นายบรรยงค์ ลิ้มประยูรวงศ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีสหภาพแรงงานและพนักงานบริษัทในเครือ บมจ.ไออาร์พีซี(IRPC) รวม 7 แห่งได้ยื่นหนังสือคัดค้านกรณีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ออกคำสั่งเปลี่ยนแปลงกรรมการบริษัทโดยมิชอบ และส่งผลให้กรรมการข้างมากของ IRPC อยู่ในฝ่ายของผู้ถือหุ้นข้างน้อย หรือฝ่ายนายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ว่า กรมฯ ได้พิจารณาคำขอการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการและอำนาจกรรมการของ 5 บริษัทในเครือ IRPC ทั้งหมด 8 คำขอ ซึ่งเป็นคำขอที่ฝ่ายผู้ถือหุ้นใหญ่ หรือกระทรวงการคลังยื่นให้พิจารณาตั้งแต่เดือน พ.ย.-ธ.ค.54 โดยกรมฯ พิจารณาและรับจดทะเบียนแก้ไขใหม่แล้วเมื่อวันที่ 17 ก.พ.ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ จากการรับจดทะเบียนแก้ไขใหม่ครั้งนี้ส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงอำนาจกรรมการใน 3 บริษัท จาก 5 บริษัท ได้แก่ บริษัท น้ำมัน ไออาร์พีซี และบริษัท ไออาร์พีซี โพลีออล โดยกำหนดให้กรรมการ 2 คน ใน 5 คน เป็นผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญของบริษัท ส่วนบริษัท ไทย เอบีเอส เป็นคำขอให้กรรมการ 2 คนใน 4 คนมีอำนาจลงรายมือชื่อร่วมกันและประตราสำคัญของบริษัท ซึ่งหากพิจารณาจากรายชื่อกรรมการและอำนาจกรรมการที่เปลี่ยนแปลงใหม่แล้ว พบว่าอำนาจบริหารจัดการได้อยู่ในมือของฝ่ายผู้ถือหุ้นใหญ่แล้ว
ส่วนอีก 2 บริษัท คือ บริษัท ไออาร์พีซี พลังงาน และบริษัท อุตสาหกรรม โพลียูรีเทนไทย กรมฯ ได้พิจาณาคำขอให้แล้วพบว่า เป็นการแจ้งกรรมการลาออกเท่านั้น จึงไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงกรรมการและอำนาจกรรมการ โดยอำนาจกรรมการยังเป็นไปตามการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างตามคำสั่งศาลล้มละลายกลางเหมือนเดิม
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงอำนาจกรรมการครั้งนี้ ยืนยันว่าไม่ได้เกิดจากแรงกดดันจากการชุมนุมของสหภาพพนักงาน แต่เป็นการยื่นเรื่องตั้งแต่ปลายปีก่อน ซึ่งกรมต้องใช้ระยะเวลาในการพิจาณา และประจวบเหมาะกับช่วงเวลาที่เกิดการเคลื่อนไหวของผู้ชุมนุมพอดี
"เหตุการณ์นี้ต้องแบ่งเป็น 2 แบบ คือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างกรรมการตามมติศาลล้มละลายกลาง ที่เห็นว่าการประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัท ไออาร์พีซี เมื่อปี 49 และปี 52 ผิดจริง เพราะไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของกฎหมาย จึงทำให้กรมต้องเพิกถอนกรรมการและอำนาจกรรมการ ที่ไออาร์พีซีมาจดทะเบียนตามมติที่ประชุมปี 49 และ 52 และการพิจารณาคำขอใหม่ที่ยื่นเรื่องค้างมา ซึ่งกรมก็ดำเนินไปตามขั้นตอนทุกอย่าง" นายบรรยงค์ กล่าว