นายประณต สุริยะ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า ในการประชุมครม.สัญจรที่จังหวัดอุดรธานีวันพรุ่งนี้ กระทรวงคมนาคมเตรียมเสนอโครงการก่อสร้างรถไฟสายใหม่ ช่วงบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม ระยะทาง 336 กม. วงเงินประมาณ 41,363 ล้านบาท ซึ่งโครงการนี้จะอยู่บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง และช่วยให้โครงข่ายรถไฟครอบคลุมพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมาขึ้นจากเดิมที่มีเส้นทางรถไฟเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนใต้ ช่วงนครราชสีมา-อุบลราชธานี และตอนบน ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนได้เสนอกระทรวงคมนาคมจัดทำเส้นทางรถไฟสายใหม่เชื่อมโยงการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารในพื้นที่ภาคอีสานตอนกลาง การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) จึงได้ศึกษาความเหมาะสมแนวเส้นทางในหลายรูปแบบ และสรุปว่าแนวเส้นทางบ้านไผ่-นครพนม มีความเหมาะสมมากที่สุด เพราะมีระยะทางสั้น และมีความคุ้มค่าทางด้านปริมาณขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร รวมทั้งผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2560
อย่างไรก็ตาม ประเมินว่าเมื่อโครงการรถไฟบ้านไผ่-นครพนม แล้วเสร็จและเปิดให้บริการในปี 2560 จะมีประชาชนมาใช้บริการประมาณ 5.4 ล้านคนต่อปี และจะเพิ่มขึ้นเป็น 7.4 ล้านคนต่อปีภายในปี 2579 สำหรับปริมาณการขนส่งสินค้าคาดว่าในปี 2560 จะมีปริมาณสินค้าที่ใช้เส้นทางประมาณ 255,000 ตันต่อปี และเพิ่มขึ้นเป็น 346,000 ตันต่อปี และหากพิจารณาผลประโยชน์ที่เกิดจากผู้โดยสารและสินค้าที่มาใช้รถไฟเส้นทางนี้ในระยะ 20 ปี จะทำให้ประหยัดต้นทุนในด้านการขนส่ง และลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากมลพิษเนื่องจากการใช้รถยนต์ได้ถึง 56,500 ล้านบาท หรือเฉลี่ยประมาณปีละ 2,800 ล้านบาท