กรมพัฒนาธุรกิจฯ เล็งทบทวนโครงสร้างบอร์ด IRPC หลังสหภาพฯ ร้องเรียน

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday February 16, 2012 17:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าในฐานะนายทะเบียน เตรียมทบทวนการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างกรรมการและกรรมการผู้มีอำนาจ บมจ.ไออาร์พีซี(IRPC) หลังกลุ่มสหภาพแรงงานยื่นหนังสือร้องเรียนให้ตรวจสอบความถูกต้อง เนื่องจากผู้ถือหุ้นใหญ่ 99.99% มีสัดส่วนกรรมการในบอร์ดน้อยกว่าผู้ถือหุ้นเพียง 0.01%

นายบรรยงค์ ลิ้มประยูรวงศ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าในฐานะนายทะเบียน กล่าวว่า การเพิกถอนการจดทะเบียนของบมจ. ไออาร์พีซี และ 5 บริษัทย่อย เป็นการปฏิบัติตามอำนาจที่ตามกฎหมาย ไม่ได้ใช้ดุลพินิจในการรับจดหรือเปลี่ยนแปลงใดๆ

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เกิดความชัดเจน กรมฯจะพิจารณาอีกครั้งว่าการดำเนินการเพิกถอนการจดทะเบียนที่ผ่านมาถูกต้องหรือไม่ และจะให้คำตอบได้ภายในวันที่ 17 ก.พ.นี้ ส่วนกรณีที่กลุ่มเลี่ยวไพรัตน์จะเรียกประชุมคณะกรรมการบริษัทในวันที่ 17 ก.พ.นี้ ไม่สามารถให้ความเห็นอะไรได้ และเห็นว่า ตามหลักของกฎหมาย ใครที่ถือหุ้นมากถึง 99.99% น่าจะทำอะไรได้มากกว่านี้

"ในฐานะนายทะเบียน เราต้องปฏิบัติตามกฎหมาย และคำสั่งศาล การที่ผู้คัดค้านจะมาอ้างว่าคำพิพากษายังไม่ถึงที่สุด เพราะได้ยื่นฎีกาไปแล้ว ไม่ถือว่ามีเหตุผลให้บรรเทา เว้นแต่จะมีคำสั่งศาลเป็นอย่างอื่น หรือศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ซึ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบก็ต้องไปยื่น ส่วนกรณีที่นายทะเบียนดำเนินการไปแล้ว หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่เห็นด้วย ก็ต้องไปฟ้องต่อศาลปกครองกลาง และศาลปกครองสูงสุด เพื่อเพิกถอนคำสั่งได้" นายบรรยงค์ กล่าว

วันนี้ เมื่อเวลาประมาณ 11.00 น. สหภาพแรงงานและพนักงานบริษัทในเครือไออาร์พีซี 7 แห่ง ได้แก่ 1.บริษัท ไทย เอบีเอส จำกัด 2. บริษัท น้ำมัน ไออาร์พีซี จำกัด 3. บริษัท ไออาร์พีซี โพลีออล จำกัด 4. บริษัท ไออาร์พีซี พลังงาน จำกัด และ 5. บริษัท อุตสาหกรรม โพลียูรีเทนไทย จำกัด จำนวน 500-600 คน เดินทางยื่นหนังสือคัดค้านกรณีนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครได้ออกคำสั่งเปลี่ยนแปลงกรรมการบริษัทโดยมิชอบ

นายจักรวาล เพิ่มญาณวรรธนะ รองประธานสหภาพผู้บริหารไทยเอบีเอส ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ กล่าวว่า ได้มายื่นขอความเป็นธรรมต่อ รมว.พาณิชย์ กรณีที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้แก้ไขรายชื่อกรรมการและผู้มีอำนาจทำการแทนบริษัท เพราะเห็นว่านายทะเบียนไม่สามารถทำได้ตามอำเภอใจได้ อีกทั้งทำให้กลุ่มผู้ถือหุ้นส่วนน้อย 0.01% จากฝั่งของนายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ มีตัวแทนกรรมการมากกว่าผู้ถือหุ้นใหญ่ 99.99% จากฝั่งของกระทรวงการคลัง

สำหรับหลักการเพิกถอนการจดทะเบียนของบริษัท ไออาร์พีซีนั้น เป็นการเพิกถอนตามคำสั่งศาล ที่เห็นว่าการประชุมผู้ถือหุ้นและการเปลี่ยนแปลงกรรมการไม่ถูกต้อง ซึ่งเมื่อกรรมการในไออาร์พีซีไม่ถูกต้อง ทำให้กรรมการคนเดียวกันที่ไปนั่งอยู่ใน 5 บริษัทลูก ก็ต้องไม่ถูกต้อง และนายทะเบียนต้องเพิกถอนตามกฎหมายด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ