกจากนี้ บริษัทยังเน้นสินค้าคุณภาพ โดยเฉพาะเหล็กเส้นที่บริษัทเป็นผู้นำตลาด บริษัทเปลี่ยนแบรด์เป็น"ทาทา ทิสคอน"ซึ่งใช้ในตลาดทั่วโลกใน ส.ค.54 จากเดิมใช้ "บสล."ขณะเดียวกันบริษัทพยายามเรียกร้องให้ทางการเข้มงวดการนำเข้าเหล็กลวดเกรดพิเศษจากจีนที่ใช้ช่องทางไม่ต้องเสียภาษี โดยให้กระทรวงพาณิชย์ใช้กฎหมายโต้ตอบการทุ่มตลาด (AD) เช่นเดียวกับกรณีเหล็กแผ่นรีดร้อน
ส่วนโครงการเตาถลุง Mini Blast Furnace (MBF) ที่บริษัทได้หยุดการผลิตชั่วคราวนั้นหลังจากที่ต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้น ขณะนี้ได้ติดตามความเคลื่อนไหวราคาน้ำเหล็กที่เป็นวัตถุดิบก่อนจึงจะตัดสินว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป
TSTH มีกำลังการผลิตรวม 1.7 ล้านตัน/ปี จาก 3 โรงงานของบริษัทย่อย 3 แห่ง ได้แก่ บมจ.เอ็น.ที.เอส.สตีลกรุ๊ป (NTS) ซึ่งผลิตเหล็กเส้นเหล็กลวด กำลังการผลิต 8 แสนตัน/ปี , บริษัท เหล็กสยาม (2001) (SISC) ถือหุ้น 99.99% ผลิตเหล็กลวด 2.3 แสนตัน/ปีและเหล็กรูปพรรณ 1.7 แสนตัน/ปี และ บริษัท เหล็กก่อสร้างสยาม จำกัด (SCSC) ถือหุ้น 99.99% ผลิตเหล็กเส้น 5 แสนตัน/ปี